เชียงใหม่-ฝนที่ตกหนักต่อเนื่องหลายวันส่งผลให้กำแพงเมืองประตูช้างเผือกพังถล่มลงมา เป็นกำแพงชั้นนอกที่สร้างครอบกำแพงชั้นในไว้ในคราวบูรณะใหญ่เมื่อปี 2500 มีอายุกว่า 60 ปี ส่วนชาวบ้านยังเชื่อเรื่องลางบอกเหตุร้าย เรื่องไม่ดีจะเกิดกับบ้านเมือง
เมื่อวันที่ 25 ก.ย. 65 เวลา 08.30 น. เจ้าหน้าที่จากกรมศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ เทศบาลนครเชียงใหม่ ลงพื้นที่เข้าตรวจสอบบริเวณประตูช้างเผือก ตำบลช้างเผือก อำเภอเมือเชียงใหม่ ที่พังถล่มลงมาเป็นแนวยาว 30 เมตร เป็นแนวกำแพงชั้นนอกที่สร้างขึ้นเพื่อครอบกำแพงเดิมชั้นใน จากการตรวจสอบพบว่า หลังจากที่ฝนตกหนักหลายวันทำให้ดินอุ้มนำสะสมเกิดการพังทลายของกำแพงจากด้านบนลงมาชั้นล่าง
นายเทอดศักดิ์ เย็นจุระ ผู้อำนวยกลุ่มอนุรักษ์โบราณสถานสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ เปิดเผยว่า ประตูช้างเผือกบริเวณนี้ได้ก่อสร้างเมื่อประมาณปี 2500 เป็นการก่อสร้างบูรณะใหม่เพื่อคลุมกำแพงชั้นในเดิม ลักษณะของความเสียหายเพราะมีฝนตกหนักในปริมาณมากมีส่วนทำให้น้ำซึมเข้าไปในแกนในของกำแพง ซึ่งในส่วนของกำแพงด้านในไม่ได้รับความเสียหาย เป็นการก่ออิฐมาครอบไว้เฉยๆ ไม่มีการเกาะยึด เมื่อเกิดการอิ่มตัวของภายในทำให้เกิดการดันด้านข้างนอกทำให้พังถล่ม ซึ่งกำแพงนี้ก่อสร้างมาประมาณ 60 ปีแล้ว การซ่อมบำรุงยังไม่มีการซ่อมบำรุงใหญ่ ดังนั้นเมื่อมีภัยธรรมชาติทำให้กำแพงพังลงมา ซึ่งอันดับต่อไปเราจะมีการตรวจสอบโครงสร้างทุกประตูร่วมกับเทศบาลนครเชียงใหม่
ด้านนายอัศนีย์ บูรณุปกรณ์ นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ กล่าวว่า ในส่วนของเทศบาลนครเชียงใหม่จะปิดกั้นบริเวณพื้นที่ไว้ก่อนเพื่อความปลอดภัยกับประชาชนและนักท่องเที่ยว จากนั้นจะปรึกษากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบและดูแลกันอย่างไรเพื่อทำให้กำแพงเมืองทุกส่วนเพื่อเกิดความปลอดภัยและแข็งแรงมากขึ้น
ขณะที่ นายทวี เตจ๊ะนันท์ อายุ 53 ปี อาชีพขับรถสองแถว ได้จอดใกล้จุดเกิดเหตุ เล่าว่า เมื่อประมาณ 06.00 น. ฝนตกหนักตนได้ยินเสียงดังสนั่นเหมือนกับฟ้าผ่า จึงหันไปพบกำแพงถล่มลงเศษอิฐเศษดินปลิวว่อนอย่างน่ากลัว เดชะบุญไม่มาโดนรถตนที่จอดไว้ ซึ่งเหตุที่เกิดขึ้นเป็นเพราะกำแพงเก่า และน่าจะเป็นลางบอกเหตุว่าจะเกิดเรื่องไม่ดีขึ้นกับเมืองเชียงใหม่ น่ากลัวมาก
สำหรับ ประตูช้างเผือก ถือเป็นประตูเดชของเมืองเชียงใหม่ ในสมัยก่อนการจะออกรบจะต้องใช้ประตูช้างเผือกเท่านั้นในการเข้าออกเพื่อเสริมบารมีและเดช ประตูช้างเผือกเดิมมีชื่อว่า ประตูหัวเวียง เป็นประตูชั้นในด้านทิศเหนือ เปลี่ยนชื่อในรัชสมัยของพระเจ้ากาวิละ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 1 เนื่องจากได้ทรงโปรดให้สร้างอนุสาวรีย์รูปช้างเผือกขึ้น ประตูเมืองทั้ง 5 ประตูของเมืองเชียงใหม่ จะเห็นว่าประตูช้างเผือกจะมีขนาดกว้างมากที่สุด เหตุผลหนึ่งที่สำคัญก็คือ สมัยเดิมจนถึงปัจจุบันนี้เจ้าเมืองเชียงใหม่จะใช้ประตูนี้ในพิธีสำคัญ เช่น การเดินทางเข้า-ออกจากเมืองเชียงใหม่ไปที่ต่างๆ การเข้ารับตำแหน่งเป็นเจ้าหลวงเมืองเชียงใหม่ หรือผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่จะมาบวงสรวงประตูนี้ก่อนเข้าตัวเมืองเชียงใหม่.
นอกจากนี้ ที่เวียงกุมภาม ต.หนองหอย อ เมืองเชียงใหม่ หลังฝนตกหนักในตอนเช้า ปรากฏว่า ได้เกิดน้ำท่วมขังสถานโบราณ ของเวียงกุมกาม เป็นจุดๆ ทั้งที่บริเวณ วัดช้างค้ำ จุดพบเวียงกุมกาม น้ำท่วมขังโบราณสถาน บริเวณวัดธาตุขาว น้ำท่วมรอบพระพุทธรูปประธานขนาดใหญ่และเจดีย์
เจ้าหน้าที่ได้ เปิดเผยว่า น้ำท่วมขังสถานโบราณเวียงกุมกาม นั้นมีหลายจุดเนื่องจากสถานโบราณ นั้นจะเป็นพื้นที่ลุ่ม ทำให้เกิดน้ำท่วมขัง ทางเทศบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะได้ประสานเครื่องสูบน้ำมาดูดน้ำต่อไป ต้องรีบดำเนินการ เพราะจะทำให้สถานโบราณนั้นเกิดความเสียหาย หากให้น้ำท่วมขังเนิ่นนาน
สำหรับเวียงกุมกาม นั้น พ่อขุนเม็งราย เป็นผู้สร้างขึ้น ก่อนที่จะย้ายจากเวียงกุมกามมาเชียงใหม่เนื่องจากถูกน้ำท่วม จมน้ำ และปี 53-54 เวียงกุมกามแห่งนี้เคยถูกน้ำท่วมหนักมาแล้วด้วย ถือว่าเป็นดินแดนอาถรรพ์ แห่งหนึ่งของเมืองเชียงใหม่ด้วย