ปภ. เตือน 23 จว.เหนือ-อีสาน-กลาง-กทม. เฝ้าระวังน้ำหลาก น้ำท่วมขัง น้ำล้นตลิ่ง 11 – 17 ส.ค.นี้ สั่งเจ้าหน้าที่ เตรียมพร้อมช่วยเหลือ รับมือสถานการณ์

เมื่อวันที่ 11 ส.ค. กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) ติดตามข้อมูลสถานการณ์น้ำ โดยกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ประเมินสถานการณ์น้ำจากฝนคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา และ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) พบว่าจะมีปริมาณฝนตกสะสมต่อเนื่อง ประกอบกับสถานการณ์น้ำในลำน้ำและแหล่งน้ำธรรมชาติบางพื้นที่ที่ฝนตกหนักอยู่ในเกณฑ์น้ำมาก อาจส่งผลให้เกิดน้ำหลากและน้ำท่วมฉับพลัน รวมทั้งมีบางพื้นที่มีน้ำท่วมขังอยู่เดิมอาจมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยมีพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์ระหว่างวันที่ 11 – 17 ส.ค.แยกเป็น

1.พื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำหลากและน้ำท่วมขัง ภาคเหนือ 7 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน (อ.เมืองแม่ฮ่องสอน ปาย แม่สะเรียง แม่ลาน้อย ขุนยวม ปางมะผ้า สบเมย) เชียงใหม่ (อ.แม่แตง เวียงแหง) เชียงราย (อ.เวียงแก่น ขุนตาล เทิง ดอยหลวง เชียงของ) พะเยา (อ.เชียงคำ ปง) น่าน (อ.เฉลิมพระเกียรติ เชียงกลาง ท่าวังผา ทุ่งช้าง บ่อเกลือ ปัว สองแคว) พิษณุโลก (อ.นครไทย) และตาก (อ.อุ้มผาง)

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 5 จังหวัด ได้แก่ เลย (อ.ด่านซ้าย วังสะพุง) หนองคาย (อ.รัตนวาปี) บึงกาฬ (อ.เมืองบึงกาฬ บึงโขงหลง โซ่พิสัย เซกา ปากคาด) นครพนม (อ.เมืองนครพนม ท่าอุเทน โพนสวรรค์ บ้านแพง ศรีสงคราม) และ ศรีสะเกษ (อ.เมืองศรีสะเกษ ยางชุมน้อย ราษีไศล)

ภาคกลาง 5 จังหวัด ได้แก่ นครนายก (อ.เมืองนครนายก บ้านนา ปากพลี องครักษ์) ปราจีนบุรี (อ.เมืองปราจีนบุรี กบินทร์บุรี ประจันตคาม ศรีมหาโพธิ บ้านสร้าง นาดี) ระยอง (อ.แกลง) จันทบุรี (อ.เมืองจันทบุรี นายายอาม แก่งหางแมว ขลุง เขาคิชฌกูฏ โป่งน้ำร้อน มะขาม แหลมสิงห์ ท่าใหม่ สอยดาว) และ ตราด (อ.เกาะช้าง เกาะกูด แหลมงอบ เขาสมิง)

2.พื้นที่เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่ง บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขาของแม่น้ำกก แม่น้ำวัง แม่น้ำยม แม่น้ำน่าน แม่น้ำแควน้อย แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำเลย แม่น้ำชี แม่น้ำมูล แม่น้ำบางปะกง และแม่น้ำตราด

3.พื้นที่เฝ้าระวังแหล่งน้ำขนาดใหญ่และอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาตรน้ำสูงกว่าเกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำกักเก็บสูงสุด (Upper Rule Curve) 9 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำแม่งัดสมบูรณ์ชล จ.เชียงใหม่ อ่างเก็บน้ำกิ่วลมและกิ่วคอหมา จ.ลำปาง บึงบอระเพ็ด จ.นครสวรรค์ อ่างเก็บน้ำป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี อ่างเก็บน้ำน้ำพุง จ.สกลนคร อ่างเก็บน้ำอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น อ่างเก็บน้ำบางพระ จ.ชลบุรี และอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล จ.ระยอง รวมทั้งอ่างเก็บน้ำขนาดกลางมีปริมาตรน้ำมากกว่าร้อยละ 80 และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เสี่ยงน้ำล้นกระทบพื้นที่บริเวณท้ายอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศ 4.พื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำล้นตลิ่ง ได้แก่ กรุงเทพฯ

กอปภ.ก ได้ประสานแจ้งจังหวัดในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และกรุงเทพฯ รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัยให้เฝ้าระวัง และเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยในช่วงดังกล่าว โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศและปริมาณน้ำอย่างต่อเนื่อง และแจ้งเตือนประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยทราบล่วงหน้า

โดยเฉพาะพื้นที่ที่อาจได้รับผลกระทบจากปริมาณฝนสะสมที่อาจส่งผลให้เกิดอุทกภัยได้ พร้อมทั้งจัดชุดเผชิญสถานการณ์วิกฤต (ERT) รถปฏิบัติการและเครื่องจักรกลสาธารณภัยให้พร้อมเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันที สำหรับสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ โดยเฉพาะถ้ำ น้ำตก ถ้ำลอด หากฝนตกหนักมีความเสี่ยงที่จะเกิดภัย ให้มีประกาศแจ้งเตือนและปิดกั้นพื้นที่ห้ามบุคคลใดเข้าพื้นที่ พร้อมทั้งจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงภัยดังกล่าวตลอด 24 ชั่วโมง

ในส่วนของพื้นที่กรุงเทพมหานคร ประสานให้ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนเฝ้าระวังและติดตามผลกระทบบริเวณพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งอาจทำให้เกิดสถานการณ์น้ำล้นตลิ่ง โดยเฉพาะพื้นที่นอกแนวคันกั้นน้ำ

สำหรับประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัย ขอให้ติดตามข่าวสาร สภาพอากาศ และสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด และปฏิบัติตามคำแนะนำของหน่วยงานราชการอย่างเคร่งครัด เพื่อลดผลกระทบจากสาธารณภัยที่อาจเกิดขึ้น ท้ายนี้ ประชาชนสามารถติดตามประกาศการแจ้งเตือนภัยที่แอrพลิเคชัน “THAI DISASTER ALERT” และหากได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยสามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM รวมถึงสายด่วนนิรภัย1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป