นนทบุรี -หนุ่มนักธุรกิจ ร้องตำรวจไซเบอร์ ช่วยหาตัวคนร้าย หลังถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์ อ้างเป็นเจ้าหน้าที่กรมการค้าภายใน ดูดเงินร่วม 16 ล้าน พบข้อมูลธุรกรรม เคลื่อนไหวกระจายไปกว่า 20 บัญชีม้า ก่อนจะไปสิ้นสุดที่บริษัทแห่งหนึ่งที่เปิดบังหน้า แล้วโอนเปลี่ยนสภาพเป็นสกุลเงินดิจิทัล หรือคริปโตเคอร์เรนซี
นายวัชระ ศรีจึงเจริญชัย อายุ 40 ปี หนุ่มนักธุรกิจ ผู้เสียหายที่ถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์ อ้างเป็นเจ้าหน้าที่กรมการค้าภายใน หลอกดูดเงินออกจากบัญชีร่วม 16 ล้านบาท นำเอกสารหลักฐานเข้าพบ ร.ต.อ.นิธิวิทย์ สัตตธนชัยภัทร รอง สว.(สอบสวน) กก.4 บก.สอท.2 ที่ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) เมืองทองธานี อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี เพื่อสอบปากคำและรวบรวมพยานหลักฐานในการติดตามกลุ่มบุคคลที่ร่วมขบวนและเส้นทางการเงินที่ถูกดูดออกจากบัญชีไปยังบัญชีม้าของแก๊งคอลเซ็นเตอร์
ด้าน พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. กล่าวว่าได้มอบหมายให้ พล.ต.ต.ณัฐกร ประภายนต์ ผบก.สอท.2 ดำเนินการในเรื่องนี้แล้วพร้อมให้กำชับทางพนักงานสอบสวน สอบปากคำผู้เสียหายอย่างละเอียด เบื้องต้นทางผู้เสียหายได้ถูกคนร้ายโทรศัพท์มาหา อ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ พูดชักชวนให้ผู้เสียหายอัปเดตข้อมูลของตัวเอง จากนั้นได้ส่งลิงก์ปลอมของ กรมธุรกิจพาณิชย์ (DBD) ให้ทางผู้เสียหายกรอกข้อมูลส่วนตัว หลังจากผู้เสียหายหลงเชื่อกรอกข้อมูลเสร็จสิ้นกดยืนยัน
ภายในช่วงเวลา 10 นาที เงินของผู้เสียหายมีการทำรายการถอนออกจากบัญชีของธนาคารไทยพาณิชย์ รวม 9 ครั้ง รวมเป็นเงิน 15.8 ล้านบาท ออกไปยังบัญชีม้าของกลุ่มคนร้าย จากนั้นเคลื่อนไหวกระจายไปยังบัญชีแถว 1 ถึงแถวที่ 5 รวมกว่า 20 บัญชี ก่อนจะไปสิ้นสุดที่บริษัทแห่งหนึ่งที่เปิดบังหน้า แล้วโอนเปลี่ยนสภาพเป็นสกุลเงินดิจิทัลหรือคริปโตเคอร์เรนซี อย่างไรก็ตามได้สั่งการให้เรียกบุคคลที่เกี่ยวข้องที่พบความเชื่อมโยงในเรื่องนี้มาสอบปากคำเพื่อดำเนินการต่อไปแล้ว
ขณะเดียวกัน พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษก บช.สอท. กล่าวในโพสต์เตือนภัยในเรื่องนี้ว่า ปัจจุบันยังคงพบว่ามีประชาชนหลงเชื่อตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพอย่างต่อเนื่อง โดยปรากฏเป็นข่าวในสื่อสังคมออนไลน์ กรณีผู้เสียหายถูกมิจฉาชีพอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์ ออกอุบายให้ผู้เสียหายติดตั้งแอปพลิเคชันของหน่วยงาน เพื่อเป็นการอัปเดตข้อมูลนิติบุคคล และงบการเงินของบริษัทผู้เสียหาย จากนั้นมิจฉาชีพได้ให้ผู้เสียหายเพิ่มเพื่อนทางไลน์แล้วส่งลิงก์ให้ติดตั้ง ผู้เสียหายหลงเชื่อติดตั้งแอปพลิเคชันปลอมดังกล่าว ตั้งค่าโทรศัพท์ตามที่มิจฉาชีพแจ้ง กระทั่งทำให้เงินถูกโอนออกจากบัญชีหลายครั้ง สูญเสียเงินหลายล้านบาท
ทั้งนี้ จึงขอฝากประชาสัมพันธ์ให้ทราบถึงแนวทางการป้องกันเพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพดังต่อไปนี้
1. ไม่กดลิงก์ใดๆ ที่แนบมากับข้อความสั้น (SMS) หรือกดลิงก์ติดตั้งแอปพลิเคชันต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งไฟล์ .apk เพราะอาจเป็นการดักรับข้อมูล หรือการฝังมัลแวร์ (Malware) ของมิจฉาชีพ
2. ไม่ติดตั้งโปรแกรม หรือแอปพลิเคชันที่ผู้อื่นส่งมาให้โดยเด็ดขาด แม้จะเป็นโปรแกรม หรือแอปพลิเคชันที่รู้จักก็ตาม เพราะอาจเป็นแอปพลิเคชันปลอม โดยหากต้องการใช้งานให้ทำการติดตั้งจากแหล่งที่เชื่อถือ และเป็นทางการเท่านั้น ได้แก่ App Store และ Play Store
3. โดยปกติหน่วยงานภาครัฐไม่มีนโยบายที่จะติดต่อประชาชนทางโทรศัพท์หรือทางการส่งข้อความสั้น (SMS) หากมีการติดต่อให้ขอรายละเอียดที่เกี่ยวข้องไว้เพื่อติดต่อกลับหน่วยงานนั้นๆ ด้วยตนอง และตรวจสอบนโยบายของหน่วยงาน