องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. โดยสำนักงานพื้นที่พิเศษ 8 จัดกิจกรรมพัฒนาศักยภาพรูปแบบการท่องเที่ยวโดยชุมชนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตอบสนองตลาดมูลค่าสูง บนฐานการพัฒนาโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy Model) โดยนำแกนนำ 4 ชุมชน เขตพัฒนาการท่องเที่ยวฝั่งทะเลตะวันตก (Thailand Riviera) ประกอบด้วย ชุมชนบ้านถ้ำเสือ ต.แก่งกระจาน อ.แก่งกระจาน และ ชุมชนบ้านกลางพัฒนา ต.ท่าแร้ง อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี ชุมชนบ้านม้าร้อง ต.พงศ์ประศาสน์ และชุมชนบ้านทางสาย ต.ธงชัย อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ศึกษาดูงานที่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเครือข่ายรวมใจตามรอยพ่อชุมชนป่าเด็ง ต.ป่าเด็ง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี
ซึ่งเป็นชุมชนต้นแบบในการพึ่งพาตนเองได้ครบทุกมิติ ทั้งด้านพลังงาน ความมั่นคงทางอาหาร และการจัดการสิ่งแวดล้อม จนได้รับรางวัลมากมายทั้งระดับประเทศ และ รางวัลชนะเลิศระดับอาเซียน รางวัล ASEAN Energy Awards 2017 โดยมี นายโกศล แสงทอง รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลป่าเด็ง นายมนัส ทิมเมฆ ประธานเครือข่ายกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเครือข่ายรวมใจตามรอยพ่อ และนางสาวจุฑารัตน์ ดอนไผ่ศรี เหรัญญิกเครือข่ายกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเครือข่ายรวมใจตามรอยพ่อ เป็นวิทยากรให้ความรู้ทั้งทฤษฎีและลงมือทดลองทำเพื่อให้เกิดความเข้าใจอย่างแท้จริง
สำหรับชุมชนที่มาร่วมศึกษาดูงานในครั้งนี้ เป็นชุมชนที่ อพท. มีเป้าหมายจะพัฒนาเพื่อยกระดับเป็นแหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชนเข้าสู่ตลาดท่องเที่ยวมูลค่าสูง โดยพบว่ามีปัญหาร่วมกันคือการจัดการขยะที่เกิดจากการท่องเที่ยว ซึ่งจากการศึกษาดูงานทั้งเรื่องสถานการณ์และกฎหมายเกี่ยวกับขยะ เทคโนโลยีและระบบก๊าซชีวภาพในการกำจัดขยะ การแปลงขยะเป็นของมีค่า และหลักการจัดการขยะชุมชน ทั้งหลักการเผาและเทคนิคการผลิตเทคโนโลยี เพื่อจัดการขยะด้วยเตาเผาชีวมวล
นายโกศล แสงทอง รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลป่าเด็ง กล่าวว่า “ต้องทำให้ชุมชนเกิดองค์ความรู้ในการคัดแยกขยะ ซึ่งมากกว่า 60 % เป็นขยะอินทรีย์ที่นำมาทำเป็นก๊าซชีวภาพ โดยในหนึ่งเดือนสามารถผลิตก๊าซชีวภาพได้ประมาณ 1ถัง หรือ 15 กิโลกรัม ใช้หุงต้มในครัวเรือนได้อย่างปลอดภัยและดีต่อสุขภาพ ลดรายจ่ายได้ปีละกว่า 6,000 บาท และยังกำจัดขยะอินทรีย์ได้ถึงปีละกว่า 10 ตัน ส่วนขยะรีไซเคิล 30% จำพวกขวดน้ำ ขวดพลาสติก ที่สามารถนำไปขายได้ รวมทั้งยังนำมาทำเป็นไม้กวาดใช้ในชุมชน และที่เป็นขยะจริงๆ ไม่สามารถขายได้ ประมาณ 10% จะนำไปเผาในเตาเผาขยะชีวมวล ซึ่งถูกออกแบบด้วยหลักวิทยาศาสตร์และความรู้ทางเคมี เป็นเตาสองชั้นที่ทำให้มีอุณหภูมิสูง 300-900 องศาเซลเซียส สามารถกำจัดกรดพิษในขยะ รวมทั้งมีช่องเพื่อเติมอากาศจนทำให้เกิดการเผาไหม้สมบูรณ์ จากการเผาแบบเดิมที่ปลดปล่อยควันพิษถึง 1,400 ppm ลดลงเหลือเพียง 8 ppm ไม่ส่งผลกระทบต่อชั้นบรรยากาศและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งองค์ความรู้ในการทำระบบไฟฟ้าด้วยโซลาร์เซลล์ เพื่อลดรายจ่ายค่าไฟฟ้าที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น”
นายสุเทพ พิมพ์ศิริ แกนนำชุมชนบ้านถ้ำเสือ พร้อมทั้ง แกนนำทั้ง 4 ชุมชนที่ร่วมศึกษาดูงาน เปิดเผยว่า หลังจากได้เรียนรู้จากชุมชน “ป่าเด็ง” ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ไม่มีไฟฟ้าใช้ จนต้องนำระบบโซลาร์เซลล์เข้ามาพัฒนาในพื้นที่ มีการจัดการชุมชนครบทุกมิติและมีความยั่งยืนกว่า 20 ปี ถือเป็นองค์ความรู้ที่ทำได้จริงและสามารถนำไปขยายผลในพื้นที่อื่นๆ ได้ ซึ่งตนจะได้นำความรู้และแนวคิดจากการดูงาน ไปแก้ไขปัญหาการจัดการขยะของชุมชนบ้านถ้ำเสือ และต่อยอดกิจกรรมการท่องเที่ยวในชุมชนให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมต่อไป และเครือข่ายทั้ง 4 ชุมชน ยังได้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้กันอีกด้วย
ด้านนายสุขสันต์ เพ็งดิษฐ์ ผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษ 8 กล่าวว่า อพท.เล็งเห็นต้นทุนและความตั้งใจของชุมชน จึงเตรียมหาแหล่งทุนงบประมาณและประสานไปยังหน่วยงานภาคีเครือข่ายเพื่อขอรับการสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ให้กับชุมชน ซึ่งความสำเร็จจะยั่งยืนได้ คือ หน่วยงานร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาไปพร้อมๆ กับชุมชน ในส่วนของ อพท. ยังมีแผนจะสนับสนุนด้านองค์ความรู้และนวัตกรรมใหม่ๆ แก่ชุมชนเป้าหมายเพื่อให้เกิดการขยายผลภาพรวมเขตพัฒนาการท่องเที่ยวฝั่งทะเลตะวันตก ที่ตอบโจทย์ BCG โมเดลได้อย่างเห็นผลชัดเจนเป็นรูปธรรม