นพ.อภิชาต วชิรพันธ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากข้อมูลกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ปี พ.ศ.2567 มีรายงานผู้เสียชีวิตจากโรคลมร้อนหรือฮีทสโตรก 61 คน จากทุกภาคทั่วประเทศ สูงสุดในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 33 คน ภาคกลางและภาคตะวันตก 13 คน และภาคเหนือ 10 คน ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อายุอยู่ในช่วงวัยทำงานและสูงอายุ เพศชายมากกว่าเพศหญิง ส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้างและเกษตรกรรม โดยมีปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เสียชีวิต คือ ร้อยละ 49.2 มีโรคประจำตัว, ร้อยละ 62.1 ดื่มสุราเป็นประจำ, ร้อยละ 27.6 ทำงานกลางแจ้ง กลุ่มที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ คือ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ คนอ้วนและผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นักกีฬา คนงานก่อสร้าง เกษตรกร หรือทหารที่ต้องทำกิจกรรมกลางแจ้งเป็นเวลานาน

นพ.อภิชาต กล่าวต่อว่า กรณีพบเห็นผู้ป่วยมีอาการตัวร้อนจัดแต่ไม่มีเหงื่อ ผิวหนังแดง หัวใจเต้นเร็วและแรง ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ สับสน พูดจาไม่รู้เรื่อง เป็นลม หมดสติ ให้สงสัยเบื้องต้นว่าเป็นฮีทสโตรก และให้ยึดหลักในการปฐมพยาบาล คือ ทำให้อุณหภูมิร่างกายลดลงให้เร็วที่สุดก่อนนำส่งโรงพยาบาล เช่น ย้ายผู้ป่วยมาในที่ร่ม นอนหงาย ยกขาสูง ถอดเสื้อผ้า แล้วใช้ผ้าชุบน้ำเย็นหรือน้ำแข็งประคบบริเวณหลังคอ รักแร้ ขาหนีบ และใช้พัดลมเป่าระบายความร้อน หากผู้ป่วยยังรู้สึกตัวอยู่ให้ดื่มน้ำ/น้ำเกลือแร่ แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาล หรือขอความช่วยเหลือที่เบอร์ 1669.