รองปลัดกระทรวงเกษตรฯ ลงนามข้อตกลง ให้ “เกษตรกร” ใช้โฉนดเพื่อการเกษตร ค้ำประกันสหกรณ์ได้แล้ว ส.ป.ก. คาด 10 สหกรณ์นําร่อง เพิ่มมูลค่าได้ 2,000 ล้านบาท

นายเศรษฐเกียรติ กระจ่างวงษ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีลงนาม บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เรื่อง การใช้โฉนดเพื่อการเกษตรเป็นหลักประกันสินเชื่อกับสหกรณ์ที่เกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน เป็นสมาชิก ระหว่าง สํานักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) และสหกรณ์ในเขตปฏิรูปที่ดิน  ที่ ศูนย์ส่งเสริม และพัฒนาอาชีพเสริมนอกภาคการเกษตร สํานักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา

ตามที่รัฐบาลมีนโนบายที่ต้องการให้ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์เพื่อสร้างโอกาสในการมีอาชีพ รายได้ และความมั่นคงในชีวิต โดยการยกระดับเอกสารสิทธิที่ดินจากหนังสืออนุญาตให้เข้าทําประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน หรือ ส.ป.ก. 4-01 เป็นโฉนดเพื่อการเกษตร พร้อมขยายสิทธิการใช้ประโยชน์ให้เป็นที่ยอมรับเพื่อเพิ่มมูลค่าและใช้ค้ำประกันสินเชื่อกับสถาบันการเงินได้อย่างกว้างขวางมากขึ้น ส.ป.ก. จึงได้ร่วมมือกับกรมส่งเสริมสหกรณ์ยกร่างต้นแบบบันทึกข้อตกลง พร้อมประชาสัมพันธ์เชิญชวนสหกรณ์ที่มีเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินเป็นสมาชิกมาร่วมลงนาม

นายเศรษฐเกียรติ เปิดเผยว่า วันนี้มีสหกรณ์ในเขตปฏิรูปที่ดิน จํานวน 10 แห่ง จากทุกภาคของประเทศ มาร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ ส.ป.ก. ซึ่งสหกรณ์ทั้ง 10 แห่งนี้ มีเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินเป็นสมาชิก จํานวน 4,380 ราย คิดเป็นวงเงินกู้สูงสุด 2,000 ล้านบาท ทั้งนี้ รมว.กษ. ได้มอบนโยบายไปแล้วเมื่อวันที่ 16 กันยายนที่ผ่านมา ให้ ส.ป.ก. เร่งดําเนินการขยายสิทธิและการใช้ประโยชน์ การเพิ่มมูลค่าให้กับโฉนดเพื่อการเกษตร ตลอดจนการใช้โฉนดเพื่อการเกษตรเป็นหลักประกันสินเชื่อกับสถาบันการเงินอื่น ทั้งภาครัฐและเอกชนเพิ่มเติมอีก

สําหรับสาระสําคัญของบันทึกข้อตกลงความร่วมมือนี้ คือ “ส.ป.ก. ยินยอมให้เกษตรกรใช้เอกสาร ส.ป.ก. 4-01 และโฉนดเพื่อการเกษตรเป็นหลักประกันหนี้ของตนเองหรือคู่สมรสกับสหกรณ์ โดย ส.ป.ก. จะตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารสิทธิ พร้อมประเมินวงเงินหลักประกันให้สหกรณ์จากประเมินกรมธนารักษ์ หากเป็น ส.ป.ก. 4-01 ได้วงเงินอยู่ที่ร้อยละ 60 และร้อยละ 80 สําหรับโฉนดเพื่อการเกษตร และถ้าเกษตรกรไม่ชําระหนี้โดยไม่มีเหตุผลสมควรหรือมีเหตุจําเป็น ส.ป.ก. จะดําเนินการให้เกษตรกรชําระหนี้แก่สหกรณ์ภายใน 90 วัน พร้อมร่วมมือกับสหกรณ์ในการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ ให้แก่เกษตรกรลูกหนี้” เลขาธิการ ส.ป.ก. กล่าวเสริม

ปัจจุบัน ส.ป.ก. ได้ดําเนินการขอความร่วมมือจากหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของพี่น้องเกษตรกร เพื่อขยายสิทธิและเพิ่มมูลค่าให้กับโฉนดเพื่อการเกษตร อาทิ การเจรจากับสํานักงานตํารวจแห่งชาติ สํานักงานอัยการสูงสุด ศาลฎีกา และศาลยุติธรรม เพื่อขอใช้โฉนดเพื่อการเกษตรเป็นหลักประกันตัวบุคคลในชั้นสอบสวน ชั้นอัยการ และชั้นศาล การเจรจากับการยางแห่งประเทศไทย กองทุน/ทุนหมุนเวียนในหน่วยงานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ธนาคารในกํากับของรัฐบาล (SFls) ในการใช้โฉนดเพื่อการเกษตรเป็นหลักประกันเงินกู้ ทั้งนี้เพื่อให้พี่น้องเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในระยะยาวต่อไป