“คนจนไม่ใช่อุปสรรคหรือปัญหาของเมือง​ แต่ว่าเป็นฟังก์ชันหนึ่งที่สำคัญของเมือง ซึ่งมันคือหัวใจสำคัญที่ขับเคลื่อนเมือง ที่ต้องหาทางหยุดความเหลื่อมล้ำ ไม่ให้เกิดความเคยชิน หากต้องการสร้างเมืองที่น่าอยู่เป็นกรุงเทพฯที่น่าอยู่สำหรับทุกคน เราต้องไม่ลืมดูแลคนจนเมืองด้วย”

ภายในงานเสวนา “เปิดประตูสู่ความเหลื่อมล้ำ” ซึ่งจัดโดยไทยพีบีเอส(Thai PBS)ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(สกสว.) เมื่อวันที่ 8 ก.ค.65 ณ ห้องมิตรทาวน์ ฮอลล์ 2 อาคารสามย่านมิตรทาวน์ ชั้น 5 ฝั่งเหนือ เขตปทุมวัน โดยได้พูดถึงคนจนเมืองซึ่งมีมิตินอกเหนือจากเวทีเสวนาดังนี้

ผศ.ดร.บุญเลิศ วิเศษปรีชา คณะสังคมวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คือนักวิชาการที่คลุกคลีเกี่ยวกับประเด็นคนจนในหลากหลายมิติ โดยใช้วิธีนำตัวเองเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของคนเหล่านั้นเพื่อหาข้อมูลและทำวิจัย ที่ได้รับการตีพิมพ์เป็นหนังสือคือ โลกของคนไร้บ้าน ซึ่งเป็นผลงานชิ้นหนึ่งที่ทำให้ชื่อของ อาจารย์บุญเลิศ เป็นที่รู้จักในแวดวงนักเขียน นักอ่าน นักวิชาการมากขึ้นในเวลาต่อมา จนได้รับการกล่าวขานจากผู้ที่ศึกษางานของเขาว่า เป็นกระบอกเสียงให้กับ “คนจนเมือง” หรือคนที่เสียเปรียบทางสังคมแห่งความเหลื่อมล้ำ โดยได้เปิดเผยเกี่ยวกับคนจนเมืองกับไว้อย่างน่าสนใจ

คนจนเมืองในทุกวันนี้คือใคร โดยทั่วไปคนมักนึกถึงคนจนเมืองในความหมายของผู้มีรายได้น้อยต่ำกว่าเกณฑ์ และคนที่มีคุณภาพชีวิตที่ไม่ดีในเมือง เรามองมิติความยากจนมากกว่าเรื่องเศรษฐกิจ แต่เขามีคุณภาพชีวิตที่ไม่ดี บางคนเขาไม่ได้ยากจนเชิงเศรษฐกิจแต่เขามีคุณภาพชีวิตที่ไม่ดีในแง่ที่ว่าเขาต้องอยู่ในสภาพที่อยู่อาศัยที่ไม่เหมาะสมกับการอยู่อาศัย แต่เขาอยู่ได้ไม่ทุกข์ทรมาน เขาอยู่เพราะว่าเป็นที่อยู่อาศัยที่สัมพันธ์กับแหล่งงาน เขาจึงเลือกอยู่ในที่อยู่อาศัยซึ่งแม้คุณภาพไม่ดีนัก แต่มันราคาถูกแล้วอยู่ใกล้แหล่งงาน

บทบทของคนจนเมืองวันนี้ ตนขอใช้คำใหม่ว่า “คนแบกเมือง” เพราะว่าพวกเขาเป็นแรงงานที่มีส่วนในการเจริญเติบโตของเมือง มีประโยคที่พูดกันมานานแล้วว่า ‘เมืองจะเจริญไม่ได้ถ้าปราศจากคนจน’ เพราะเมืองไม่ได้โตได้ด้วยทุนอย่างเดียวแต่ต้องมีคนทำงาน และงานหลายส่วนมีแต่กลุ่มคนจนที่ทำ เช่น ภาคบริการ รปภ. แม่บ้าน พวกเขามีรายได้รายวันที่ไม่สูงเลย

และอีกกลุ่ม คือ แรงงานในภาคที่ไม่เป็นทางการที่เรารู้จัก คือ แม่ค้าหาบเร่ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง คนเหล่านี้ทำให้เมืองเดินได้ คุณลองให้แม่บ้านหยุดงานสักวันสิ ส้วมแตก คุณอยู่ไม่ได้นะ คือพวกเขาทำงานที่มีฟังก์ชั่นของเมือง แต่เรามักจะมองไม่เห็นเขา ผมเลยใช้คำว่า ‘คนแบกเมือง’ ความหมายคือเขาแบกภาระ แต่เราไม่รู้ว่าเขาแบกอยู่ เขาอยู่ข้างล่างเรามักจะมองไม่เห็นเขา

และกลุ่มสุดท้าย คือกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่ทำงาน 3 อย่างคือ งานอันตราย งานลำบาก งานสกปรก งานที่เราเห็นขุดท่อขุดถนนทำไมเอานักโทษมาทำ งานบางอย่างแรงงานไทยไม่ทำแล้ว ก็ต้องใช้แรงงานต่างชาติ นี่คือกลุ่มหนึ่งที่เขาทำงานแล้วเรามักจะนึกไม่ถึง เราขาดเขาไม่ได้ด้วยซ้ำ

ผศ.ดร.บุญเลิศ กล่าวอีกว่า คนจนจะยิ่งมากขึ้น คนที่ไม่เคยจนจะใช้ชีวิตลำบากขึ้น เช่น นักศึกษาที่จบใหม่ ได้เงินเดือน 15,000 – 18,000 บาทต่อเดือน เพราะเป็นเด็กจบใหม่หากกรอกเงินเดือน 20,000 บาทก็ไม่มีใครเรียกสัมภาษณ์ ก็จำเป็นต้องกรอก 15,000 บาท แต่เงินเท่านี้มันอยู่ไม่ได้ ทั้งค่าเช่าหอ ค่าเดินทาง ถามว่ามันซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำยังไง สถานการณ์แบบนี้มันไม่ใช่แค่คนจนจริงๆ ที่เดือดร้อนเท่านั้น คนที่สูงขึ้นมาหน่อยก็เดือดร้อนด้วย ได้รับผลกระทบเดือดร้อนมากขึ้นด้วย เพราะเดี๋ยวนี้คนในชุมชนเขาต้องหาให้ได้มากกว่า 15,000 บาทต่อเดือน เพราะค่าครองชีพของเมืองแพงขึ้น

อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญคือ เราต้องเปลี่ยนความคิดใหม่ การส่งเสริมให้คนเป็นเจ้าของและกักตุนไม่ถูก ต้องเปลี่ยนวิธีคิดบ้างว่า คุณมีที่อยู่อาศัยแบบเช่าราคาถูก ทำให้คนเข้าถึงได้ง่าย แทนที่จะส่งเสริมให้คนไปซื้อ กระตุ้นกำลังซื้ออย่างเดียว แต่ไม่คำนึงว่าคนที่ได้ประโยชน์คือคนชั้นล่างรึเปล่า ส่วนท่าทีของ กทม.ชุดใหม่ซึ่งมีท่าทีที่ดีอันนี้ผมว่าเป็นจุดที่สำคัญทีเดียว

ด้านนายศานนท์​ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯกทม.กล่าวว่า​ คนจนไม่ใช่อุปสรรคหรือปัญหาของเมือง​ แต่ว่าเป็นฟังก์ชันหนึ่งที่สำคัญของเมือง ซึ่งมันคือหัวใจสำคัญที่ขับเคลื่อนเมืองที่เราต้องเริ่มที่บรรทัดฐานนี้ก่อน การลดต้นทุนให้กับคนจนรวมถึงคนทั้งเมือง​เป็นนโยบายหนึ่งของกทม.ที่จะลดต้นทุนโดยแบ่งเป็นหลายส่วน อาทิ​ กทม.มีโรงรับจำนำในสังกัดการดูแลที่มีดอกเบี้ยค่อนข้างต่ำมากก็เป็นช่องทางหนึ่งที่เราจะสามารถช่วยคนเมืองได้ เรื่องการจัดพื้นที่สร้างสรรค์ พื้นที่ทำกินต่างๆ ซึ่งเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ว่าพื้นที่สาธารณะต่างๆจะเป็นพื้นที่สำหรับการทำมาหากินของคนเมืองได้​และเกี่ยวข้องกับเรื่องของนโยบายประเทศแข็งแรง แต่ยังติดปัญหากับเงื่อนไขของด้านการจัดระเบียบฯ​ การจำกัดสิทธิ์ต่างๆ​ ซึ่งกทม.เชื่อว่าทุกอย่างกำลังจะดีขึ้น เพราะกทม.จะส่งเสริมเรื่องของการหาสถานที่สำหรับทำกินให้มากขึ้นทำให้เศรษฐกิจต่างๆดีขึ้น​

หน้าที่ของรัฐบาลและกทม.คือหาวิธีดูแลลดความเหลื่อมล้ำ​ เช่น​ เรื่องลดต้นทุนการเดินทาง เพราะคนจนเมืองอาจไม่สามารถเข้าถึงรถไฟฟ้า BTS เพราะราคา​ แม้เราจะมีกี่สีกี่สายเขาก็ไม่ได้ขึ้นเพราะต้นทุนเรื่องราคา ซึ่งกทม.ก็กำลังดำเนินการแก้ไข นอกจากนี้กทม.ยังดำเนินการเรื่องเรือสัญจรในคลองของกรุงเทพฯอีกด้วย​ แต่ปัญหาอุปสรรคก็คือกทม.ไม่สามารถดำเนินการเองได้ทุกอย่างแต่จะต้องทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานอย่างเข้มข้นกับองค์กร​ หน่วยงานต่าง​ ๆ​ เพื่อแก้ปัญหาและลดต้นทุนในการดำรงชีวิตให้คนจนเมือง​ คนกลุ่มเปราะบาง​ คนไร้บ้าน​ คนด้อยโอกาส​ และคนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียมอีกด้วย

“อยากสร้างเมืองที่น่าอยู่เป็นกรุงเทพฯที่น่าอยู่สำหรับทุกคน คำว่าทุกคนส่วนใหญ่จะลืมคนจนเมือง ซึ่งเราจะทำต้องให้ความสำคัญส่งเสริมองค์ประกอบหลายอย่างด้วยกัน​ ประกอบด้วย​ บ้าน​ งานหรือที่ทำกิน​ โรงเรียน​ ​และการเดินทาง​ กทม.ต้องดำเนินการหาวิธีว่าทำอย่างไรที่จะทำให้เมืองมีต้นทุนต่างๆให้ถูกลงและสร้างโอกาสให้คนได้มากขึ้น​ เช่น​ ความสัมพันธ์ระหว่างบ้านกับงานจะเห็นได้ว่า คนจนเมืองจะประกอบอาชีพใกล้บ้านที่พักอาศัย เขาจะเลือกงานที่อยู่ใกล้บ้าน​ นั่นเป็นโจทย์ว่ากทม.จะทำให้งานอยู่ใกล้ๆและการเดินทางถูก​ เป็นการลดต้นทุนรายจ่าย หรือหากว่างานอยู่ไกลบ้านแต่เราทำให้การเดินทางฟรีและสะดวกก็เป็นอีกมิติหนึ่งเช่นกัน” รองผู้ว่าฯกทม.กล่าว