นายอนันต์ นาคนิยม ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ พร้อมด้วยนายภูรินทร์ พ่วงชิงงาม นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดชัยภูมิ ได้เดินทางไปติดตามความคืบหน้าโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตแบบอารยเกษตร ตามแนวพระราชดำริ ณ วัดพระธาตุชัยภูมิ อำเภอแก้งคร้อ จังหวัดชัยภูมิ เพื่อสร้างเป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ให้กับพี่น้องประชาชนชาวชัยภูมิ ได้มีศูนย์กลางของการแลกเปลี่ยนความรู้แบบอารยเกษตรเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้มีความยั่งยืน

นายอนันต์ กล่าวต่ว่า ในปัจจุบันโครงการดังกล่าว ได้ดำเนินการขุดคลองไส้ไก่รูปเลข ๙ สำหรับกักเก็บน้ำ คาดว่าจะเก็บน้ำได้ตามเป้าปริมาณ 10,000 ลูกบาศก์เมตร และทำฝายชะลอน้ำจำนวน 9 จุด คิดปริมาณงานที่ดำเนินการไปแล้วกว่าร้อยละ 50 โดยสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดชัยภูมิได้ใช้อากาศยานไร้คนขับ (Drone) ถ่ายภาพมุมสูงเพื่อสำรวจพื้นที่วางแผนขั้นตอนการดำเนินงานในช่วงฤดูฝน ซึ่งในต้นเดือนมิถุนายน 2567 จะทำการเพิ่มขอบคันดินคลองไส้ไก่รูปเลข ๙ ปูพลาสติกในคลองไส้ไก่ ปลูกหญ้าแฝกกันดินสไลด์ ปลูกถั่วบราซิลคลุมดิน และทำนาขั้นบันได 9 ชั้น เพิ่มเติมให้สมบูรณ์อีกด้วย

สำหรับ โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตแบบอารยเกษตร ตามแนวพระราชดำริ วัดพระธาตุชัยภูมิ ได้รับเมตตาจากท่านเจ้าคุณพระราชมหาเจติยาภิบาล (ต่อศักดิ์ สุนฺทรวาที) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดอรุณราชวราราม รักษาการเจ้าอาวาสวัดโบสถ์ ประธานโครงการก่อสร้างวัดพระธาตุชัยภูมิ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้สถานที่นี้เป็นพื้นที่แปลงนาสาธิต สำหรับการเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตร ที่มีการสร้างแหล่งน้ำไว้สำหรับกักเก็บน้ำ ซึ่งมีการกำหนดตำแหน่งขอบเขตพื้นที่ของอาคารศูนย์การเรียนรู้ เพื่อเป็นต้นแบบอารยเกษตร มีการจัดภูมิทัศน์ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับการใช้ประโยชน์พื้นที่อย่างคุ้มค่า มีประสิทธิภาพ ได้ประโยชน์สูงสุด โดยโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตแบบอารยเกษตร ตามแนวพระราชดำริแห่งนี้ จะสามารถเป็นแหล่งเรียนรู้และท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัดชัยภูมิได้ในอนาคต นายอนันต์ฯ กล่าว

ทั้งนี้ โครงการ พัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตแบบอารยเกษตร ตามแนวพระราชดำริ ถือกำเนิดขึ้น โดยพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงคิดค้นทฤษฎีใหม่เป็นจำนวนมากเพื่อยังคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนให้กับพสกนิกรของพระองค์ ทั้งนี้ เกษตรทฤษฎีใหม่เป็น 1 ใน 40 ทฤษฎี ธรรมชาติมีแหล่งน้ำ มีนา ปลูกข้าวกินเอง เลี้ยงสัตว์ไว้เป็นอาหาร มีไม้ยืนต้น พืชผักสวนครัว โดยทรงให้ความสำคัญกับแหล่งน้ำ เพราะ “น้ำคือชีวิต” จึงทรงหาวิธีการที่ทำให้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีโดยทำให้พื้นที่ทำมาหากินต้องมีน้ำและมีการจัดสรรพื้นที่ในการทำประโยชน์อย่างสมดุล รวมทั้งพระองค์ท่านทรงคิดทฤษฎีใหม่อื่น ๆ อาทิ เลี้ยงดินให้ดินเลี้ยงพืช ป่าเปียก หลุมขนมครก อธรรมปราบอธรรม โดยต่อมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชปณิธานในการสืบสาน รักษา และต่อยอด จึงพระราชทานโครงการโคก หนอง นา ซึ่งเป็นโครงการที่ประยุกต์และต่อยอดมาจากการเกษตรทฤษฎีใหม่ของพระบรมราชชนก

ต่อมากระทรวงมหาดไทยได้น้อมนำไปขับเคลื่อน โดยเป็นนโยบายหลักให้ทุกจังหวัด อำเภอ หมู่บ้าน ได้ร่วมกันดำเนินการ “โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา” หรือโครงการ “อารยเกษตร” ซึ่งจะช่วยทำให้พื้นที่ที่เราพัฒนาแล้วจะเกิดความสวยงาม ทั้งภาพลักษณ์ และอรรถประโยชน์ มองทางไหนก็มีความสวยงาม สบายตา เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ มีคลองไส้ไก่คดเคี้ยวเลี้ยวลด มีผืนแผ่นดินทำมาหากิน อยู่อาศัย ที่มีต้นไม้สูง กลาง ต่ำ เตี้ย เรี่ยดิน อันจะทำให้คนมีกิน มีใช้ และดูแลให้คนในครอบครัวมีความสุข

“ในฐานะที่จังหวัดชัยภูมิเป็นหนึ่งในภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนงานอารยเกษตร วันนี้ตนจึงอยากเป็นกำลังใจให้กับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ปราชญ์ชาวบ้าน ภาคีเครือข่ายโคก หนอง นา ที่ได้ช่วยกันพัฒนาพื้นที่ต้นแบบให้มีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง และขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนชาวจังหวัดชัยภูมิที่สนใจได้เข้ามาศึกษา ถ่ายทอดประสบการณ์ และร่วมกันเรียนรู้ รักษา ต่อยอด ภูมิปัญญาในด้านเกษตรกรรม เพื่อนำไปประยุกต์ใช้พัฒนาพื้นที่ทำการเกษตรของตนให้เกิดประโยชน์สูงสุดสร้างงาน สร้างคุณค่า สร้างรายได้ ให้ทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีสังคมและชุมชนที่ดียั่งยืนสืบไป” นายอนันต์ กล่าวเชิญชวน