นายกฯแพทองธาร แถลงผลงาน 90 วัน รัฐบาลแพทองธาร สานต่อ “เศรษฐา” ทำอยู่ ทำต่อ ทำใหม่ ลุยแก้หลายปัญหาอย่างจริงจังและยั่งยืน ดึงธุรกิจใต้ดินเข้าระบบภาษี ทลายทุนผูกขาด ตั้งเป้าให้ไทยท่องเที่ยวได้ทั้งปี

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 12 ธันวาคม 2567 น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการแถลงผลการดำเนินงานของรัฐบาลรอบ 3 เดือน ภายใต้ชื่อ “2568 โอกาสไทย ทำได้จริง” และการมอบนโยบายการบริหารราชการแผ่นดินของนายกรัฐมนตรี ณ สตูดิโอ 4 อาคารศูนย์ปฏิบัติการแพร่ภาพออกอากาศการกระจายเสียงวิทยุและการให้บริการข้อมูลข่าวสารภาครัฐ สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (NBT) กรมประชาสัมพันธ์ ถนนวิภาวดีรังสิต เขตดินแดง กรุงเทพฯ โดยมีคณะรัฐมนตรี รวมถึงหัวหน้าส่วนราชการต่างๆ เข้าร่วมอย่างพร้อมเพรียง

นายกรัฐมนตรี เริ่มต้นการแถลงในเวลา 10.09 น. หลังจบวิดีทัศน์ ว่า สวัสดีพี่น้องประชาชน ข้าราชการ คณะรัฐมนตรี คลิปที่ได้รับชมเป็นผลงานตั้งแต่รัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งส่งไม้ต่อมา โดยหลังจากได้ทำงาน 90 กว่าวันที่ผ่านมา เป็นช่วงเวลาของการปรับตัว ปรับการทำงาน เริ่มหาแนวทางว่าการทำงานแบบใดที่จะอำนวยความสะดวก ตอบโจทย์ประชาชน ให้มีชีวิตที่ดีขึ้นได้จริง และถือเป็นช่วงเวลาที่สำคัญมากที่ได้เข้ามาเรียนรู้และทำงาน เราทั้งหมดคือทีมเดียวกัน ที่ผ่านมาอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงแบบที่ไม่นึกฝันไม่คาดฝัน วันนี้เรากลับมาแล้ว เดินไปข้างหน้าเพื่อประชาชนและประเทศ เราจะวางโครงสร้างสำคัญให้ประเทศ เพื่อให้ประชาชนมีกิน มีใช้ มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี อย่างที่เคยกล่าวไว้

ภาพประเทศไทยต่อจากนี้ ปี 2568 จะเป็นปีของโอกาส รัฐบาลจะสร้างผลงานที่เป็นรูปธรรม ทำความฝันให้เกิดขึ้นจริงได้ หรือที่เรียกว่า “นโยบายกินได้” ที่ผ่านมาในอดีตประเทศมีความขัดแย้งทางการเมืองมากกว่า 20 ปี วันนี้เราพร้อมเดินหน้าและแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น

“ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้ง” ปี 2567 ภาคเหนือเกิดน้ำท่วมหนักมากและมีดินโคลนถล่ม ภาคอีสานและภาคใต้ก็เกิดน้ำท่วมเช่นกัน จากการที่มีโอกาสลงพื้นที่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในพื้นที่ดินโคลนถล่ม มีความรู้สึกว่าตำแหน่งอันทรงเกียรตินี้จะเปลี่ยนแปลงชีวิตให้ประชาชนได้อย่างไรบ้าง เมื่อคิดว่าถ้าเกิดกับตัวเองก็รู้สึกเศร้าใจ แต่พี่น้องภาคเหนือไม่ได้เตรียมการที่จะเจอเหตุการณ์เช่นนี้มาก่อน หลายคนไม่ได้มีทุนสำรองในเรื่องนี้ รัฐบาลจึงเยียวยาอย่างรวดเร็ว เพื่อให้มีกำลังใจไปต่อไป ซึ่งปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งนั้นมีมานาน แต่ไม่ได้ทำอย่างบูรณาการ ต้องแก้ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งถาวร รวมถึงเจรจากับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบและยั่งยืน

สิ่งที่จะทำต่อไปคือ “ศึกษาการแก้กฎหมาย อนุญาตให้ประชาชนสามารถขุดลอกคูคลองได้” เป็นโครงการที่จะให้ประชาชนสามารถขุดดินโคลนไปขาย แต่ต้องไม่กระทบสิ่งแวดล้อมและมีข้อกำหนดที่ชัดเจน นี่คือแนวทางใหม่ที่สร้างอาชีพให้ประชาชนได้ พร้อมกันนี้ รัฐบาลจะสร้างฟลัดเวย์ (floodway) หรือ ทางน้ำไหลผ่าน เพื่อทำให้น้ำท่วมน้ำแล้งดีขึ้น แก้ปัญหาน้ำท่วมภาคกลางและ กทม. ได้เป็นอย่างดี เราต้องคิดใหญ่เพื่อแก้ปัญหาระยะยาว โดยมอบหมาย นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อหาข้อกฎหมาย เทคโนโลยี ในการสร้างฟลัดเวย์ให้เกิดขึ้นได้

ต่อมาคือ “ปัญหาฝุ่น PM 2.5” นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อไปว่า ตนเองเป็นแม่ลูก 2 ชอบให้ลูกเล่นนอกบ้านเพื่อให้มีสุขภาพที่แข็งแรง เรื่องนี้มีผลกระทบเช่นกัน โดยปีที่ผ่านมาตั้งแต่รัฐบาลอดีตนายกฯ เศรษฐา มี KPI ว่าต้องทำให้มีฝุ่นน้อยลงทุกปี เพราะการเผาในพื้นที่การเกษตรทำให้เกิดฝุ่น PM 2.5 ได้มาก แต่ที่ผ่านมาสามารถลดพื้นที่เผาไหม้ไปได้ถึง 50% แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลมาถูกทาง รวมถึงแนวทางที่จะไม่รับซื้อสินค้าจากประเทศเพื่อนบ้านที่มาจากการเผาไหม้ และต้องจริงจังมากขึ้น ทั้งการเผาตอซังข้าวและอ้อย แก้ปัญหาที่หมักหมมมานาน รัฐบาลต้องการคืนอากาศที่ดี สุขภาพที่ดีให้ประชาชน โดยมอบหมาย นายประเสริฐ ติดตามเรื่องนี้ต่อ

อีกปัญหาสำคัญคือ “ยาเสพติด” ที่กลับมาระบาดมาก ทำให้ครอบครัวสูญเสียลูกหลาน ซึ่งคนไทยมีศักยภาพอีกมาก รัฐบาลเอาจริงเรื่องนี้ ขอความร่วมมือประชาชนช่วยกันตรวจสอบ รัฐต้องการความช่วยเหลือจากประชาชนเพื่อให้เกิดความสำเร็จ และรัฐบาลนี้จะทำแพลตฟอร์มแจ้งปัญหายาเสพติด ซึ่งข้อความจะส่งตรงถึงนายกรัฐมนตรี และจะมีการรักษาข้อมูลของผู้แจ้งอย่างดี ขณะเดียวกัน ท่าวังผาโมเดล และธวัชบุรีโมเดล ประสบความสำเร็จอย่างมาก ทำได้จริงจากความร่วมมือของทุกฝ่าย จะนำโมเดลนี้พัฒนาไปทุกจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อทำให้คนไทยกลับมาสร้างอาชีพได้ รวมถึงไม่ให้คนติดยากลับไปติดอีก ในเรื่องนี้มอบหมาย นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ดำเนินการ

น.ส.แพทองธาร กล่าวในประเด็นต่อมาเรื่อง “การทลายทุนผูกขาด” ไม่ว่าจะภาครัฐหรือเอกชน เพราะการผูกขาดทุกชนิดเป็นสิ่งที่เพิ่มต้นทุนของประชาชน ทำให้ประชาชนจนลง ไม่ได้มีเงินมากขึ้น ยกตัวอย่างเรื่องข้าว แม้จะมีการแก้ไขกฎหมายแล้ว แต่ยังไม่ทันสมัยอยู่ดี รัฐบาลจะปลดล็อกและลดขั้นตอน ทำให้เกษตรกรรายย่อยสามารถส่งออกข้าวเองได้ ทำให้ SME กลับมาเกิดขึ้นอีกครั้ง โดยเรื่องนี้ได้มีการสั่งการ ครม. ไปแล้ว จากนี้กฎกระทรวงจะมีการแก้สิ่งที่ไม่จำเป็นและไม่เป็นประโยชน์ในปัจจุบันออกไป

ในเรื่อง “ค่าพลังงาน ค่าไฟฟ้า” นายกรัฐมนตรีเผยว่า มีค่าใช้จ่ายที่ซ่อนอยู่มาก ยังมีการคิดราคาบวกอยู่ ประชาชนต้องแบกรับ เรื่องนี้จะต้องถูกจัดการ พร้อมกล่าวยืนยันว่าค่าพลังงานในปีหน้าทั้งหมดต้องลดลงอย่างแน่นอน โดยมอบหมาย นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ช่วยดูต่อในเรื่องนี้

ขณะที่เรื่องของ “สุราชุมชน” จะมีการเปิดโอกาสพื้นที่สร้างสรรค์ สร้างธุรกิจของตัวเอง พร้อมให้ข้อมูลว่า ตลาดเครื่องดื่มของไทย น้ำแร่ น้ำหวาน มูลค่าส่งออกกว่า 7 หมื่นล้านบาท รัฐเก็บภาษีกว่า 1.8 แสนล้านบาท และมองว่ามีโอกาสเติบโตมากมาย เชื่อว่าจากนี้จะได้เห็นอะไรดีๆ จากคนไทยอีกมาก และเกษตรกร สินค้าเกษตรจะได้รับผลดีไปด้วย ในประเด็นนี้ฝาก นายพิชัย ชุณหวชิระ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

นายกรัฐมนตรี ยังได้แถลงต่อไปในเรื่อง “ธุรกิจนอกระบบ-ธุรกิจใต้ดิน” จะต้องได้รับการแก้ไขและนำกลับเข้าสู่ระบบ นำขึ้นมาบนดิน เพื่อเสียภาษีให้ได้ ซึ่งธุรกิจเหล่านี้มีมูลค่ามากกว่า 49% ของ GDP ไทย ถือว่าค่อนข้างมาก เป็นช่องทางของมาเฟียและเป็นช่องทางคอร์รัปชันต่างๆ ภาครัฐไม่สามารถปกป้องดูแลประชาชนได้ เพราะรัฐมองไม่เห็นว่ามีอยู่ตรงไหน อย่างไร แต่ถ้าเอาทุกอย่างมาไว้บนดิน สามารถเก็บภาษีได้ตามระบบ ใช้กฎหมายควบคุม ภาษีเหล่านั้นนำมาให้ประชาชนต่อ เป็นทุนการศึกษาได้ พัฒนาประเทศได้ จะสามารถต่อยอดประเทศได้อีกเยอะ พร้อมมอบหมาย นายอนุทิน และนายประเสริฐ ทำงานร่วมกัน โดยต้องเอาธุรกิจใต้ดินขึ้นมาบนดินเพื่อที่รัฐจะปกป้องประชาชนได้

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวถึง “Future Investment หรือ การลงทุนในธุรกิจแห่งอนาคต” ตั้งเป้าประเทศไทยเป็น AI Hub ของภูมิภาค และทำให้ทั่วโลกมองเห็นว่าไทยพร้อมที่จะเตรียมตัวสำหรับธุรกิจแห่งอนาคต แต่ยอมรับว่ายังมีข้อจำกัดบางประการที่ต้องพัฒนา อาทิ เรื่องคนที่อาจจะยังไม่มีความรู้ที่มากพอในการทำธุรกิจนี้ อีกทั้งในอนาคตอันใกล้ AI จะมีบทบาทสำคัญต่อทุกคนทุกวัย ยิ่งมีข้อมูลมาก AI ก็ยิ่งฉลาดขึ้น จะช่วยในเรื่องกำแพงภาษา สามารถสื่อสารกันได้ทั่วโลก และยังช่วยคิดวิเคราะห์ในเรื่องต่างๆ ได้ จะมีโอกาสมากขึ้นหากใช้ AI ให้เป็น ขณะเดียวกัน รัฐบาลมีแผนลงทุนเพิ่มในธุรกิจแห่งอนาคต ทั้ง AI, EV อุปกรณ์รถของ EV รวมถึงเซมิคอนดักเตอร์ (Semiconductor) นอกจากนี้ เราทราบดีว่าไทยกำลังเริ่มในเรื่องนี้ ซึ่งอาจจะช้าไปบ้างแต่ไม่สายเกินไป จะมีการสร้างคนให้ไปเรียนในระดับมหาวิทยาลัย 280,000 คน ภายใน 5 ปี เพื่อให้ไทยพร้อมสำหรับธุรกิจในอนาคตนี้ ขอมอบหมาย นายพีระพันธุ์ และนายประเสริฐ เนื่องจากเกี่ยวเนื่องกับ AI และ Green Energy (พลังงานสีเขียว) เพราะต้องทำเรื่องการประหยัดพลังงานควบคู่ไปด้วย เพื่อให้ราคาของประเทศพร้อมที่จะแข่งขันได้ในเวทีโลก

ในตอนท้ายของช่วงแรก นายกรัฐมนตรี ระบุถึงเรื่องที่จะต้องทำควบคู่กันไป ทั้งครัวไทยสู่ครัวโลก, ลอจิสติกส์, ซอฟต์พาวเวอร์ และแน่นอนที่เคยประกาศไว้ว่า จะเปลี่ยนประเทศนี้ให้เป็นเฟสติวัลคันทรี่ (Festival Country) ให้สามารถท่องเที่ยวได้ทั้งปี เป็นเป้าหมายที่รัฐบาลจะทำต่อไปอย่างเข้มข้น ต้องการให้เงินเข้ามาในประเทศทุกเดือน ไม่อยากมีให้โลว์ซีซั่นหรือมีให้น้อยที่สุด นี่คือความตั้งใจ ที่กล่าวมาเป็นภาพใหญ่ในปี 2570 ว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง นโยบายต่างๆ ต้องจับต้องได้ ปี 2568 โอกาสของประเทศไทยจะต้องทำได้จริง และจะเป็นปีแห่งโอกาสของคนไทยทุกคน.