กระทรวงการต่างประเทศไทยแถลงว่าประธานาธิบดี สี จิ้นผิง จะเดินทางมาประชุม APEC 2022 ระหว่างวันที่ 18-19 พฤศจิกายนนี้ในกรุงเทพมหานคร ประเทศไทย โดยมี พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นเจ้าภาพ ส่วนประธานาธิบดี วลาดีมีร์ ปูติน ของรัสเซีย ก็ตอบรับเป็นมาร่วมประชุม หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ อ้างแหล่งข่าวความมั่นคงว่า ทางรัสเซีย ขอให้เตรียมพร้อมรักษาความปลอดภัย มีแนวโน้มสูงว่า ประธานาธิบดี ปูติน มาร่วมประชุม Apec แม้ว่าสถานการณ์ในประเทศ ยังอยู่ภาวะตึงเครียดที่อาจบานปลายกลายเป็นสงครามนิวเคลียร์ได้
ด้าน ประธานาธิบดี โจ ไบเดน แจ้งสถานทูตไทยในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ว่านายไบเดน ติดงานแต่งงานหลานมาร่วมประชุมทางเศรษฐกิจครั้งสำคัญนี้ไม่ได้ โดยส่งให้ นางกมลา แฮร์ริส มาประชุมแทน นายไบเดน ไม่มาร่วมประชุม Apec กรุงเทพฯแต่เลือกที่จะไปร่วมประชุม G20 จากกาตาร์ในเวลาไล่เลี่ยกัน เหตุผลสำคัญ น่าจะเป็นเพราะว่าอินโดนีเซีย เป็นเซฟโซนของสหรัฐ เนื่องจากอินโดนีเซียเป็นเด็กในคาถาที่ว่านอนสอนง่าย ซึ่งแตกต่างกับไทยที่วางตัวเป็นกลางไม่สนับสนุน หรือขัดขวาง และเข้าข้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดในวิกฤตการเมืองเมียนมาและสงครามรัสเซีย ยูเครน ประเทศไทยให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมแก่ยูเครน แต่ไม่ประณามรัสเซียและเรียกร้องทุกฝ่ายให้หันหน้าเจรจากันเพื่อสันติภาพโลก
โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ
ส่วนในเมียนมา ประเทศไทยให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมแก่ทุกฝ่ายและให้คำปรึกษาเพื่อแสวงหาแนวทางสันติเท่าที่ทำได้ในฐานะประเทศเพื่อนบ้าน ตัวอย่างที่เห็นชัดเจน คือ วิกฤตการเมืองในเมียนมาที่ประเทศตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาพยายามจะโค่นล้มรัฐบาลทหาร นำโดย พลเอกมิน อ่อง หล่าย ลงให้ได้ และพยายามอย่างยิ่งจัดการให้นาง ออง ซาน ซู จี กลับมามีอำนาจอีกครั้งในข้ออ้างเพื่อประชาธิปไตย ในขณะที่จีนกับรัสเซียปกป้องรัฐบาลพลเอกมิน อ่อง หล่าย ขัดขวางการลงโทษรัฐบาลทหารเมียนมาในเวทีสหประชาชาติ จีนกับรัสเซียวีโต้ (ใช้สิทธิยับยั้ง) ทุกครั้งที่สหรัฐเสนอญัตติลงโทษเมียนมาในสภาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ
บารัค โอบามา อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ
สมาชิกอาเซียนเองก็แตกออกเป็นสองฝ่ายกล่าวคือ กัมพูชาซึ่งเป็นประธานหมุนเวียนอาเซียนปี 2565 กัมพูชายืนอยู่ข้างจีนและรัสเซีย 100% ตลอดถึง สปป.ลาว สหภาพเมียนมาก็มีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นต่อจีนและรัสเซีย ส่วนประเทศไทย ปฏิบัติตามคำพูดของป๋า พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ที่ว่า“โหย่ แหน่ง แหน่ง อย่าแหลงไหร” สมาชิกอาเซียนนอกสุวรรณภูมิ เอนเอียงไปทางสหรัฐ หรือ จะพูดว่าเป็นลูกไล่อเมริกาก็ว่าได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อินโดนีเซีย มาเลเซีย และ สิงคโปร์ อินโดนีเซียกับมาเลเซีย เป็นตัวตั้งตัวตีเป็นหัวหอกสำคัญในการต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมา และสนับสนุนรัฐบาลสามัคคีแห่งชาติ (National Unity Government=NUG) หรือเอ็นยูจี ซึ่งเป็นรัฐบาลเงา ฝ่าย นางออง ซาน ซู จี ตามการชี้นำของตะวันตกและอเมริกา
นี่คือเหตุผลที่บอกว่าอินโดนีเซีย เป็นเซฟโซนของนายไบเดน แต่ประเทศไทยไม่ใช่ ดังนั้นหากอินทรีเน่าต้องมาเผชิญหน้ากับหมีขาวและพญามังกรในประเทศไทยไม่วายอินทรีหัวเน่าต้องถูกหมีขาวกับมังกรรุมขย้ำและนายไบเดน คงถอดบทเรียนจาก อดีตประธานาธิบดี บารัค โอบามา ว่า ในภูมิภาคอาเซียนหากประเทศไหนไม่มั่นใจว่ามีผู้นำเป็นเด็กในคาถาอย่าไปให้เสียหน้าเป็นอันขาด หากยังจำกันได้ปี 2555 นายโอบามาถูกกัมพูชาฉีกหน้าเมื่อครั้งที่มาร่วมประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่กัมพูชาเป็นประธานในกรุงพนมเปญก่อนเดินทางไปกัมพูชา ประธานาธิบดี บารัค โอบามา แวะเยือนประเทศไทย และสหภาพเมียนมาซึ่งมีสตรีเป็นผู้นำประเทศ นายโอบาได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นวาบหวิวในประเทศไทย ที่ได้จับมือถือแขนและชม้ายชายตากับนายกรัฐมนตรีหญิงของประเทศไทย ซ้ำยังได้โอบกอดจุมพิตผู้นำสตรีในเมืองย่างกุ้ง ประเทศสหภาพเมียนมา และผู้นำสตรีทั้งสองรับปากว่าจะสนับสนุนสหรัฐในประเด็นขัดแย้งทะเลจีนใต้ ซึ่งคาดหมายว่าจะเป็นประเด็นใหญ่ในที่ประชุมอาเซียนซัมมิตปี 2555
สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน
นายโอบามา ออกเดินทางจากกรุงเทพฯไปกัมพูชาด้วยความรู้สึกชุ่มชื่นใจอาลัยอาวรณ์ แต่ทันทีที่ไปถึงสนามบินโปเชนตง นายโอบามา ต้องพบกับภาพบาดตาบาดใจ เมื่อเห็นป้ายขนาดยักษ์มีรูปวาดของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ใหญ่มหึมาพร้อมข้อความเป็นภาษาจีนและภาษาเขมรว่า “ขอต้อนรับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ด้วยยินดีและเป็นเกียรติยิ่งที่ท่านให้เกียรติมาเยือนกัมพูชา”โอบามา เห็นภาพบาดตาบาดใจไปตลอดการเดินทางไปถึงที่พัก หน้าโรงแรมมีผืนผ้าขนาดสองคูณสี่เมตรเขียนเป็นภาษาอังกฤษว่า “ยินดีต้อนรับประธานาธิบดีบารัค โอบามา แห่งสหรัฐอเมริกา”
วลาดีมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีของรัสเซีย
ในการประชุมอาเซียนฯครั้งนั้น ผู้แทนสหรัฐวิ่งเต้น (lobby) ให้พล่าน ต้องการให้เรื่องทะเลจีนใต้ได้บรรจุไว้ในแถลงการณ์ของประธานที่ประชุม หลังจากเสร็จสิ้นการประชุมเป็นประเพณีของอาเซียนที่ออกแถลงการณ์สรุปผลการประชุมโดยมีประธานการประชุมเป็นผู้อ่านแถลงการณ์ และตามมาด้วยการให้สัมภาษณ์เปิดโอกาสให้สื่อมวลชนได้ซักถาม
นายฮุนเซนอ่านแถลงการณ์เสร็จผู้สื่อข่าวที่ติดตามคณะประธานาธิบดีโอบามา สังเกตว่าในแถลงการณ์ไม่ได้เอ่ยถึงประเด็นทะเลจีนใต้เลยผู้สื่อข่าวที่ติดตาม คณะประธานาธิบดี โอบามา ถามว่า “ทำไมไม่มีเรื่องทะเลจีนใต้”
สมเด็จ ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีของกัมพูชา
นายฮุนเซน ตอบว่า “ขอบคุณในความร่วมมือของทุกฝ่ายทำให้การประชุมสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ผมทำงานอย่างเหน็ดเหนื่อยมาหลายวันขอยุติการแถลงข่าว” ปีนั้นนายโอบามา กลับบ้านไม่ได้อะไรติดไม้ติดมือกลับไปเลยนอกจากความวาบหวามชุ่มชื่นหัวใจในประเทศไทยและเมียนมา
สิ่งสำคัญอีกอย่างที่ทำให้นายไบเดนถอดใจไม่มาร่วมประชุมเอเปก อาจเป็นเพราะว่าสถานะทางการเมืองของเขากำลังตกต่ำถึงที่สุดในบ้านและเป็นไปได้สูงมากว่านายไบเดน จะไม่ได้ไปต่อ เพราะผู้สนับสนุน พรรคเดโมแครตส่วนใหญ่ ไม่ต้องการเสนอ ชื่อ “โจ ไบเดน” เป็นผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในการเลือกตั้งปี 2024 และต้องการผู้แทนพรรคหน้าใหม่มากกว่า
ออง ซาน ซู จี
โพลล์ล่าสุด ที่จัดทำโดย The New York Times ร่วมกับ Siena College สอบถามผู้สนับสนุนที่วางแผนลงคะแนนในการเลือกตั้งขั้นต้นของพรรคเดโมแครตว่า“ต้องการให้พรรคเสนอชื่อ ประธานาธิบดีไบเดน ลงสมัครเป็นสมัยที่ 2 หรือไม่?” ซึ่งมีเพียง 26% เท่านั้นที่ต้องการทำเช่นนั้นขณะที่ 64% ระบุว่า ตนต้องการเห็นผู้ลงสมัครใหม่แทน
ชาวอเมริกันเชื่อว่า สหรัฐฯ กำลังเดินไปในทิศทางที่ผิด ผลการสำรวจยังพบว่า 77% ของชาวอเมริกันเชื่อว่าสหรัฐฯกำลังเดินไปในทิศทางที่ผิด โดยมีเพียง 13% เท่านั้นที่เชื่อว่าประเทศกำลังก้าวไปในทิศทางที่ถูกต้อง คะแนนนิยมนายไบเดนตกต่ำมีเพียง 33% เท่านั้นที่ยังเห็นด้วยกับวิธีการดำเนินงานของนายไบเดน
สรุปง่ายๆว่า ในบั้นปลายของชีวิต เมื่อเส้นทางการเมืองไปต่อไม่ได้ สู้อยู่กับบ้านร่วมแต่งงานหลานสาวดีกว่า หากมาร่วมการประชุมทางเศรษฐกิจครั้งสำคัญที่ตัวเองไม่ค่อยเข้าใจ แล้วทำไมอินทรีหัวเน่าต้องไปให้หมีขาวและมังกรขย้ำให้ตกต่ำลงไปอีก
สุทิน วรรณบวร รายงาน