“เฉลิมชัย”เผยประเทศผู้ที่ทำสัญญาซื้อยางพาราจากไทย จำนวนมากทิ้งออร์เดอร์ที่ทำสัญญาซื้อขายยางพาราไว้ โดยไม่ยอมรับมอบยางพารา ชาวสวนอ่วม 2 เดือน ราคาวูบ 30%

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ประเทศผู้ที่ทำสัญญาซื้อยางพาราจากไทย จำนวนมากทิ้งออร์เดอร์ที่ทำสัญญาซื้อขายยางพาราไว้ โดยไม่ยอมรับมอบยางพารา หลังจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 หลายประเทศทั่วโลกประกาศเป็นโรคประจำถิ่น และทั่วโลกมีการฉีดวัคซีนเป็นจำนวนมาก ทำให้ความต้องการเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ โดยเฉพาะถุงมือยางปรับตัวลดลง ส่งผลให้ความต้องการยางพาราลดลง และกระทบต่อราคายางพาราที่เกษตรกรขายได้ให้ปรับตัวลดลงตาม

ทั้งนี้ การทิ้งออร์เดอร์ของผู้ซื้อยางพาราในต่างประเทศ เนื่องจากความต้องการยางพาราลดลง ประกอบกับปัญหาเศรษฐกิจของโลก ราคาสินค้าโภคภัณฑ์โลกที่พุ่งสูงขึ้น ทำให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น กระทบทั่วโลก ส่งผลให้หลายประเทศมีการปรับดอกเบี้ยที่สูงขึ้นรวมทั้งประเทศไทย ส่วนอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศและทั่วโลกก็ยังฟื้นตัวได้ไม่มากนัก ปัจจัยเหล่านี้ล้วนทำให้ราคายางพาราตกต่ำ ซึ่งต้องยอมรับว่าราคายางพาราของไทยถูกกำหนดโดยตลาดโลกและเศรษฐกิจโลก

“มีการทิ้งออร์เดอร์ยางไทยจากต่างประเทศ จากความต้องการยางพาราลดลง ส่งผลให้ราคายางพาราก็ปรับตัวลดลงตาม ได้สั่งการให้การยางแห่งประเทศไทย สำรวจสาเหตุของราคายางพาราที่เกษตรกรขายได้ตกต่ำอย่างต่อเนื่อง ให้หามาตรการพยุงราคาไม้ให้ตกต่ำลงไปอีก แม้ว่ารัฐบาลจะมีมาตรการพยุงราคาไม่ให้ต่ำกว่า 60 บาทต่อกิโลกรัม แต่ระยะยาวราคายางพาราต้องมีเสถียรภาพ และเกษตรกรต้องอยู่ได้ โดยต้องเร่งการทำวิจัยและพัฒนา เพื่อให้มีการแปรรูปในประเทศให้มากขึ้น”

นายเฉลิมชัย กล่าวว่า เพื่อดึงปริมาณยางพาราออกจากระบบ ต้องขอกำลังจากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อให้สั่งการหน่วยงานรัฐทั่วประเทศจริงจังกับโครงการส่งเสริมการใช้ยางของหน่วยงานภาครัฐ ระยะเวลา 3 ปี ระหว่างเดือนต.ค. 2562 – ก.ย. 2565 เป้าหมายส่งเสริมการใช้น้ำยางสด 1 ล้านตัน แต่ใกล้สิ้นสุดโครงการฯ แล้วยางพาราถูกใช้ไปน้อยถึงน้อยมาก ยังห่างไกลเป้าหมายที่ตั้งไว้ เพราะในส่วนของกระทรวงเกษตรฯ ทุก กรม กอง โดยเฉพาะกรมชลประทาน ก็เร่งดำเนินการใช้ในทุกกิจกรรมที่จะสามารถใช้ยางพาราได้

อย่างไรก็ตาม หากภาครัฐเอาจริงเชื่อว่าปริมาณยางพาราจะถูกดึงมาใช้ในกิจกรรมในประเทศ และจะทำให้ราคายางพารามีเสถียรภาพ แต่ไม่ใช่มีเพียงกิจกรรมการใช้ยางพาราในประเทศของภาครัฐเท่านั้น ยังสั่งให้ กยท. ลงพื้นที่พบเกษตรกรแนะนำให้เกษตรกรปลูกพืชอื่นเสริมเพื่อหารายได้พิเศษ เพิ่มเติม พร้อมกับเร่งพัฒนาการวิจัย เพื่อพัฒนางานจากยางพารา ให้มากขึ้นเพื่อความยั่งยืนของเสถียรภาพราคายางพาราของเกษตรกร

ผู้สื่อข่าวรายงานราคายางพารา หลังจากหลายประเทศเริ่มฉีดวัคซีน และประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นแล้ว ตั้งแต่ 1 มิ.ย. 2565 ถึงวันที่ 18 ส.ค. 2565 ราคายางพาราลดลงเกือบ 30% จากราคาน้ำยางสดอยู่ที่ 67 บาท/กิโลกรัม (ก.ก.) ลดลง 29.4% เหลือราคา 47.30 บาท/ก.ก. ส่วนยางแผ่นดิบรมควันชั้น 3 ราคา 70.70 บาท/ก.ก. ราคาลดลง 28% อยู่ที่ราคา 50.60 บาท/ก.ก.