ความคืบหน้าในการเร่งแก้ปัญหาหมูเถื่อนของภาคส่วนต่างๆ มีมากขึ้นเป็นลำดับ เมื่อเกษตรกรรวมตัวกันถึงกว่า 2,000 คนเข้ายื่นหนังสือร้องเรียนท่านนายกรัฐมนตรี รวมถึงการเข้ายื่นหนังสือให้ DSI รับหมูเถื่อนเป็นคดีพิเศษ ปราบโกงหมูเถื่อนในวงราชการ ไม่ว่าจะเป็นการปรับ วิธีตรวจสอบตู้สินค้าอาหารแช่แข็งของกรมศุลกากรให้เป็นกลุ่ม Red Line หรือ กลุ่มสินค้าที่ต้องเปิดตรวจทั้งหมด เพื่อลดโอกาสที่หมูเถื่อนจะหลุดรอดเข้าสู่ประเทศไทย นอกจากนี้ ยังยกระดับคณะทำงานการแก้ปัญหาหมูเถื่อน ขึ้นเป็นระดับ “กรมต่อกรม”
คณะทำงานดังกล่าว ประกอบไปด้วย ตัวแทนเกษตรกร ตัวแทนกรมศุลกากรตัวแทนกรมปศุสัตว์ ตัวแทนกรมการค้าภายใน ตัวแทนกรมการค้าต่างประเทศ และ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นต้น โดยมี อธิบดีกรมศุลกากร นั่งหัวโต๊ะเป็นประธาน โดยหลักการแล้วเชื่อว่าคณะทำงานชุดนี้จะช่วยกันขับเคลื่อนแนวทางกำจัดและป้องกันหมูเถื่อนกันอย่างจริงจัง เพื่อรักษาไว้ซึ่งความมั่นคงของอาชีพเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูและความปลอดภัยในสุขอนามัยของผู้บริโภคไทย
อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีอีกสองประเด็นที่คณะทำงานยังไม่เคยเปิดเผยสู่สังคมอย่างชัดเจน นั่นก็คือ ข้อแรก : การทำลายหมูเถื่อนในตู้คอนเทนเนอร์ตกค้างที่ตรวจพบเมื่อเดือนเมษายน 2566 จำนวน 161 ตู้ รวม 4,500 ตัน (หรือ 4.5 ล้านกิโลกรัม)
จนถึงป่านนี้ ยังไม่ข่าวคราวการเตรียมทำลายหมูล็อตนี้ออกมา เนื่องจากเป็นจำนวนมหาศาลที่สังคมจับตา มองและรอชมการทำลายหมูเถื่อนครั้งประวัติศาตร์นี้อย่างใจจดจ่อ ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องควรต้องเร่งดำเนินการภายใต้การวางแผนอย่างรอบคอบรัดกุม ลดความเสี่ยงที่โรคระบาดในหมูเถื่อนจะหลุดลอดออกมาปนเปื้อนในสิ่งแวสดล้อม โดยประเด็นสำคัญที่สุด คือ “ความโปร่งใส” ในการทำลายหมูเถื่อนครั้งนี้ ที่ต้องมีองค์คณะของทุกภาคส่วนเข้ามาเป็นสักขีพยาน ไม่ว่าจะเป็น สื่อมวลชน หรือแม้แต่ DSI
แม้หมูเถื่อนเหล่านี้จะกลายเป็น “ของกลาง” หลังกรมศุลฯส่งมอบให้กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางดำเนินคดีตาม พรบ. โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 แล้ว แต่ก็ไม่จำเป็นต้องรอให้คดีถึงที่สุดก่อนจึงจะนำไปทำลายได้ เพราะไม่เช่นนั้น จะเกิดความสูญเสียตามมาอีกมาก ไม่ว่าจะเป็นค่าไฟฟ้าเสียบตู้เย็น ค่าเช่าพื้นที่วางตู้ ค่าเสียโอกาสในการนำตู้กลับไปใช้ในขับเคลื่อนธุรกิจเช่าตู้ ฯลฯ ซึ่งล้วนแต่เป็นต้นทุนทางเศรษฐกิจทั้งสิ้น นัยว่าจนถึงป่านนี้มีค่าเสียหายเฉพาะค่าเช่าพื้นที่ราว 36 ล้านบาทและค่าไฟฟ้าราว 31 ล้านบาทแล้ว โดยคนที่ต้องรับผิดชอบภาระดังกล่าว จะเป็นบริษัทผู้ให้เช่าตู้สินค้า ส่วนผู้นำเข้าของผิดกฎหมายกลับลอยตัวและหนีหาย จึงไม่มีเหตุผลใดๆ ที่คณะทำงานจะดึงเวลาทำลายหมูออกไป ขณะเดียวกันก็ควรเร่งขยายผลสอบสวน ไปถึงผู้นำเข้า และผู้บงการ ก็จะเกิดประโยชน์ต่อภาพรวมทุกภาคส่วน
ข้อสอง : ทำไมยังไม่เปิดตู้ตกค้างซึ่งเป็นตู้เก็บความเย็นอีกหลายตู้ ณ พื้นที่แหลมฉบัง
ข้อเท็จจริงคือขณะนี้ยังมีตู้คอนเทนเนอร์ประเภทแช่เย็น ตกค้างอยู่ในพื้นที่แหลมฉบังอีกจำนวนมาก ลักษณะของตู้แช่เย็น บ่งบอกอยู่แล้วว่าสินค้าในนั้นต้องเป็นของแช่แข็ง ซึ่งมีแนวโน้มอย่างมากที่จะเป็น “หมูเถื่อน” แต่กรมศุลฯ กลับยังไม่เปิดตู้พิสูจน์ใดๆ ทั้งที่ตู้เหล่านี้วางในพื้นที่แหลมฉบังมานานกว่า 45 วัน เข้าข่ายเป็นตู้ตกค้างที่สามารถเปิดตรวจสอบได้แล้ว
แว่วมาว่าถ้าใครอยากเปิดตู้เหล่านี้ก็สามารถทำหนังสือถึงกรมศุลฯขอตรวจสอบได้ ซึ่งมันก็ดูแปลกๆ ไปหน่อย กับการต้องรอให้มีคนร้องขอจึงจะทำการตรวจสอบ หวังว่าคงไม่ใช่ “รอผลักดันกลับประเทศต้นทาง?” เพราะนั่นเท่ากับเปิดโอกาสให้ตู้เหล่านี้ทำการ Re-export ได้ ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อการป้องกันและปราบปรามขบวนการหมูเถื่อน รวมถึงปิดโอกาสการสืบสวนไปถึงผู้นำเข้าตู้เหล่านั้นด้วย
นี่เป็นสองคำถามที่เกษตรกรคนเลี้ยงหมูและผู้บริโภคล้วนรอคำตอบจากผู้เกี่ยวข้อง ไม่น้อยไปกว่าการรอคอยที่จะได้เห็น “ผู้บงการ” ตัวเป้งสักที
โดย…. สามารถ สิริรัมย์