“คิงส์ เฟาน์เทร่น” เจ้าของอาหารเสริม QCAN ประกาศแตกหักพันธมิตร จ่อฟ้องเลียนแบบเครื่องหมายการค้าและละเมิดอนุสิทธิบัตรกระบวนการผลิต “QCAN PLUS CBD” กับผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย และผู้นำสินค้าเลียนแบบไปขายต่อ

จากกรณีที่ บริษัท คิงส์ เฟาน์เทร่น จำกัด บริษัทฯ ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ภายใต้ แบรนด์ QCAN และเป็นเจ้าของผลิตผลิตภัณฑ์ QCAN Plus CBD แต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2565 ประกาศดำเนินคดีกับขบวนการลอกเลียนแบบสินค้า QCAN Plus CBD โดยได้ออกสินค้าและจำหน่ายพร้อมทั้งโฆษณาประชาสัมพันธ์หลอกลวงให้ผู้บริโภคหลงเข้าใจผิดว่า QCAN Plus CBD ได้เปลี่ยนชื่อเป็น C CAN Plus CBD ผลของการกระทำดังกล่าว บริษัทฯ และผลิตภัณฑ์ QCAN ได้รับความเสียหายเป็นอย่างมาก

นางสาวมิรา นิลยกุณช์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท คิงส์ เฟาน์เทร่น จำกัด

ในเรื่องนี้นางสาวมิรา นิลยกุณช์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท คิงส์ เฟาน์เทร่น จำกัด เปิดเผยว่า Qcan plus CBD เป็นของบริษัทคิงส์ เฟาน์เทร่น จำกัด โดยมีการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์คิวแคน ตั้งแต่ปี 2565 และในปีนี้ 2567 ได้ถูกแอบอ้างว่า Qcan plus CBD เปลี่ยนชื่อเป็น Ccan plus CBD โดยกระจายข่าวสารเรื่องนี้ผ่านทางสื่อโซเชียลว่า Qcan plus CBD และได้เปลี่ยนผู้จัดจำหน่ายใหม่และเปลี่ยนชื่อเป็นชื่อ Ccan plus CBD

ทั้งนี้ทางบริษัทฯขอชี้แจงว่า ทางเราไม่เคยเปลี่ยนแปลงชื่อผลิตภัณฑ์ที่จัดจำหน่ายในประเทศไทยมาก่อน ตามที่มีการไปแอบอ้าง จงใจให้หลงเชื่อ เข้าใจผิด ซึ่งหากนำไปบริโภคอาจเกิดปัญหากับสุขภาพ จากความเสียหายที่เกิดขึ้น ทางบริษัทได้แต่งตั้งทนายเพื่อดำเนินคดีกับกลุ่มคนเหล่านี้แล้ว

ทางด้านนายธเนศ ทิดอร่าม ในฐานะทนายความผู้รับมอบหมายจากบริษัท คิงเฟาน์เทร่น จำกัดให้ดำเนินคดีกับขบวนการผู้หลอกลวงดังกล่าว ได้เปิดเผยถึงข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ว่า ตามที่ บริษัท คิงส์ เฟาน์เทร่น จำกัด ได้ทำสัญญาว่าจ้าง บริษัท เอฟแอนด์ บีเฮาส์ จำกัด ให้เป็นบริษัทผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ QCAN Plus CBD และดำเนินขอเลข อย. มีการทำสัญญาระหว่างโรงงานผู้ผลิต กับคณะกรรมการชุดเก่าของบริษัทฯ พร้อมกับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าโดยใช้ชื่อ ผลิตภัณฑ์ QCAN

ต่อมาทางบริษัทฯ ได้ตรวจสอบเอกสารภายใน พบว่าคณะกรรมการชุดเก่ามีการฉ้อโกงเงินบริษัทเป็นมูลค่ากว่า 10 ล้านบาท ซึ่งทางคณะกรรมการชุดเก่าได้ทำหนังสือยอมรับความผิดไว้ด้วยแล้ว และในช่วงเดือนธันวาคม 2566 (ในปีเดียวกัน) ทางบริษัทได้ตรวจสอบพบว่ามีสินค้าออกใหม่มาวางตลาด เป็นผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเหมือนกัน มี CBD เหมือนกัน โดยใช้ชื่อผลิตภัณฑ์ C CAN PLUS CBD ซึ่งเมื่อพิจารณาภาพรวมแล้ว มีเจตนาลอกเลียนแบบเครื่องหมายการค้า อีกทั้งมีการไปโฆษณา ประชาสัมพันธ์ว่า QCAN PLUS CBD ได้เปลี่ยนปรับสูตรใหม่ เปลี่ยนภาพลักษณ์ใหม่ ใน ชื่อใหม่คือ C CAN PLUS CBD และได้มีการใช้เลข อย.เดียวกัน

ทั้งนี้ ในสัญญาว่าจ้างผลิตมีข้อระบุเงื่อนไขไว้เกี่ยวกับการเก็บความลับทางการค้า โดยคณะกรรมการชุดเก่า ในขณะนั้น ได้ทำข้อตกลงกับโรงงานโดยมีเงื่อนไขว่า การเก็บรักษาความลับทางการค้ามีระยะเวลา 1 ปี ซึ่งสัญญาดังกล่าวครบ 1 ปี ในวันที่ 1 พ.ย. 2566 เมื่อถึงเดือนธันวาคม 2566 โรงงานผู้ผลิตได้ออกผลิตภัณฑ์ให้ อีกทั้งยังนำเลข อย. และส่วนประกอบไปผลิตให้เจ้าใหม่ ซึ่งมีเจตนาลอกเลียนแบบสินค้าอย่างชัดเจน โดยใช้ชื่อเสียงของคิวแคนอ้างไปเป็นของตน เพื่อให้คนอื่นเข้าใจผิดว่าเป็นสินค้ามาจากบริษัทเดียวกัน และมีความเกี่ยวโยงกัน

“จากการกระทำดังกล่าว เข้าข่ายการเลียนแบบเครื่องหมายการค้า และละเมิดอนุสิทธิบัตรกระบวนการผลิต ที่บริษัทได้ดำเนินการจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ขณะนี้ทางเราอยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลพยาน หลักฐาน เพื่อจะดำเนินคดีกับผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย และผู้นำสินค้าเลียนแบบไปจำหน่ายต่อ” นายธเนศกล่าว