กรมการขนส่งทางราง เร่งเดินหน้าหาแนวทางลดราคาค่าโดยสารระบบขนส่งทางราง เพื่อไม่เป็นภาระต่อค่าครองชีพ และการเข้าถึงการขนส่งทางรางอย่างเท่าเทียม

ดร. พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง เป็นประธานเปิดการประชุมกลุ่มย่อย ครั้งที่ 2 โครงการศึกษากำหนดอัตราค่าโดยสารขั้นสูง ค่าแรกเข้า และหลักเกณฑ์การขึ้นอัตราค่าโดยสารขนส่งมวลชนระบบราง เพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 ณ ห้องพญาไท 4 ชั้น 6 โรงแรมอีสติน แกรนด์ พญาไท กรุงเทพมหานคร

ดร.พิเชฐ กล่าวว่า ที่ผ่านมากรมการขนส่งทางรางได้ดำเนินการศึกษาวิเคราะห์โครงสร้างต้นทุนระบบราง ค่าสัมปทาน และค่าธรรมเนียมอื่น ๆ รวมทั้งรูปแบบการกำหนดอัตราค่าโดยสารระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เมืองภูมิภาค และการเดินทางระหว่างจังหวัด หลักเกณฑ์การกำหนดอัตราค่าโดยสารขั้นสูง ค่าแรกเข้า โครงสร้างอัตราค่าโดยสารของระบบขนส่งมวลชนทางรางที่เหมาะสม ตลอดจนมาตรการเพื่อส่งเสริมการเดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชนทางรางที่เหมาะสมมาอย่างต่อเนื่อง

ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายเร่งด่วน (Quick Win) ของรัฐบาลและกระทรวงคมนาคมที่ต้องการจะปรับลดอัตราค่าโดยสารเพื่อไม่เป็นภาระค่าครองชีพของประชาชน และเป็นช่องทางในการให้ประชาชนหันมาใช้ระบบขนส่งทางรางมากยิ่งขึ้น ดังที่ผ่านมา (16 ต.ค. 66) ที่มีการประกาศมาตรการปรับอัตราค่าโดยสารตามระยะทางในอัตราค่าโดยสารสูงสุด 20 บาทตลอดสายในสองสายรถไฟฟ้า ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีม่วงและสายสีแดงที่ส่งผลให้ยอดผู้โดยสารเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการเก็บสถิติปริมาณผู้โดยสาร

สำหรับการประชุมฯ ในครั้งนี้เป็นนำเสนอผลวิเคราะห์ข้อมูลที่กล่าวมาในข้างต้น รวมทั้งการหารือและรับฟังข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ จากผู้เข้าร่วมงาน เพื่อไปพัฒนาแนวทางการศึกษาการ เพื่อจัดทำหลักเกณฑ์การกำหนดอัตราค่าโดยสารขั้นสูง ค่าแรกเข้าและหลักเกณฑ์การขึ้นอัตราค่าโดยสารขนส่งมวลชนระบบราง ร่างข้อกำหนด กฎระเบียบ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดอัตราค่าโดยสารขั้นสูง ค่าแรกเข้า การขึ้นอัตราค่าโดยสารขนส่งมวลชนระบบราง ซึ่งเป็นหนึ่งในหมวดของร่างพระราชบัญญัติขนส่งทางราง พ.ศ. ….

ที่ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการเสนอคณะรัฐมนตรี ตลอดจนการส่งเสริมการเดินทางด้วยระบบขนส่งทางราง ซึ่งมาตรการทั้งหมดนี้ ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะร่วมกันขับเคลื่อนเพื่อส่งเสริมการเดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชนทางรางให้มีประสิทธิภาพ ตลอดจนเกิดมาตรการด้านภาษีที่เป็นธรรม ทั้งนี้ เพื่อรองรับการใช้บริการขนส่งมวลชนทางรางที่ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้ประชาชนผู้ใช้บริการได้เข้าถึงการให้บริการขนส่งมวลชนอย่างเท่าเทียม และตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนได้มากที่สุด