พิจิตรชาวบ้านรวมตัวทำข้าวเม่าพอกขายหาเงินเข้าวัดยอดขายได้เงินเป็นล้านของอร่อยมีให้ได้กินเฉพาะช่วงเทศกาลงานแข่งเรือเท่านั้นเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2566 พระมหาเมธี จันทะวังโส เจ้าอาวาสวัดหาดมูลกระบือ หมู่ที่ 2 ตำบลย่านยาว อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร เล่าถึงตำนานงานแข่งขันเรือยาวประเพณีของชาวจังหวัดพิจิตร ที่ทำสืบต่อกันมายาวนานกว่า 100 ปี และของกินของดีที่มาคู่กับงานแข่งเรือ นั่นก็คือ “ข้าวเม่าพอก” ซึ่งในอดีตเมื่อมีงานแข่งเรือที่ท่าน้ำหน้าวัดชาวบ้านและกรรมการวัดก็จะทอดข้าวเม่า เลี้ยงพระ-เลี้ยงแขก-เลี้ยงฝีพายเรือ เป็นของกินที่เอร็ดอร่อยมีเท่าไหร่ก็ไม่พอแจกจนเมื่อราว 50-60 ปีก่อน ท่านอดีตเจ้าอาวาสในสมัยนั้นจึงทำขายแพละ 1 บาท และทำสืบต่อมาจนถึงวันนี้ ขายข้าวเม่าพอกแพละ 40 บาท

สำหรับส่วนประกอบของข้าวเม่าพอกก็คือ กล้วยไข่ ข้าวเม่าที่ทำมาจากข้าวเหนียวซึ่งอยู่ในช่วงตั้งท้องเมล็ดข้าวเป็นน้ำนม แล้วนำมาใส่กระทะคั่ว เอาไปตำจะได้เป็น เมล็ดข้าวเม่า จากนั้นก็นำไปผสมกับเครื่องปรุงที่ประกอบด้วยมะพร้าวขูด น้ำตาลปี๊บ แล้วนำมาพอกกับกล้วยไข่ลงกระทะทอดที่มีแป้งทอดกรอบโรยหน้า เพียงเท่านี้ก็กลายเป็นข้าวเม่าพอก ของอร่อยที่เป็นของกิน ของฝาก จากอดีตจนถึงปัจจุบัน ที่มาควบคู่กับงานแข่งขันเรือยาวตามวัดต่างๆ การรวมตัวทำข้าวเม่าพอกของชาวบ้าน-พระภิกษุสามเณร-ผู้นำชุมชน-ผู้เฒ่าผู้แก่-กลุ่มแม่บ้าน ของวัดหาดมูลกระบือปัจจุบันนี้กลายเป็นกิจกรรมทำข้าวเท่าพอกขายตามงานแข่งเรือของวัดต่างๆในลุ่มน้ำน่าน-ลุ่มน้ำยม ซึ่งจะใช้เวลาตระเวนเดินสายทำข้าวเท่าพอกขายในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน ของทุกปี โดยในแต่ละปีก็จะมียอดขายได้เงินนับล้านบาท ซึ่งหลังจากหักค่าใช้จ่ายแล้วชาวบ้านพร้อมใจกันนำเงินถวายวัดเพื่อนำเงินดังกล่าวมาใช้ทำนุบำรุงวัด แต่สิ่งที่ได้มากกว่าเงินคือ ความสมัครสมานสามัคคีของชาวบ้านที่รวมตัวรวมใจกันเป็นหนึ่งเดียวในการทำความดีและทำกิจกรรมร่วมกันสำหรับปีนี้ในงานแข่งขันเรือยาวชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่วัดท่าหลวง พระอารามหลวง ซึ่งจะจัดงานขึ้นในช่วงระหว่างวันที่ 25 ส.ค.-3 ก.ย. 66 ภายในงานก็จะมีข้าวเม่าพอกขายให้นักท่องเที่ยวได้ ชิม ช้อป แชะ กันอย่างจุใจแน่นอน

โดย….สิทธิพจน์ เกบุ้ย จังหวัดพิจิตร