กระทรวงพาณิชย์ เผย 7 เดือน ไทย ขาดดุลการค้าทะลุ 4 แสนล้าน ผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ดันราคานำเข้า “น้ำมัน-วัตถุดิบ” แพง ส่วนส่งออก ก.ค.หดเหลือ 4.3% เหตุชิพขาดแคลน ฉุดส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ เปิดเผยถึงตัวเลขการส่งออกเดือน ก.ค. 2565 ว่า มีมูลค่า 23,629 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 4.3% คิดเป็นเงินบาท 829,028 ล้านบาท ส่วนในช่วง 7 เดือน(ม.ค.-ก.ค.) มีมูลค่ารวม 172,814 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 11.5 % คิดเป็นเงินบาท 5,777,277 ล้านบาท
ส่วนการนำเข้าเดือน ก.ค. มีมูลค่า 27,289 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 23.9% และ 7 เดือน มูลค่ารวม 182,730 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 21.4% ส่งผลให้เดือน ก.ค.ไทยขาดดุลการค้า 3,660 ล้านเหรีญสหรัฐ ส่วน ช่วง 7 เดือน(ม.ค.-ก.ค.)ขาดดุลการค้ารวม 9,916 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นเงินบาท 417,939 ล้านบาท สาเหตุที่ขาดดุลมาก เนื่องจากมีการนำเข้าทองคำ นำเข้าสินค้าทุน และพลังงานนำเข้ามีราคาแพง ซึ่งโอกาสขาดดุลการค้ายังมีสูงถ้าก๊าซและน้ำมันในตลาดโลกยังแพงอยู่จากภาวะสงคราม
นายจุรินทร์ กล่าวถึงการส่งออกสินค้าสำคัญ 3 หมวดในเดือน ก.ค. 2565 ว่า การส่งออกสินค้าเกษตร ขยายตัวติดลบ 0.3% มีมูลค่า 2,339ล้านเหรียญสหรัฐ, สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร ขยายตัว 38.1% มูลค่า 2,066 ล้านเหรียญสหรัฐ และสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัว เพียง0.1% มูลค่า 17,980 ล้านเหรียญสหรัฐ
“ตัวเลขการส่งออกสินค้าเกษตรเดือน ก.ค. ติดลบ 0.3% เพราะผลไม้หมดฤดูเร็วกว่าปกติทำให้ส่งออกได้น้อย ส่วนสินค้าอุตสาหกรรมที่โตเพียง 0.1% เนื่องจากทั่วโลกรวมทั้งไทยขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์(ชิพ)ที่ใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตทำให้ผลิตสินค้าอุตสาหกรรมลดลง จึงส่งออกได้น้อยลง “
สำหรับสินค้าส่งออกที่เติบโตดี หมวดสินค้าเกษตร เช่น ผลไม้แช่แข็ง ผลไม้แห้ง ขยายตัว 94.3% ทุเรียนแช่แข็ง ขยายตัว126% ลำไยแห้ง 66.3% ไก่สดแช่เย็น แช่แข็งและไก่แปรรูป ขยายตัว 35.5% ข้าว ขยายตัว 21.5% ,สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร เช่น ยางพารา ขยายตัว 12 น้ำตาลทราย ขยายตัว 258% อาหารสัตว์ ขยายตัว 25.4% ผลไม้กระป๋องและแปรรูป ขยายตัว 17.3% อาหารทะเลกระป๋อง ขยายตัว16.4% และสินค้าอุตสาหกรรม เช่น เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ ขยายตัว 34.6% เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ขยายตัว 25.5% ผลิตภัณฑ์อะลูมิเนียม ขยายตัว 21.4% เป็นต้น
ตลาดที่การส่งออกขยายตัวสูงสุด10 อันดันแรก ได้แก่ เกาหลีใต้ 39.4 % ตะวันออกกลาง 27.4% แคนาดา 27.3% กลุ่มประเทศ CLMV 24.2% อาเซียน 21.3 % เอเชียใต้ 21.1 % ทวีปออสเตรเลีย 20% สหราชอาณาจักร 17.2% สหภาพยุโรป8.1 %และสหรัฐอเมริกา4.7 %
“กระทรวงพาณิชย์จับมือกับเอกชนช่วยกันแก้ปัญหาต่อเนื่อง เพื่อที่จะทำให้การส่งออกในช่วง 5เดือนที่เหลือของปีนี้ทำเงินเข้าประเทศให้ได้มากที่สุด ล่าสุดได้ปรับแผนการส่งเสริมการส่งออกใหม่ โดยเพิ่มกิจกรรมส่งเสริมอีก 345 กิจกรรม รวมเป็น 530 กิจกรรม และวันที่ 14ก.ย. จะเรียกประชุมทูตพาณิชย์เพื่อซักซ้อมแผน ต้องรอดูอีก 2-3เดือน ว่าเพิ่มกิจกรรมแล้ว การส่งออกจะเพิ่มมากน้อยแค่ไหน มั่นใจว่า ทั้งปีจะโตเกินเป้าที่4-5%แน่นอน”
อย่างไรก็ตาม การส่งออกปีนี้จะยังเติบโตได้ดีเพราะ ต้องการอาหารจากทั่วโลกที่สูงขึ้น ,การผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดและการปิดประเทศให้มีการเดินทางท่องเที่ยว, ค่าระวางเรือมีแนวโน้มลดลงและสามารถขนส่งได้มากขึ้น มาตรการส่งเสริมการส่งออกของกระทรวงพาณิชย์ รวมทั้งค่าเงินบาทอ่อนค่า