กรมทางหลวงลงนามจ้างที่ปรึกษาศึกษาสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่เชื่อม “หนองคาย-เวียงจันทน์” ควักงบเหลือจ่าย 40 ล้านบาทวิเคราะห์ 3 รูปแบบ เร่งชง กก.ร่วม 3 ฝ่าย “ไทย-ลาว-จีน” เคาะใช้ร่วมหรือแยกระหว่างรถไฟกับรถยนต์
นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการออกแบบสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่เชื่อมหนองคาย-เวียงจันทน์ว่า เมื่อวันที่ 10 ต.ค. 2565 กรมทางหลวงได้ลงนามจัดจ้างที่ปรึกษาโครงการศึกษาความเหมาะสมด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น โครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพ “หนองคาย-เวียงจันทน์” แห่งที่ 2 (หนองคาย 2) แล้ว วงเงิน 40 ล้านบาท โดยใช้งบประมาณเหลือจ่ายปี 2565 ดำเนินการระยะเวลาศึกษา 270 วัน หรือ 9 เดือน (11 ต.ค. 2565-7 ก.ค.2566)
ในช่วง 4 เดือนแรกจะเร่งให้ที่ปรึกษาสรุปความเป็นไปได้และกรอบวงเงินลงทุนเบื้องต้นในแต่ละรูปแบบ เพื่อนำไปหารือในคณะกรรมการร่วม 3 ฝ่าย (ไทย, สปป.ลาว, จีน) คัดเลือกรูปแบบการพัฒนาสะพานข้ามแม่น้ำแห่งใหม่ หากได้ข้อสรุปจะดำเนินการออกแบบรายละเอียดคู่ขนาน เพื่อให้การก่อสร้างสอดคล้องกับการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ -นครราชสีมา-หนองคาย
รายงานข่าวแจ้งว่า กลุ่มที่ปรึกษาประกอบด้วย บริษัท AEC, บริษัท MAA, บริษัท UAE, บริษัท PSK ดำเนินการศึกษาความเหมาะสม Feasibility study (FS), ศึกษาปริมาณการเดินทางและการขนส่งสินค้า พร้อมทั้งศึกษารูปแบบการเดินทางและการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ, ศึกษาและคัดเลือกรูปแบบการพัฒนาสะพานข้ามแม่น้ำแห่งใหม่, วิเคราะห์ความคุ้มค่าทางด้านเศรษฐศาสตร์
งานศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น Initial Environmental Examination (IEE), ด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน Public Participation (PP) และงานประชุมร่วมระหว่างประเทศไทย กับ สปป.ลาว
สำหรับสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่ หนองคาย-เวียงจันทน์ แนวคิดเบื้องต้นมี 3 รูปแบบ ได้แก่ รูปแบบที่ 1 ก่อสร้างสะพานแห่งใหม่ทางด้านท้ายน้ำของสะพานปัจจุบัน รองรับรถไฟทางคู่ ขนาด 1 เมตร (Meter Gauge) จำนวน 2 ทาง, รถไฟความเร็วสูงขนาด 1.435 เมตร (Standard Gauge), ถนนขนาด 2 ช่องจราจรรองรับรถยนต์ โดยมีการปรับปรุงสะพานปัจจุบันให้รองรับการเดินทางด้วยรถยนต์เพียงอย่างเดียว
รูปแบบที่ 2 ก่อสร้างสะพานแห่งใหม่ทางด้านท้ายน้ำของสะพานปัจจุบัน รองรับรถไฟทางคู่ ขนาด 1 เมตร (Meter Gauge) จำนวน 2 ทาง, รถไฟความเร็วสูง ขนาด1.435 เมตร (Standard Gauge)
ก่อสร้างสะพานรถยนต์แห่งใหม่ทางด้านเหนือน้ำของสะพานปัจจุบันอีก 2 ช่องจราจร และปรับปรุงสะพานปัจจุบันให้รองรับการเดินทางด้วยรถยนต์เพียงอย่างเดียว รวมเป็น 4 ช่องจราจร
รูปแบบที่ 3 ก่อสร้างสะพานแห่งใหม่ทางด้านท้ายน้ำของสะพานปัจจุบัน รองรับรถไฟทางคู่ ขนาด 1 เมตร (Meter Gauge) จำนวน 2 ทาง, รถไฟความเร็วสูงขนาด 1.435 เมตร (Standard Gauge)
ปรับปรุงสะพานปัจจุบันให้รองรับการเดินทางด้วยรถยนต์เพียงอย่างเดียว
สำหรับเหตุผลที่ต้องก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่หนองคาย-เวียงจันทน์ เนื่องจากสะพานเดิมแออัด รถยนต์กับรถไฟไม่สามารถใช้งานได้ในเวลาเดียวกัน โดยจากสถิติปริมาณจราจร (รถทุกประเภท) บนสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 (หนองคาย-เวียงจันทน์) ในปี 2562 ก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 พบว่ามีจำนวนรวม 873,145 คัน มีการเดินทางเข้า-ออก มากกว่า 1.4 ล้านคน และมีมูลค่าการค้าชายแดนเป็นอันดับ 1 คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 30% ของมูลค่าการค้าชายแดนไทย-สปป.ลาว
ส่วนปี 2563 สถิติปริมาณจราจร (รถทุกประเภท) รวม 483,055 คัน ปี 2564 จำนวนรวม 138,770 คัน ปี 2565 (ถึงเดือน ก.ย. 2565) มีจำนวนรวม 246,576 คัน
ปริมาณจราจรที่กลับมาเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเกิดจากรถไฟลาว-จีนเปิดให้บริการเมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 2564 ส่งผลให้มีการคมนาคมขนส่ง และความต้องการในการส่งออกสินค้าไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีนมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงมีความจำเป็นต้องมีการขยายเส้นทาง ซึ่งเป็นการพัฒนาโครงข่ายเชื่อมโยงระหว่างประเทศให้สอดคล้องนโยบายการพัฒนาโครงข่าย รถไฟไทย ลาว จีน