นครราชสีมา-ควบคุมโรคที่ 9 เตือนประชาชน เปิบหมูดิบ เสี่ยงป่วยไข้หูดับตลอดชีวิตหรือเสียชีวิตได้ เผย ตัวเลขผู้ป่วย 4 จังหวัดอีสานใต้ รอบเดือน พ.ค.-10 มิ.ย.67 พบป่วยแล้ว 74 ราย ตาย 2 ราย
เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2567 นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา เปิดเผยว่า ช่วงนี้พบผู้ป่วยและเสียชีวิตจากโรคไข้หูดับเพิ่มขึ้นจำนวนมาก จากการบริโภคหมูดิบ ลาบเลือดดิบ ก้อยดิบ แหนมหมูดิบ และดื่มสุราร่วมกับกินอาหารสุกๆดิบๆ รวมไปถึง พ่อครัว แม่ครัว ผู้ปรุงอาหารที่มีบาดแผลแล้วไปสัมผัสเนื้อหมูหรือเลือดหมูดิบๆ ที่มีเชื้อ ทำให้เสี่ยงติดเชื้อโรคไข้หูดับได้
ซึ่งโรคไข้หูดับ เกิดจากเชื้อแบคทีเรียสเตรปโตคอกคัส ซูอิส (Streptococcus suis) จะอยู่ในทางเดินหายใจของหมูและเลือดของหมูที่กำลังป่วย สามารถติดต่อได้ 2 ทาง คือ จากการบริโภคเนื้อและเลือดหมูที่ปรุงแบบดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ และการสัมผัสกับหมูที่ติดเชื้อ ทั้งเนื้อหมู เครื่องใน และเลือดหมูที่เป็นโรค โดยเชื้อจะเข้าทางบาดแผล รอยขีดข่วนตามร่างกายหรือทางเยื่อบุตา หรือการสัมผัสเลือดของหมูที่กำลังป่วย เมื่อได้รับเชื้อ 1-14 วัน ผู้ป่วยจะมีไข้สูง ปวดศีรษะอย่างรุนแรง เวียนศีรษะจนทรงตัวไม่ได้ อาเจียน คอแข็ง สูญเสียการได้ยิน ในรายที่เป็นรุนแรงอาจเสียชีวิตได้
โดยสถานการณ์โรคหูดับ ในเขตสุขภาพที่ 9 ตั้งแต่วันที่ 7 มกราคม 2567 ถึง 10 มิถุนายน 2567 พบผู้ป่วยโรค ไข้หูดับ จำนวน 74 ราย และมีผู้เสียชีวิตแล้ว 2 ราย เมื่อแยกเป็นรายจังหวัด พบว่า จังหวัดนครราชสีมา มีผู้ป่วย 36 ราย เสียชีวิต 1 ราย , จังหวัดชัยภูมิ มีผู้ป่วย 16 ราย เสียชีวิต 1 ราย , จังหวัดสุรินทร์ มีผู้ป่วย 12 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต และ จังหวัดบุรีรัมย์ มีผู้ป่วย 10 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต โดยกลุ่มอายุที่พบสูงสุดคือ กลุ่มอายุ 65 ปี ขึ้นไป รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 55-64 ปี และกลุ่มอายุ 45-54 ปี ตามลำดับ
ทั้งนี้จึงขอย้ำเตือนประชาชนให้รับประทานเนื้อหมูหรือเลือดหมูที่ปรุงสุกเท่านั้น ผ่านความร้อนอย่างน้อย 60-70 องศาเซลเซียส ในเวลา 10 นาที ส่วนการรับประทานอาหารปิ้งย่าง ควรใช้อุปกรณ์ในการคีบเนื้อหมูดิบและเนื้อหมูสุกแยกจากกัน และยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” , อย่าใช้วิธีบีบมะนาวเพื่อให้หมูสุกเพราะเป็นความเชื่อที่ผิด ,ไม่ควรรับประทานหมูดิบร่วมกับการดื่มสุรา .ให้เลือกซื้อเนื้อหมูจากแหล่งที่มีมาตรฐาน เชื่อถือได้ และไม่ซื้อเนื้อหมูที่มีกลิ่นคาว สีคล้ำ , ไม่สัมผัสเนื้อหมูและเลือดดิบด้วยมือเปล่า โดยเฉพาะผู้เลี้ยงหมู ผู้ที่ทำงานในโรงฆ่าสัตว์ ผู้ที่ชำแหละเนื้อหมู สัตวบาล สัตวแพทย์ ขณะทำงานควรสวมรองเท้าบูทยาง และสวมถุงมือ หากมีบาดแผลต้องปิดแผลให้มิดชิด และล้างมือหลังสัมผัสหมูทุกครั้ง
หากมีอาการป่วย สงสัยโรคไข้หูดับโดยมีไข้สูง ปวดศีรษะ ร่วมกับประวัติเสี่ยง ขอให้รีบไปพบแพทย์ทันที แจ้งประวัติการกินหมูดิบและสัมผัสเนื้อหมูดิบให้ทราบ หากมาพบแพทย์และวินิจฉัยได้เร็ว ได้รับยาปฏิชีวนะเร็วจะช่วยลดอัตราการเกิดหูหนวกและการเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงหากติดเชื้อ จะมีอาการป่วยรุนแรงเพราะร่างกายมีภูมิต้านทานโรคต่ำ ได้แก่ ผู้ติดสุราเรื้อรัง ผู้มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไต โรคมะเร็ง โรคหัวใจ หรือผู้ที่เคยตัดม้ามออก เป็นต้น สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422
โดย..ประสิทธิ์ ตั้งประเสริฐ / นครราชสีมา