โดย…ทิชา รติรัตน์
ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ปริมาณผลผลิตธัญพืชลดลงไม่เป็นไปตามฤดูกาลปกติ และ สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติ เป็นอุปสรรคด้านการขนส่ง และการกักตุนธัญพืชในหลายประเทศ นับเป็นสองปัจจัยหลักที่ทำให้ “ราคาธัญพืชวัตถุดิบ” ในตลาดโลกมีราคาสูงเป็นประวัติการณ์ ทั้งยังคงมีทิศทางในเกณฑ์สูงไปอีกตลอดปี 2566 เมื่อของน้อยราคาย่อมแพงขึ้นเป็นเรื่องปกติของหลักซัพพลาย-ดีมานด์
ราคาพืชวัตถุดิบอาหารสัตว์เป็นต้นทุนหลักของอาหารสัตว์ และอาหารสัตว์ก็เป็นต้นทุนหลักของฟาร์มเลี้ยงสัตว์ มีผลโดยตรงต่อกำไร-ขาดทุน และการอยู่รอดของเกษตรกร เพราะมันต้องกระทบไปถึงราคาขายผลผลิต เมื่อต้นทุนพุ่งสูง ราคาเนื้อสัตว์ ทั้งหมู ไข่ไก่ จึงจำเป็นต้องขยับตาม เพราะไม่มีธุรกิจใดอยู่รอดได้ถ้าขายของขาดทุน ณ จุดนี้รัฐไม่ควรควบคุมราคาขายแต่ควรปล่อยให้กลไกตลาดทำงาน ควบคู่ไปกับการช่วยลดต้นทุนการผลิตให้เกษตรกร
ล่าสุด คุณพเยาว์ อริกุล นายกสมาคมการค้าผู้เลี้ยงไก่ไข่รายย่อยภาคกลาง ออกมาระบุว่า การผลิตไข่ไก่ในปัจจุบันมีต้นทุนสูงถึง 3.45-3.50 บาท/ฟอง สูงกว่าช่วงปกติถึง 30% แน่นอนว่า เกิดจากราคาธัญพืชวัตถุดิบอาหารสัตว์พุ่งสูงขึ้นอย่างมากและยืนแข็งในเกณฑ์สูงมาต่อเนื่อง โดยเฉพาะ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และกากถั่วเหลือง ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญของอาหารเลี้ยงไก่ไข่ พร้อมเรียกร้องให้รัฐเร่งหาทางแก้ไขและเปิดทางราคาขายผลผลิตให้สอดคล้องกับต้นทุน เพื่อให้เกษตรกรพอมีกำไรและทำธุรกิจฟาร์มต่อไปได้ เนื่องจากยังมีต้นทุนอื่นๆที่ล้วนขยับสูงขึ้น ทั้งพลังงาน น้ำมัน ก๊าซ หรือแม้แต่ค่าไฟฟ้า รวมถึงค่าแรงงานต่างๆภายในฟาร์ม ทำให้ส่วนต่างจากการขายไข่ทุกวันนี้แทบไม่พอจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ธนาคารที่ทยอยปรับดอกเบี้ยขาขึ้นกันออกมา
ขณะที่ คุณสิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวถึงสถานการณ์การเลี้ยงหมูในภาคอีสานว่า หลังการระบาดของ ASF ผลผลิตแม่พันธุ์ในภาคอีสานเริ่มเพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับ 70% แล้ว แม้ปริมาณหมูกำลังเพิ่มขึ้นแต่ก็มีอุปสรรคในด้านต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นจากวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่แพงขึ้น
สะท้อนมุมมองเกษตรกรทั้งในฝั่งผู้เลี้ยงไก่ไข่และผู้เลี้ยงสุกรที่กำลังเผชิญสถานการณ์เดียวกันจากปัญหาวัตถุดิบ เมื่อผนวกกับช่วงเทศกาลตรุษจีนและการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว ซึ่งมีความต้องการเนื้อหมู-ไข่ไก่มากขึ้น ทำให้ราคาหมูขยับขึ้น 3-4 บาท/กก.ในทุกภูมิภาค และราคาไข่ที่ขยับมาก่อนหน้านี้ 20 สตางค์/ฟอง อาจต้องขยับอีกหากต้นทุนยังพุ่งไม่หยุด
แนวทางที่จะช่วยประคองต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรเพื่อรักษาระดับราคาขายไม่ให้สูงจนผู้บริโภคเดือดร้อน คือการเร่งแก้ปัญหาราคาวัตถุดิบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ข้าวโพดและกากถั่วเหลือง” จาก “นโยบายรัฐ” ที่รัฐสามารถบริหารจัดการได้ทันที ซึ่งจะช่วยทั้งเกษตรกรผู้ปลูกพืชไร่ ผู้ผลิตอาหารสัตว์ เชื่อมโยงไปถึงต้นทุนการเลี้ยงสัตว์ของเกษตรกรภาคปศุสัตว์และราคาขายปลายทาง อาทิ
- การยกเลิกมาตรการควบคุมการนำเข้าข้าวสาลี 3:1 ส่วน
- การยกเลิกจำกัดเวลานำเข้าข้าวโพดจากประเทศเพื่อนบ้าน
- การยกเลิกจัดเก็บภาษีนำเข้า เช่น ภาษีกากถั่วเหลือง 2% ปลาป่น 15% DDGS 9% รวมถึง ข้าวโพดภายใต้กรอบ WTO ในโควต้า 20% นอกโควต้า 73% เป็นต้น
- เร่งพัฒนาประสิทธิภาพการปลูกข้าวโพดในประเทศเพื่อลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มปริมาณในประเทศให้มากขึ้นอย่างเพียงพอ
ปัจจุบันข้าวโพดมีราคาสูงถึง 13.40 บาท/กก. และ กากถั่วเหลืองมีราคาถึง 23.70 บาท/กก. หากรัฐไม่เร่งบริหารจัดการ คาดว่าเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ย่อมเดือดร้อนไปทุกหย่อมหญ้า และหากต้องขายในราคาไม่คุ้มทุนด้วยแล้ว คงไม่มีใครเหลือแรงพอที่จะอยู่ผลิตอาหารให้คนไทยบริโภค.