ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.สกลนคร ได้รับการสนับสนุนมาตลอดจากสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) จนประสบความสำเร็จได้ 4 ดำแห่งภูพาน ไก่ดำภูพาน, หมูดำภูพาน, โคเนื้อภูพาน และกระต่ายดำภูพาน สร้างงานสร้างเงินให้กับเกษตรกรจำนวนมาก

ล่าสุดได้มีการพัฒนาแพะดำภูพาน อันถือเป็นดำที่ 5 ว่าที่สัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่

นายสัตวแพทย์วิศุทธิ์ เอื้อกิ่งเพชร

“หลังจากได้ 4 ดำภูพานที่มีสายพันธุ์นิ่งแล้ว ศูนย์จึงคิดพัฒนาต่อยอดเพื่อให้ได้ดำที่ 5 เพื่อเป็นอีกหนทางเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร ตามพระราชปณิธานของในหลวงรัชกาลที่ 10 ในการต่อยอด เราจึงพัฒนาสายพันธุ์แพะขึ้นมา เพราะมองว่าแพะใช้พื้นที่เลี้ยงน้อย สอดคล้องกับสภาพปัจจุบัน ที่เกษตรกรถือครองพื้นที่เกษตรลดลง โดยคัดเลือกแพะที่มีลักษณะโครงสร้างสูงใหญ่ เลี้ยงง่าย โตเร็ว ให้ลูกแฝด ให้เนื้อเยอะ ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดี โดยปรับปรุงพันธุ์จากแพะ 4 สายพันธุ์ ที่มีข้อดีต่างกันไป ซึ่งต้องใช้เวลา 5 ช่วงอายุ หรืออีกกว่า 3 ปี จึงจะได้แพะดำภูพานที่มีสายพันธุ์นิ่ง”

นายสัตวแพทย์วิศุทธิ์ เอื้อกิ่งเพชร หัวหน้างานศึกษาและพัฒนาด้านปศุสัตว์ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.สกลนคร บอกถึงที่มาของแพะดำภูพาน ว่าที่ดำที่ 5 โดยใช้เวลาพัฒนามากว่า 1 ปี

ได้มีการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์สัตว์เพื่อมุ่งหวังให้เป็นสัตว์เศรษฐกิจมาอย่างต่อเนื่อง แม้หลายอย่างจะไม่ประสบผลสำเร็จ แต่เราก็ยึดหลักของในหลวงรัชกาลที่ 9 “ขาดทุนคือกำไร” ภายใต้โจทย์ 5 ข้อ ที่พระองค์ท่านพระราชทาน

พันธุ์สัตว์ต้องง่ายทั้งการเลี้ยง การดูแล การขยายพันธุ์, อาหารสัตว์ต้องหาง่ายในท้องถิ่น, เทคโนโลยีต้องง่ายไม่ซับซ้อน เกษตรกรสามารถเข้าถึงได้ ทำได้เอง, สัตว์ต้องเลี้ยงง่าย ทนต่อสภาพอากาศ โรคระบาดได้ดี และสำคัญที่สุดคือ เลี้ยงแล้วต้องกินได้ ขายได้ มีกำไร
ทางศูนย์จึงได้ต่อยอดพัฒนาแพะดำภูพานจากแพะ 4 สายพันธุ์ ได้แก่ แพะพันธุ์บอร์ดำ ที่มีขนาดใหญ่ ขนสีดำ ให้ลูกเฉลี่ย 1-2 ตัว, แพะพันธุ์คาลาฮารีเรด ที่มีลำตัวใหญ่ ขนสีน้ำตาล สันจมูกงุ้ม, แพะพันธุ์จัมนาบารี ที่มีโครงร่างสูงใหญ่สูงได้ถึง 100 ซม. ขนสั้น มีหลากหลายสี ใบหูยาว เป็นแพะกึ่งเนื้อกึ่งนม และแพะแบล็คเบงกอล ที่มีขนสีดำ ให้ลูกดกครอกละ 2-3 ตัว แต่มีข้อเสียที่ตัวเล็ก เป็นแพะพระราชทานที่ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้รับจากรัฐบาลบังกลาเทศ
นายสัตวแพทย์วิศุทธิ์บอกอีกว่า ระหว่างการพัฒนาสายพันธุ์ ศูนย์จึงมีแนวคิดว่า ทำอย่างไรให้แพะไม่มีกลิ่นสาบ การศึกษาพบว่า ตามสัญชาตญาณของแพะ แพะตัวผู้วัยหนุ่มเมื่อใกล้ฤดูผสมพันธุ์จะฉี่ใส่ตัวเมีย เพื่อจับจองไว้เป็นเจ้าของ ฉี่จึงติดกับเนื้อแพะ ทำให้มีกลิ่นสาบ

ฉะนั้นเมื่อแพะที่จะนำไปขุนเป็นแพะเนื้อมีอายุได้ 8-9 เดือน จะทำการตอน เพื่อไม่ให้มีความรู้สึกทางเพศ จากนั้นจับแยกฝูงจากตัวผู้ที่ยังไม่ตอน ส่วนตัวเมียและแพะที่จะเก็บไว้ทำพ่อแม่พันธุ์จะไม่ตอน พร้อมไปกับพัฒนาสูตรอาหารจำพวกแพะ ที่ใช้วัตถุดิบที่หาได้ในพื้นที่.