จากกรณีที่นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รมว.อุตสาหกรรม ได้สั่งการให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เร่งแก้ไขปรับปรุงมาตรฐานสุราพื้นบ้าน เพื่อยกระดับสินค้าชุมชนให้มีคุณภาพได้มาตรฐาน และมีความปลอดภัย สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนและนักท่องเที่ยว สอดคล้องตามนโยบายรัฐบาล ในการส่งเสริมและสนับสนุนผู้ผลิตสุราชุมชน พร้อมทั้งผลักดันให้ผลิตภัณฑ์สุรากลั่นชุมชนและสุราแช่พื้นบ้าน เป็นซอฟต์เพาเวอร์ เพื่อเป็นการเสริมสร้างภาพลักษณ์การเป็นจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยว หรือเป็นศูนย์กลางด้านร้านอาหารและเครื่องดื่มของโลกนั้น

ส่งผลให้มีวิสากิจชุมชน และสถาบันการศึกษาต่างๆ พาคณะมาศึกษาเรียนรู้วิธีทำสุราพื้นบ้านที่ร้านฮอปเบียร์เฮ้าส์ ถนนสิรินคร ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครราชสีมา กันอย่างคึกคัก เช่นมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม วิทยาเขตชัยนาท ก็ได้นำคณะเกษตรกรและผู้นำชุมชนในพื้นที่ ต.โพนางดำตก จ.ชัยนาท จำนวนกว่า 20 คน มาศึกษาเรียนรู้การเพิ่มมูลค่าผลทางการเกษตรที่สำคัญของตำบล คือตาลโตนด โดยสามารถนำมาทำเป็นเครื่องดื่มหลายชนิด ทั้งเครื่องดื่มที่ไร้แอลกอฮอล์ และเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ ซึ่งทางร้านฮอปเบียร์มีระบบฝึกอบรมการแปรรูปให้ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ นอกจากนี้ยังได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมมือ (MOU) ระหว่างมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม กับบริษัทโคราชไมโครบรู จำกัด เพื่อพัฒนาและยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชน ให้มีมาตรฐานสากล ต่อยอดสู่การเป็นซอฟต์เพาเวอร์ ตามนโยบายของรัฐบาลอีกด้วย

นายมงคล ศรีธรรมมา เจ้าของร้านฮอปเบียร์เฮ้าส์ บอกว่า โดยส่วนตัวแล้วเห็นด้วยที่รัฐบาลจะมีการแก้ไขปรับปรุงมาตรฐานสุราพื้นบ้าน เพื่อยกระดับสินค้าชุมชนของไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล เพราะการจะเป็นซอฟต์เพาเวอร์ได้นั้น ต้องมีคุณภาพทั้งด้านวัตถุดิบ ขั้นตอนการผลิต และรสชาติที่ดีด้วย ถ้าจะให้มาหมักกันเองเหมือนในอดีต แล้วไปขายแข่งกับสุราพื้นเมืองของต่างประเทศที่เขามีมาตรฐานสูงกว่า เราคงจะสู้เขาไม่ได้แน่นอน ดังนั้นการยกระดับมาตรฐานการผลิตจึงส่งผลดีต่อภาพลักษณ์สุราพื้นบ้านไทยได้มาก

โดยการยกระดับนั้นต้องใช้เทคโนโลยี ใช้นวัตกรรม และองค์ความรู้ที่ถูกต้องด้วย ไม่ใช่ไปหมัก ไปกลั่นแบบมั่วๆ โดยไม่มีสูตรที่ชัดเจน ก็จะได้แต่น้ำเมาเท่านั้น นำไปดื่มเองได้ แต่ขายไม่ได้แน่นอน เพราะคุณภาพ และรสชาติไม่คงที่ อย่างเช่นสุราพื้นเมืองที่ จ.ชัยภูมิทำ ขายดีมาก ต่างชาติชื่นชอบมาก เพราะรสชาติดี เนื่องจากเขามีองค์ความรู้ที่ได้ไปศึกษามาจากต่างประเทศ และใช้เทคโนโลยีในการผลิต ทำให้ได้รสชาติดี ตรงตามความต้องการของตลาด นอกจากสุรากลั่นแล้ว ยังมีเรื่องของฟรุ๊ตไวน์ ที่จะสามารถมาช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับผลไม้ไทยได้ทุกชนิด เพราะที่ผ่านมาเราจะเห็นว่าประเทศไทย มีปัญหาเรื่องของราคาผลไม้ตกต่ำ จนเกษตรกรต้องนำผลไม้มาเทประท้วงกลางถนนบ่อยครั้ง สาเหตุเนื่องจากแต่ละฤดูกาล จะมีผลไม้ตามฤดูกาลออกมาพร้อมกันจำนวนมาก ทำให้สินค้าล้นตลาด ราคาจึงตกต่ำ

ถ้าเราส่งเสริมให้นำผลไม้ตามฤดูกาล มาผลิตฟรุ๊ตไวน์ได้ รับรองว่าจะไม่เกิดปัญหาผลไม้ล้นตลาดแน่นอน เพราะไวน์ยิ่งหมักไว้นาน ยิ่งดี ยิ่งได้ราคาสูง ซึ่งตอนนี้ที่ร้านฮอปเบียร์เฮ้าส์ ของตนเอง ก็เปิดเป็นศูนย์เรียนรู้การแปรรูปผลไม้ชนิดต่างๆ เป็นฟรุ๊ตไวน์ รวมทั้งอบรมการผลิตสุราแช่ สุรากลั่น และการทำคราฟเบียร์ด้วย ซึ่งได้รับความสนใจจากเกษตรกรทั่วประเทศ เข้ามาอบรมแน่นทุกสัปดาห์ ถ้ารัฐบาลจะสนับสนุนให้เป็นศูนย์เรียนรู้เรื่องนี้ระดับภูมิภาค ก็พร้อมที่จะช่วยเหลือเต็มที่ ขอให้ส่งเสริมสนับสนุนอย่างจริงจัง

“ผมเองพร้อมอยู่แล้ว ซึ่งขอยืนยันว่า การทำสุราพื้นเมือง หรือฟรุ๊ตไวน์ที่ได้มาตรฐานนั้น ไม่ได้ลงทุนมากเลย ขอเพียงมีองค์ความรู้ที่ถูกต้อง และมีความมุ่งมั่นจริงๆ ทำได้ทุกคนแน่นอน และทางฮอปเบียร์เฮาส์ ก็พร้อมที่จะรับเป็น OEM ผลิตให้ผู้ประกอบการรายย่อยที่ยังไม่พร้อม เมื่อสามารถยืนด้วยตนเองแล้ว ค่อยไปทำเป็นโรงงานผลิตขนาดเล็กด้วยตนเองในภายหลังได้”นายมงคล กล่าว

โดย….ประสิทธิ์ ตั้งประเสริฐ // นครราชสีมา