Thai-BISPA DAY 2022จัดกิจกรรมการเสวนา “การพัฒนากลไกขับเคลื่อนมาตรการสนับสนุนทุนสำหรับภาคเอกชนเพื่อพัฒนาผลงานวิจัยและนวัตกรรมตามความต้องการของภาครัฐหรืออุปสงค์ของตลาด (TBIR/TTTR)”
วันที่ 21 กันยายน 2565 เวลา 13.30 – 14.30 น. ณ โรงแรมสวิสโฮเต็ล กรุงเทพฯ ถนนรัชดาภิเษก สมาคม Thai-BISPA ได้จัดกิจกรรมการเสวนา ในหัวข้อ “การพัฒนากลไกขับเคลื่อนมาตรการสนับสนุนทุนสำหรับภาคเอกชนเพื่อพัฒนาผลงานวิจัยและนวัตกรรมตามความต้องการของภาครัฐหรืออุปสงค์ของตลาด (TBIR/TTTR)” ขึ้นภายในงานสัมมนาประจำปี Thai-BISPA Day 2022เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์มาตรการสนับสนุนทุน TBIR/TTTR ให้กับผู้เข้าร่วม อันประกอบด้วยหน่วยงานบริหารจัดการทุน หน่วยงานภาครัฐ องค์กรภาคเอกชน หน่วยบ่มเพาะธุรกิจ อุทยานวิทยาศาสตร์ และหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมผู้ประกอบการนวัตกรรม อีกทั้งยังเป็นการแสดงความยินดีแก่ผู้ประกอบการนวัตกรรมที่ได้รับการคัดเลือกในโครงการนำร่องทุนอีกด้วย
ปัจจุบัน ภาครัฐมีมาตรการสนับสนุนและช่วยเหลือผู้ประกอบการ หรือนักวิจัย นักนวัตกร นักเทคโนโลยีที่ทำวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรม รวมทั้งมาตรการในการสร้างธุรกิจใหม่ หรือขยายกิจการเดิมเพื่อปรับตัวให้อยู่รอดตามกระแสการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและการแข่งขันที่สูงขึ้นพอสมควร ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่เอื้อประโยชน์ให้มีการลงทุนทำวิจัย พัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรมมากขึ้น และส่งผลต่อการขับเคลื่อนประเทศไทยให้หลุดพ้นจากกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศรายได้สูง รวมทั้งยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยต่อไป
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกับสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สอวช.) ออกมาตรการสนับสนุนทุนสำหรับภาคเอกชนเพื่อพัฒนาผลงานวิจัยและนวัตกรรม ตามความต้องการของภาครัฐหรืออุปสงค์ของตลาด (TBIR: Thailand Business Innovation Research / TTTR: Thailand Technology Transfer Research) ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากการขับเคลื่อน พระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2564
โดยแนวคิดนี้เป็นแนวทางที่ประสบความสำเร็จในประเทศสหรัฐอเมริกามาประยุกต์กับบริบทของระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของไทย เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการกระตุ้นให้เกิดผลงานวิจัยและนวัตกรรม โดยมีหลักการคือ เป็นกลไกการให้ทุนวิจัยและนวัตกรรมตรงไปยังภาคเอกชนที่มีศักยภาพในการทำวิจัยและนวัตกรรม มุ่งเน้นที่กลุ่มผู้ประกอบการนวัตกรรมเอกชนขนาดกลางที่มีความพร้อมเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการพัฒนาผู้ประกอบการนวัตกรรม (Innovation driven enterprise)
ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา สกสว. ร่วมกับหน่วยบริหารจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ได้ทดลองประกาศให้ทุนตามมาตรการ TBIR/TTTR ในลักษณะโครงการนำร่อง (Pilot Project) และได้มอบหมายให้สมาคมหน่วยบ่มเพาะธุรกิจและอุทยานวิทยาศาสตร์ไทย (Thai-BISPA) เข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบกระบวนการ คัดเลือกโจทย์จากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนพร้อมกับสรรหาผู้ประกอบการ่มีศักยภาพเพื่อวางแนวทางในการขยายผลการให้ทุนตามมาตรการ TBIR/TTTR ไปยังทุกหน่วยบริหารจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรรมอื่น ๆ ในประเทศต่อไปอนาคต