จากกรณีเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2567 เวลา 21.30 น. ทำนบดินที่ใช้ในการก่อสร้างประตูระบายน้ำท่าถั่ว ใกล้ปากคลองประเวศบุรีรมย์ ม.3 ต.บางกรูด อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา ของกรมชลประทาน เกิดรอยรั่วและพังทลายลง ทำให้มวลน้ำในแม่น้ำบางปะกง ซึ่งมีค่าความเค็มในช่วง 20.83 – 26.40 กรัม/ลิตร ไหลทะลักเข้าสู่คลองประเวศบุรีรมย์อย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ฝายที่กักเก็บน้ำไว้บริเวณปากคลองลัดยายหรั่ง มีน้ำเค็มท่วมสูงและพังทลายลงในวันที่ 10 เมษายน 2567 ทำให้มวลน้ำเค็มจำนวนมากทะลักลงสู่คลองลัดยายหรั่ง ออกสู่คลองหนามแดง-บางพระ คลองพระองค์ไชยานุชิต กระจายตัวไปยังพื้นที่ตำบลบางกะไห ตำบลบางเตย ตำบลโสธร ตำบลบางพระ ตำบลเกาะไร่ ตำบลคลองเปรง และตำบลคลองประเวศ

ชาวบ้านหลายพันหลังคาเรือนได้รับผลกระทบ สัตว์น้ำในคลองสาขาเริ่มลอยตาย น้ำเค็มทำให้ผักตบชวาในคลองต่างๆ เริ่มเน่าเสีย ส่งกลิ่นเหม็นคละคลุ้ง ทั้งปลาเน่าและกลิ่นเน่าของผักตบชวา หนำซ้ำสถานีสูบน้ำประปาหมู่บ้าน จำนวน 8 สถานีสูบน้ำ ไม่สามารถสูบน้ำเพื่อผลิตน้ำประปาให้ชาวบ้านได้ สร้างความเดือดร้อนเป็นวงกว้าง นอกจากนี้ น้ำเค็มที่ไหลทะลักลงคลองพระองค์ไชยานุชิต ที่เชื่อมต่อกับอำเภอบางบ่อ สมุทรปราการ ทำให้พื้นที่การเกษตรกว่า 3 แสนไร่ ได้รับผลกระทบ ชาวบ้านจังหวัดสมุทรปราการได้รับผลกระทบจากมวลน้ำเค็มก้อนนี้

ต่อมาวานนี้ (17 เม.ย. 2567) ที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลบางเตย อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา นายกิตติ เป้าเปี่ยมทรัพย์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดฉะเชิงเทรา ได้ลงพื้นที่เพื่อช่วยแก้ไขปัญหา เชิญนายก อบต.ทั้ง 8 ตำบล กำนันผู้ใหญ่บ้าน ชาวบ้านและผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงตัวแทนจากกรมชลประทาน ร่วมพูดคุยเจรจาหาทางออกในเรื่องนี้

นายกิตติ เปิดเผยว่า องค์การบริหารส่วนจังหวัดฉะเชิงเทรา ได้เข้าแก้ไขปัญหาดังกล่าว เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2567 โดยนำพนักงานพร้อมเครื่องจักรกลเข้าดำเนินการซ่อมทำนบกันดิน เพื่อปิดกั้นน้ำเค็มที่จะทะลักเข้าสู่บริเวณคลองลัดยายหรั่งอย่างเร่งด่วนทันที และดำเนินการแล้วเสร็จในวันที่ 12 เมษายน 2567 แต่มวลน้ำเค็มที่ไหลทะลักในคลองเข้ามาแล้ว เกิดผลกระทบกับประชาชนเป็นวงกว้าง ในพื้นที่ดังกล่าว พบว่ามีค่าความเค็มอยู่ที่ 17.9 กรัม/ลิตร และมีพื้นที่ตำบลคลองเปรง น้ำเค็มได้เข้าคลองขวาง ที่ต่อกับคลองประเวศบุรีรมย์ เข้าสู่พื้นที่ตำบลคลองเปรง ตำบลหนามแดงบางส่วน โดยการดำเนินโดยเร่งด่วน ทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดฉะเชิงเทรา ได้ส่งรถน้ำเข้าไปช่วยเหลือในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบใน 8 ตำบล ที่ไม่มีน้ำประปาใช้

นอกจากนี้ จะใช้น้ำหมักจุลินทรีย์ใส่รถน้ำฉีดพ่น เพื่อแก้ปัญหาน้ำเน่าเสีย ตามแต่จุดที่มีการร้องขอ จะดำเนินการจัดทำแผนฟื้นฟูพัฒนาแหล่งน้ำ ผลักดันน้ำเค็มออกจากพื้นที่คลองหนามแดง-บางพระ โดยใช้น้ำจืดจากคลองนครเนื่องเขตเข้าทางวัดต้นตาล ผลักดันน้ำเค็มที่ยังคงนอนคลองให้มีความเจือจาง และเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็วที่สุด และจะทำการสูบน้ำเค็มออกทางทดลัดยายหรั่ง กลับเข้าคลองประเวศบุรีรมย์ ในวันพรุ่งนี้ พร้อมประสานกรมชลประทานให้เร่งปล่อยน้ำจืดมาช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบเป็นการเร่งด่วน

นายวรา กลัดเนียม หัวหน้าฝ่ายจัดสรรน้ำและปรับปรุงระบบชลประทาน โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพระองค์ไชยานุชิต เปิดเผยว่า โครงการก่อสร้างประตุระบายน้ำท่าถั่วใหม่ ต้องใช้เวลาในการก่อสร้างถึง 2 ปี ซึ่งขณะเกิดเหตุน้ำทะเลได้หนุนสูง กัดเซาะทำนบที่สร้างขึ้นมาพัง น้ำเค็มจำนวนมากจึงไหลลงคลองประเวศบุรีรมย์ ซึ่งผู้รับเหมาและกรมชลประทานได้นำถุงบิ๊กแบ็ก และเหล็กชีตไพล์มาทำแนวเขื่อนใหม่ทั้งหมด แต่ปริมาณน้ำเค็มที่ไหลทะลักออกสู่คลองประเวศบุรีรมย์มีจำนวนมาก ที่ผ่านมา เวลาน้ำลงจะเปิดบานประตูน้ำ เพื่อให้น้ำเค็มไหลกลับมา เวลาน้ำขึ้นก็จะใช้เครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่สูบออก แต่ทางกรมชลไม่กล้าจะสูบน้ำจนแห้งขอดคลอง เนื่องจากกลัวปัญหาดินจะสไลด์ อุ้มน้ำไม่อยู่ จนตลิ่งของชาวบ้านพัง

ขณะนี้ ได้ประสานขอแหล่งน้ำดิบขนาดใหญ่จากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จังหวัดลพบุรี โดยจะปล่อยปริมาณน้ำความเร็ว 20 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ให้ช่วยผันน้ำจืดลงมาช่วยแก้ไขปัญหา ณ ตรงจุดนี้ ซึ่งมวลน้ำจากเขื่อนป่าสักฯ ต้องไหลผ่านมาทางคลองบริเวณพระราม 6 ไหลสู่คลองระพีพัฒน์ ลงมาคลองแสนแสบ ก่อนผ่านบึงฝรั่ง จนไหลมาถึงคลองพระองค์ไชยานุชิต จะต้องใช้เวลาอย่างน้อยถึง 4 วัน โดยจะต้องใช้น้ำจืดมากถึง 34 ล้านลูกบาศก์เมตร ในการผลักดันน้ำเค็มและเติมน้ำเข้าคลองให้เข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งคาดว่าต้องใช้เวลาประมาณ 15 วัน ในการแก้ไขปัญหานี้.