“โฮงเจ้าฟองคำ” พิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิตและเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ใจกลางย่านชุมชนสุมนเทวราช เขตเทศบาลเมืองน่าน บ้านเก่าแก่ที่ทรงคุณค่าได้รับการอนุรักษ์อย่างดี มีอายุกว่า 200 ปี และได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์สถาปัตยกรรมดีเด่น ประเภทบ้านพักอาศัย (คุ้มเจ้า) ประจำปี 2555 จากสมาคมสถาปนิกสยาม มีนักท่องเที่ยวจำนวนมากแวะเวียนมาเยี่ยมเยือนเพื่อเรียนรู้ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมและวิถีชีวิตย้อนสมัยไปในช่วงของ “เจ้าฟองคำ” ซึ่งมีเชื้อสายของเจ้าอนันตวรฤทธิเดช เจ้าผู้ครองนครน่านองค์ที่ 62 ทำให้พิพิธภัณฑ์โฮงเจ้าฟองคำ ยังดูมีชีวิตชีวาอยู่เสมอ
นายธนาธิป แสนเกียง หรือ ” น้องเจเจ” อายุ 17 ปี กำลังเรียนอยู่ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนศรีสวัสดิ์วิทยาคาร และเป็นเด็กกิจกรรมของกองทุนพัฒนาศักยภาพเครือข่ายเยาวชนจังหวัดน่าน หรือ DNYC รุ่นที่ 7 บอกเล่าถึงแรงบันดาลใจที่ได้มาเป็นนักสื่อความหมายให้กับโฮงเจ้าฟองคำ เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวน่าสนใจให้กับนักท่องเที่ยว และการแกะแบบลายผ้าซิ่นโบราณ นำมาต่อยอดประยุกต์ลายผ้าทอ
น้องเจเจ เล่าว่า “จากเดิมมีความสนใจเรื่องผ้าทออยู่บ้างเพราะได้ความรู้มาจากคุณยายของตัวเอง แต่พอได้มาทำกิจกรรมพื้นที่สร้างสรรค์โฮงเจ้าฟองคำ ในฐานะเยาวชนของกองทุนพัฒนาศักยภาพเครือข่ายเยาวชนจังหวัดน่าน หรือ DNYC ร่วมกับ สำนักงานพื้นที่พิเศษ 6 อพท. ก็ทำให้ได้เห็นบ้านเก่าที่มีชีวิต เป็นพิพิธภัณฑ์และพื้นที่เรียนรู้ เป็นมรดกทางวัฒนธรรมและวิถีชีวิตคนน่านล้านนาที่น่าสนใจอย่างมาก ที่ประทับใจคือการสาธิตการทอผ้า และการจัดแสดงผ้าซิ่นลายโบราณที่เก็บสะสมไว้ ส่วนใหญ่เป็นลายราชสำนัก ที่หาชมได้ยากแล้ว เมื่อได้ไปเห็นไปสัมผัส ก็รู้สึกตื่นเต้นมาก เพราะไม่ค่อยมีความรู้ด้านนี้ ก็ได้ไปศึกษาเรียนรู้ ทำให้รู้ว่า ผ้าเมืองน่านมีหลายชนิดมาก เทคนิคการทอก็แตกต่างไปจากที่อื่น ยิ่งสนใจผ้าทอผ้าซิ่นมากยิ่งขึ้น”
จากที่ไปร่วมกิจกรรมพัฒนาพื้นที่สร้างสรรค์โฮงเจ้าฟองคำ ก็ได้ไปคลุกคลีเรียนรู้เรื่องผ้าทอ ซึมซับเรื่องราวเรื่องเล่าต่างๆ ของโฮงเจ้าฟองคำ พอมีนักท่องเที่ยวมาเที่ยว ก็อาสาเป็นนักสื่อความหมาย สนุกกับสิ่งที่ได้ถ่ายทอดและภูมิใจที่ได้บอกเล่าเรื่องราวเมืองน่านด้วย พอได้เห็นมรดกทางวัฒนธรรม มีแนวคิดนำทรัพย์สินทางมรดก สร้างให้เป็นทรัพย์สินที่มีค่า นำของเดิมมาประยุกต์ใหม่ เพื่อให้ทุกคนทุกวัยเข้าถึงได้ง่าย กลายเป็นอาชีพและสร้างรายได้ในระหว่างเรียนได้
น้องเจเจยังกล่าวต่ออีกว่า “ช่วงเวลาที่ว่างๆ เวลาไม่มีนักท่องเที่ยว หรือช่วงโลว์ซีซั่น ก็เลยใช้เวลานั้น ศึกษาเรื่องลวดลายบนผ้าซิ่นโบราณ และใช้ไอแพดที่พกติดตัวเป็นประจำ ในการแกะแบบลวดลายโดยใช้เป็นตารางเก็บแบบ ศึกษาเรื่องเทคนิคเกาะล้วงแบบชาวน่าน การเก็บมุกลายโบราณ รีเมคลวดลายออกแบบใหม่ให้ทันยุคสมัย เข้ากับบริบทความชอบของคนรุ่นใหม่ เอาลายโบราณมาประยุกต์ เพื่อให้คนสวมใส่และใช้งานได้มากขึ้น กลุ่มเป้าหมายกว้างขึ้น แล้วออกแบบการนำลายผ้าไปประกอบชิ้นงาน เพื่อให้เข้ากับกลุ่มลูกค้าและการตลาดมากขึ้น เช่นนำลายผ้าทอไปใส่ในผ้าพันคอ ผ้าเช็ดหน้า เสื้อ ผ้าผืนผ้าชิ้น หรือสิ่งของในชีวิตประจำวัน เพื่อให้เกิดการใช้งานมากขึ้น ราคาจับต้องได้ง่าย แทนที่เป็นแค่ผ้าซิ่น ซึ่งลูกค้ามีเฉพาะกลุ่มและราคาสูง โดยขณะนี้ ได้นำ “ลายผ้าซิ่น วิเศษเมืองน่าน นางพญาผ้าซิ่น” อายุ 200-300 ปี ที่เป็นลวดลายสะท้อนความหลากหลายของวัฒนธรรมเมืองน่าน มาออกแบบประยุกต์ลายผ้าที่ยังคงรักษาอัตลักษณ์ จากการแกะแบบถอดลาย ได้นำมาทอเป็นผืนผ้า และยังคงใช้ชื่อว่า ผ้าซิ่นวิเศษเมืองน่าน แต่ละผืนใช้เวลาทอไม่น้อยกว่า 2-5 เดือน ซึ่งตอนนี้มีออร์เดอร์งานสั่งทำแล้ว”
“ในฐานะเยาวชนลูกหลานเมืองน่าน เชื่อว่าการนำมรดกทางภูมิปัญญาและทางวัฒนธรรมของเรามาปรับเปลี่ยนประยุกต์ให้เหมาะสมโดยไม่ทิ้งรากเดิม สามารถสร้างการเข้าถึงของคนรุ่นใหม่ๆ ได้ ก็จะเป็นการอนุรักษ์และสร้างสรรค์ไปในตัว ทำให้คนสองวัย ได้เชื่อมโยงกันด้วยวัฒนธรรมผ่านลายผ้าทอผ้าซิ่น และดีใจที่ได้เห็นมรดกทางวัฒนธรรมของคนรุ่นเก่า โดยเราสามารถนำมาต่อยอดจนสร้างเป็นอาชีพและรายได้ ซึ่งโฮงเจ้าฟองคำ เป็นพิพิธภัณฑ์ ที่เป็นพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่เข้าไปมีส่วนร่วม เพื่อการพัฒนาต่อยอด เช่นเดียวกับวัฒนธรรมเมืองน่านในด้านอื่นๆด้วย ที่จำเป็นต้องมีคนรุ่นหลังๆเข้าไปรับช่วงเพื่อทั้งการอนุรักษ์และสืบสานไว้ จะได้คงอยู่ต่อไปไม่สูญหายไปจากเมืองน่าน”