นายกฯ สั่งกำชับ ผู้ว่าราชการจังหวัด-ปภ.เขต เตรียมรับสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากภาคเหนือ-อีสาน-กลาง ช่วงเดือนส.ค. พร้อมให้เฝ้าติดตามสถานการณ์ ลดผลกระทบจากเหตุอุทกภัยอย่างมีประสิทธิภาพนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ติดตามสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำของประเทศโดยกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศเมื่อวันที่ 7 ส.ค. ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น โดยมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมง ที่ผ่านมา จ.หนองคาย (164 มม.) จ.ตราด (146 มม.) และ จ.ลำปาง (88 มม.) แม่น้ำสายหลัก น้ำน้อยถึงปกติ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนแม่น้ำโขงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ปริมาณน้ำแหล่งน้ำทุกขนาด 46,566 ล้าน ลบ.ม. (57%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 40,545 ล้าน ลบ.ม. (57%) เฝ้าระวังน้ำน้อยบริเวณภาคเหนือ (3 แห่ง)

โดย กอนช. ติดตามสถานการณ์น้ำและการเตรียมความพร้อมรับมือน้ำหลากในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา และลุ่มน้ำมูล และกรมชลประทานได้ปรับเพิ่มการระบายน้ำผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ให้สอดคล้องกับคาดการณ์ปริมาณฝนตกหนักในช่วงวันที่ 7-9 ส.ค. จะทำให้เกิดน้ำท่าไหลเข้าสู่เขื่อนเจ้าพระยา ประมาณกลางเดือน ส.ค. เพื่อให้สามารถบริหารจัดการน้ำที่เขื่อนเจ้าพระยา อ.สรรพยา จ.ชัยนาท ให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาอย่างเหมาะสม

นายกฯ กำชับกระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด และศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต ให้เฝ้าระวังพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำท่วมขัง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์คลื่นลมแรงภาคใต้ ตามที่กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลางได้กำหนดไว้ให้เตรียมพร้อมเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ และลดผลกระทบจากสถานการณ์อย่างมีประสิทธิภาพ

วันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เพจสำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร ได้โพสต์ข้อความระบุว่า สำนักการระบายน้ำ โดยสำนักงานระบบควบคุมน้ำ จัดเจ้าหน้าที่เข้าดำเนินการเร่งลดระดับน้ำในคลอง เพื่อเตรียมพร้อมรับมือฝนที่ตกลงมาในพื้นที่ 50 สำนักงานเขต พร้อมทั้งเดินเครื่องสูบน้ำตามสถานีต่างๆ เพื่อเป็นการพร่องน้ำ ลดระดับน้ำในคูคลอง เพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่กรุงเทพมหานครต่อไป