ชัยภูมิ : เปิดนวัตกรรมถนน “ยางพาราดินซีเมนต์” แห่งแรกในชัยภูมิ ที่บ้านสะพานยาว หมู่ที่ 5 ตำบลโป่งนก อำเภอเทพสถิต เพื่อเป็นการส่งเสริมสนับสนุนให้มีการใช้ยางพาราในประเทศตามแผนยุทธศาสตร์การบริหารการจัดการยางพาราของประเทศทั้งระบบ

นายไกลสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ ประธานในการเปิดถนนยางพาราดินซีเมนต์ แห่งแรกในจังหวัดชัยภูมิ ที่บ้านสะพานยาว หมู่ที่ 5 ตำบลโป่งนก อำเภอเทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ โดยมีทางด้านนายวีระชัยศรีสาร ผู้อำนวยการการยางแห่งประเทศไทย เขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการสำนักงานเกษตรจังหวัดชัยภูมิ หน่วยงานในพื้นที่ และกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางตำบลโป่งนก ให้การต้อนรับ

จากโครงการถนนยางพาราดินซีเมนต์ภายใต้โครงการส่งเสริมและพัฒนาการใช้ยางพาราในประเทศประจำปีงบประมาณ 2565 ได้ดำเนินโครงการส่งเสริมและพัฒนาการใช้ยางพาราในประเทศ โดยบูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่างๆในพื้นที่ดำเนินการคัดเลือกสถาบันเกษตรกรให้ดำเนินการตามโครงการดังกล่าว ซึ่งกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางบ้านสะพานยาวเป็นสถาบันเกษตรกรของจังหวัดชัยภูมิ ที่ได้รับคัดเลือกให้ได้รับเงินสนับสนุน จากการยางแห่งประเทศไทยจำนวน 1 โครงการคือ โครงการทำถนนยางพาราดินซีเมนต์ ขนาดความกว้าง 5 เมตรยาว 600 เมตร หนา 0.15 เมตร ผู้รับจ้าง บริษัท ศ.คลังโยธา เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ดำเนินการก่อสร้างถนนสายบ้านสะพานยาว – กลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางสะพานยาว ตำบลโป่งนก อำเภอเทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ งบประมาณทั้งสิ้น 800,000 บาท

เพื่อเป็นการส่งเสริมสนับสนุนให้มีการใช้ยางพาราในประเทศตามแผนยุทธศาสตร์การบริหารการจัดการยางพาราของประเทศทั้งระบบ มีส่วนสำคัญในการผลักดันการใช้ยางพาราในท้องถิ่นเพื่อให้มีการใช้น้ำยางพาราเป็นส่วนผสมในการก่อสร้างถนนซึ่งจะเป็นการเพิ่มปริมาณการใช้น้ำยางในพื้นที่โดยตรงและจะมีส่วนสำคัญในการผลักดันและช่วยพยุงราคายางในสถานการณ์ปัจจุบัน

ทางด้าน ผศ.ดร.ศตคุณ เดชพันธ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน จังหวัดนครราชสีมา ได้กล่าวถึงการทำถนนยางพาราดินซีเมนต์ไว้ว่า จากการคิดค้นทดลองมีประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ ในเรื่องของวิศวกรรมการก่อสร้างที่มีการนำน้ำยางพารามาเป็นส่วนผสมในการทำถนน เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้นที่เข้ามามีส่วนร่วมที่จะช่วยผลักดันพัฒนาช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง เพราะการก่อสร้างด้านวิศวกรรมยังส่งผลไปถึงผลิตผลทางการเกษตร ในอีกหลายๆด้านเพราะไม่ใช่แค่เพียงน้ำยางพาราเท่านั้น ที่สามารถนำมาทำถนนได้ แต่ยังรวมไปถึงการที่จังหวัดชัยภูมิ มีโรงงานน้ำตาลถึง 2 โรงงาน

การนำชานอ้อยที่เหลือจากการผลิตน้ำตาล ก็สามารถนำมาใช้ในการก่อสร้างถนนได้ รวมไปถึงพืชผลทางการเกษตรเช่นข้าวและ มันสำปะหลัง หากเศรษฐกิจทุกวันนี้ราคาพืชผลทางการเกษตรไม่ดีเท่าที่ควร อีกทางเลือกหนึ่งคือการนำ ผลิตผลทางการเกษตรเข้าสู่ระบบการก่อสร้างด้านวิศวกรรมเช่นนี้ ก็ยังเป็นการช่วยเกษตรกรได้ดีอีกทางหนึ่ง ถนนยางพาราดินซีเมนต์ที่ก่อสร้างในวันนี้ ถือเป็นถนนเส้นแรกแห่งจังหวัดชัยภูมิ

หากมองเผินๆหลายคนอาจดูเหมือนถนนดินลูกรังธรรมดาที่ทำการบดอัด ซึ่งความแตกต่าง และความคงทนจะมีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง เพราะกระบวนการก่อสร้าง ที่ผ่านการคิดค้นเทคโนโลยีด้านวิศวกรรมบ่งชี้ให้เห็นชัดเจนว่า คุณสมบัติดังกล่าวคือการ “ เปลี่ยนดินให้เป็นหิน “ จึงมั่นใจในความแข็งแรงและคงทน ที่มีการทดสอบมาแล้วนานหลายปี จากหลายพื้นที่ในประเทศไทย

มัฆวาน วรรณกุล ผู้สื่อข่าวภูมิภาค