ก้าวสู่ความเป็นเลิศด้วย Cluster The Ideal Cluster Excellence Framework สสว. สร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบการ ส่งเสริมและสนับสนุน MSME เพื่อกระตุ้นและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยวันที่ 12 กันยายน 2565 ณ Auditorium ทรู ดิจิทัล พาร์ค สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ร่วมกับ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ได้จัดงานแถลงความสำเร็จ คลัสเตอร์ธุรกิจอาหารสำเร็จรูป และ คลัสเตอร์สมุนไพรเพื่อสุขภาพ กัญชา – กัญชง ภายใต้โครงการพัฒนาและยกระดับคลัสเตอร์ต้นแบบสู่ความเป็นเลิศ ปีงบประมาณ 2565 เพื่อตอกย้ำความสำเร็จที่เกิดขึ้นจากการรวมกลุ่มกัน ระหว่างเครือข่ายธุรกิจ สมาคมการค้า สถาบันการศึกษาและศูนย์วิจัยพัฒนา ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกัน จนทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 230 ล้านบาท นับเป็นการเพิ่มผลิตภาพโดยรวมของทุกธุรกิจที่อยู่ในคลัสเตอร์ อันจะนำไปสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยได้อย่างยั่งยืน
นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวว่า “สสว. เป็นหน่วยงานหลักในการส่งเสริมและสนับสนุน MSME ในด้านต่าง ๆ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการรวมกลุ่มของผู้ประกอบการ SME ต่อการกระตุ้นและขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ จึงได้นำเอาแนวคิดในการสนับสนุนและพัฒนาคลัสเตอร์มาเป็นเครื่องมือในการดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการเฉพาะกลุ่ม ซึ่งมีความต้องการความช่วยเหลือที่แตกต่างกัน ให้เกิดการเชื่อมโยงกันตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ ไปสู่ปลายน้ำ โดยเน้นการนำเทคโนโลยี และนวัตกรรมเข้ามาเป็นปรับใช้ในการพัฒนากลุ่มผู้ประกอบการ ให้เกิดการใช้ประโยชน์ได้อย่างสูงสุดของทรัพยากร และยกระดับไปสู่การเป็นคลัสเตอร์ต้นแบบ เพื่อนำไปขยายให้เป็นวงกว้าง ครอบคลุมผู้ประกอบการที่มีส่วนได้ส่วนเสียตลอด Supply Chain
ซึ่งจะเป็นการวางแผนร่วมกัน และส่งผลให้ผู้ประกอบการภายใต้คลัสเตอร์เกิดความเข้มแข็ง สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ ในปีงบประมาณ 2565 เราได้ดำเนินโครงการพัฒนาและยกระดับคลัสเตอร์ต้นแบบสู่ความเป็นเลิศ โดยได้พัฒนา 2 คลัสเตอร์สำคัญที่ส่งผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและเป็นที่ต้องการของตลาด นั่นก็คือ คลัสเตอร์ธุรกิจอาหารแปรรูป และคลัสเตอร์สมุนไพรเพื่อสุขภาพ กัญชา – กัญชง สำหรับอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปมีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งประเทศไทยมีวัตถุดิบที่ดี มีสูตรอาหารที่อร่อย มีความพร้อมในการผลิต เราสามารถพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสในการรับมือกับสถานการณ์ความมั่นคงด้านอาหารโลก ส่วน คลัสเตอร์สมุนไพรเพื่อสุขภาพ กัญชา – กัญชง นั้น กัญชา – กัญชงเป็นพืชที่มีศักยภาพสูง สามารถนำสารสกัด และองค์ประกอบต่าง ๆ มาใช้ในทางการแพทย์ และ และประโยชน์ในด้าน อื่น ๆ อีกมากมาย เห็นได้จากงานวิจัยจำนวนมากในปัจจุบัน กัญชา – กัญชง จึงนับว่าเป็นพืชเศรษฐกิจของอนาคตที่เราต้องเร่งให้การสนับสนุน”ผศ.ดร. สามารถ ดีพิจารณ์ กล่าวว่า “คลัสเตอร์ธุรกิจอาหารสำเร็จรูป และคลัสเตอร์สมุนไพรเพื่อสุขภาพ กัญชา – กัญชง นั้น ทาง สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ได้มีโอกาสดำเนินงานภายใต้โครงการของ สสว. ในการสนับสนุน เชื่อมโยงเครือข่าย ธุรกิจอาหารแปรรูปจากหลากหลายจังหวัดของไทย ได้แก่ จังหวัดแพร่ น่าน ลำปาง นครปฐม และกรุงเทพฯ เพื่อเข้ามาแลกเปลี่ยนความคิด ตั้งแต่กระบวนการต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ตั้งแต่ธุรกิจภาคการเกษตร ไปสู่การแปรรูป พัฒนาเป็นอาหารพร้อมทาน ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อยกระดับคุณภาพสินค้า สู่การส่งออกได้ และในด้าน คลัสเตอร์ธุรกิจกัญชา – กัญชง ก็ได้มีการรวมกลุ่ม สร้างเครือข่าย ในจังหวัดพิษณุโลก เชียงใหม่ นครราชสีมา และกรุงเทพฯ โดยภายในกลุ่มได้มีการแบ่งปันความรู้สำหรับการปลูกกัญชาทางการแพทย์
ตั้งแต่กระบวนการปลูก การสกัด เทคโนโลยี และข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการสามารถต่อยอด และผลักดันผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการของตลาดต่อไป และในวันนี้ ผู้ประกอบการ SMEs ก็ได้สามารถพัฒนาขีดความสามารถในการผลิตสินค้า ที่มีคุณภาพ เข้าไปแข่งขันในตลาดโลก ด้วยการร่วมมือ เกื้อหนุน เชื่อมโยง อย่างครบวงจร ตลอดจนได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ โดยสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ สสว. เกิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจ 230,723,115 บาท โดยแบ่งออกเป็น คลัสเตอร์ธุรกิจอาหารแปรรูป 81,690,510 บาท และคลัสเตอร์สมุนไพรเพื่อสุขภาพ กัญชา – กัญชง 149,032,605 บาท”
อย่างไรก็ตาม คลัสเตอร์ธุรกิจอาหารสำเร็จรูป และคลัสเตอร์สมุนไพรเพื่อสุขภาพ กัญชา – กัญชง จะยังคงดำเนินการต่อไปอย่างต่อเนื่อง เพื่อขับเคลื่อนเครือข่ายให้เติบโตเป็นคลัสเตอร์ขนาดใหญ่มีความยั่งยืน และมีบทบาทสำคัญ ในระบบเศรษฐกิจของประเทศต่อไป