สำรวจโครงการทางหลวงปีงบประมาณ 2566 พบมีมากกว่า 40 โครงการ โคราชรอพบกับทางลอด 2 ต่างระดับ 2 ส่วนราชบุรีขยายถนนไปจอมบึงและสวนผึ้ง 4 เลน ทำถนนรอทางหลวงแนวใหม่ วังมะนาว-หนองหญ้าปล้อง ขณะที่ภาคใต้เตรียมตัดถนนใหม่ เชื่อมเพชรเกษม-เซาท์เทิร์นซีบอร์ด ด้านภาคเหนือทำถนน 4 เลน ถึงด่านห้วยโก๋น จ.น่าน
รายงานข่าวแจ้งว่า จากการตรวจสอบข้อมูลจากกลุ่มงานวิเคราะห์นโยบาย สำนักแผนงาน กรมทางหลวง พบว่าในปีงบประมาณ 2566 มีกิจกรรมก่อสร้างทางหลวงแผ่นดินที่เป็นโครงการใหม่ 20 โครงการ 28 สัญญา, กิจกรรมก่อสร้างสะพานและทางต่างระดับ 12 โครงการ, กิจกรรมแก้ไขปัญหาจราจรในพื้นที่ กทม. ปริมณฑล และเมืองหลัก 4 โครงการ, กิจกรรมก่อสร้างทางหลวงเชื่อมโยงระหว่างประเทศ 2 โครงการ 3 สัญญา, กิจกรรมบริหารจัดการลำดับชั้นทางหลวง เพื่อยกระดับประสิทธิภาพและความปลอดภัย 3 โครงการ 5 สัญญา และกิจกรรมเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการของทางหลวงสายหลัก 3 โครงการ 6 สัญญา
โดยพบว่าโครงการส่วนใหญ่เกิดขึ้นที่จังหวัดนครราชสีมามากที่สุดถึง 7 โครงการ อาทิ ก่อสร้างทางลอดแยกประโดก, ก่อสร้างทางลอดแยกนครราชสีมา, ก่อสร้างทางแยกต่างระดับแยกโชคชัย, ก่อสร้างทางแยกต่างระดับแยกหนองบัวศาลา, ขยายถนนวงแหวนรอบเมืองนครราชสีมา ช่วงที่ผ่านถนนโคกกรวด-โนนไทย และมอเตอร์เวย์บางปะอิน-นครราชสีมา, ขยายถนนสาย 224 พื้นที่ อ.ครบุรี และ อ.เสิงสาง และก่อสร้างถนนสายสีคิ้ว-อุบลราชธานี ช่วงแยกปักธงชัย ถึงแยกโชคชัย เป็นช่วงๆ
ส่วนจังหวัดราชบุรี พบว่ามีโครงการก่อสร้าง 3 โครงการ ได้แก่ ขยายถนนสายปากท่อ-ท่ายาง ต่อเนื่องถนนห้วยศาลา-หนองหญ้าปล้อง เป็น 4 ช่องจราจร เพื่อรองรับโครงการทางหลวงแนวใหม่ สายวังมะนาว-หนองหญ้าปล้อง ใช้เป็นเส้นทางสำรองสู่ภาคใต้ กรณีถนนเพชรเกษมการจราจรติดขัดหรือใช้การไม่ได้ นอกจากนี้ยังมีการขยายถนนราชบุรี-จอมบึง ต่อเนื่องด่านทับตะโก ถึงสามแยกแก้มอ้น เพื่อเป็นเส้นทางไปยังจังหวัดกาญจนบุรี และขยายถนนสายราชบุรี-สวนผึ้ง ถึงแยกชัฎป่าหวาย เพื่อรองรับการท่องเที่ยวในพื้นที่ อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี
ขณะที่ภาคใต้ พบว่ามีการก่อสร้างทางแนวใหม่ สายแยกทางหลวงหมายเลข 44 (บ.วังจา) – บรรจบทางหลวงหมายเลข 4040 (เดิม) (บ.นาเหนือ) จ.กระบี่ เป็นการตัดถนนสายใหม่ จากถนนนาเหนือ-ปากลาว และถนนเพชรเกษม อ.อ่าวลึก จ.กระบี่ ไปยังถนนเซาท์เทิร์นซีบอร์ด อ.ปลายพระยา จ.กระบี่ ช่วยย่นการเดินทางจาก จ.พังงา ไปยัง จ.สุราษฎร์ธานี จากเดิมมากถึง 30 กิโลเมตร โดยไม่ต้องผ่านตัวอำเภออ่าวลึกอีก อีกทั้งมีโครงการขยายถนนท่าศาลา-นบพิตำ จ.นครศรีธรรมราชเป็น 4 ช่องจราจร เชื่อมต่อระหว่าง อ.นบพิตำ ที่รับรถมาจาก อ.พรหมคีรี ไปยัง จ.สุราษฎร์ธานีได้
ส่วนภาคเหนือ มีโครงการหนึ่งที่น่าสนใจ ได้แก่ โครงการทางแยกต่างระดับแยกสันกลาง ระหว่างถนนเชียงใหม่-แม่ออน กับถนนวงแหวนรอบ 3 จ.เชียงใหม่, การขยายถนนสายน่าน-เฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน เป็น 4 ช่องจราจร จากบ้านปอน ต.ปอน อ.ทุ่งช้าง ถึงบริเวณจุดผ่านแดนไทย-ลาว บ้านห้วยโก๋น อ.เฉลิมพระเกียรติ ที่ยังคงเป็นถนนขนาด 2 ช่องจราจรสวนทาง ก่อนหน้านี้ได้ขยายถนนจากอนุสาวรีย์วีรกรรมพลเรือน ตำรวจทหาร อ.ทุ่งช้าง ไปสิ้นสุดที่สะพานบ้านปอน ช่วยย่นระยะเวลาการเดินทางไปยัง สปป.ลาว บริเวณจุดผ่านแดนถาวรห้วยโก๋น จากเดิมประมาณ 9 ชั่วโมงลดลงเหลือเพียง 5 ชั่วโมง
สำหรับโครงการทางหลวงที่น่าสนใจในปี 2566 ได้แก่
กิจกรรมก่อสร้างทางหลวงแผ่นดิน
1. ก่อสร้างทางแนวใหม่ สายแยกทางหลวงหมายเลข 44 (บ.วังจา) – บรรจบทางหลวงหมายเลข 4040 (เดิม) (บ.นาเหนือ) จ.กระบี่ เป็นการรก่อสร้างถนน 4 ช่องจราจร เชื่อมต่อระหว่างถนนเซาท์เทิร์นซีบอร์ด บริเวณบ้านวังจา อ.ปลายพระยา จ.กระบี่ ผ่านถนนสายอ่าวลึก-พระแสง ผ่านทางหลวงชนบท กบ.1015 แยกทางหลวงหมายเลข 4 – บ้านตัวอย่าง ผ่านถนนเพชรเกษม สิ้นสุดที่ทางหลวงหมายเลข 4040 ถนนนาเหนือ-ปากลาว อ.อ่าวลึก จ.กระบี่ ระยะทางรวมประมาณ 26 กิโลเมตร โดยการก่อสร้างแบ่งเป็น 2 ตอน งบประมาณรวม 1,900 ล้านบาท
เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ รถที่มาจากถนนเพชรเกษม อ.ทับปุด จ.พังงา เมื่อผ่านสี่แยกนาเหนือไปแล้ว สามารถใช้ถนนสายใหม่ ไปยังถนนเซาท์เทิร์นซีบอร์ด เพื่อไปยัง จ.สุราษฎร์ธานีได้ โดยไม่ต้องตรงไปทาง อ.อ่าวลึก อีก คาดว่าจะช่วยย่นระยะทางจากเดิมได้ถึง 30 กิโลเมตร จากบ้านวังจา สามารถตรงไปยัง อ.เคียนชา 54 กิโลเมตร และ จ.สุราษฎร์ธานี 96 กิโลเมตร
2. ก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 118 สายเชียงใหม่ – เชียงราย ตอน อ.แม่สรวย – บรรจบทางหลวงหมายเลข 1 จ.เชียงราย เป็นการขยายถนนเชียงใหม่ – เชียงราย เป็น 4 ช่องจราจร ตั้งแต่กิโลเมตรที่ 141 ไปออกปากทางแม่สรวย ถนนพหลโยธิน อ.แม่ลาว ระยะทางรวมประมาณ 17 กิโลเมตร พร้อมสะพานยกระดับ 3 แห่ง และออกแบบแยกปากทางแม่สรวย เป็นทางยกระดับข้ามทางแยก 1 ทิศทาง จากพะเยามุ่งหน้าเชียงราย แบ่งการก่อสร้างออกเป็น 3 ตอน งบประมาณรวม 2,200 ล้านบาท
3. ก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 224 สาย บ.โคกกรวด – บ.หนองสงวน จ.นครราชสีมา เป็นการขยายถนนเป็น 4 ช่องจราจร ในพื้นที่ อ.ครบุรี และ อ.เสิงสาง เป็นช่วงๆ ระยะทางรวมประมาณ 23.1 กิโลเมตร งบประมาณ 980 ล้านบาท เส้นทางดังกล่าวมาจากตัวเมืองนครราชสีมา มุ่งหน้าไป อ.ปะคำ และ อ.ละหานทราย จ.บุรีรัมย์ เมื่อถึงสี่แยกปะคำจะพบกับทางหลวงหมายเลข 348 จาก อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ ผ่านเขาช่องตะโก ไปยัง อ.ตาพระยา และ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว และชายแดนไทย-กัมพูชา
4. ก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 220 สาย อ.วังหิน – อ.ขุขันธ์ จ.ศรีสะเกษ เป็นการขยายถนนเป็น 4 ช่องจราจร ตั้งแต่กิโลเมตรที่ 22 หน้าสถานีตำรวจภูธรวังหิน อ.วังหิน ถึงกิโลเมตรที่ 47 หน้าสำนักงานสหกรณ์การเกษตรขุขันธ์ จำกัด เส้นทางดังกล่าวเชื่อมระหว่างตัวเมืองศรีสะเกษ กับทางหลวงหมายเลข 24 (สีคิ้ว – อุบลราชธานี) แบ่งการก่อสร้างออกเป็น 2 ตอน ระยะทางรวม 25 กิโลเมตร งบประมาณรวม 1,039 ล้านบาท
5. ก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 290 สาย บ.หนองยาง – บ.หมูสี จ.นครราชสีมา เป็นการขยายถนนวงแหวนรอบเมืองนครราชสีมา ตั้งแต่กิโลเมตรที่ 9+000 ถึง 14+825 ช่วงดังกล่าวผ่านทางแยกต่างระดับขามทะเลสอ ตัดกับถนนโคกกรวด-โนนไทย และทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 6 (บางปะอิน-นครราชสีมา) จากเดิมเป็นถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก 4 ช่องจราจร ระยะทาง 5.8 กิโลเมตร งบประมาณ 276,130,594 บาท
6. ก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 3206 และ 3510 สาย บ.ห้วยยางโทน – ทางแยกเข้าอำเภอหนองหญ้าปล้อง จ.ราชบุรี เป็นการขยายถนน 4 ช่องจราจร เพื่อรองรับโครงการทางหลวงแนวใหม่ สายวังมะนาว-หนองหญ้าปล้อง เริ่มต้นจากถนนสายปากท่อ-ท่ายาง กิโลเมตรที่ 15 จ.ราชบุรี ถึงสามแยกหนองศาลา ต่อด้วยถนนห้วยศาลา-หนองหญ้าปล้อง สิ้นสุดที่สี่แยกไปทางที่ว่าการอำเภอหนองหญ้าปล้อง จ.เพชรบุรี ใช้เป็นเส้นทางสำรองสู่ภาคใต้ กรณีถนนเพชรเกษมการจราจรติดขัดหรือใช้การไม่ได้ แบ่งการก่อสร้างออกเป็น 2 ตอน ระยะทางรวม 21.8 กิโลเมตร งบประมาณ 1,300 ล้านบาท
7. ก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 1048 สาย บ.หอรบ – บ.ทุ่งเสลี่ยม จ.สุโขทัย เป็นการขยายถนน 4 ช่องจราจร ทางหลวงหมายเลข 1048 สายดอนไชย – สวรรคโลก เชื่อมระหว่างถนนพหลโยธิน อ.เถิน จ.ลำปาง กับถนนจรดวิถีถ่อง และถนนศรีสัชนาลัย อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย เริ่มจากบริเวณ ต.กลางดง อ.ทุ่งเสลี่ยม ถึง ต.ทุ่งเสลี่ยม อ.ทุ่งเสลี่ยม และ ต.ไทยชนะศึก อ.ทุ่งเสลี่ยม ถึง ต.เขาแก้วศรีสมบูรณ์ อ.ทุ่งเสลี่ยม (ปัจจุบันถูกควบรวมเป็นทางหลวงหมายเลข 106) ระยะทางรวม 15.3 กิโลเมตร งบประมาณ 700 ล้านบาท
8. ก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 215 สายร้อยเอ็ด – อ.ท่าตูม ตอน บ.หนองแม็ก – บ.สาหร่าย จ.ร้อยเอ็ด เป็นการขยายถนน 4 ช่องจราจร เป็นตอนๆ เริ่มจากปากทางวัดปทุมวนาราม ต.คูเมือง อ.เมืองสรวง ถึงบริเวณวัดบ้านนาน้อย ต.นาใหญ่ อ.สุวรรณภูมิ และอีกตอนหนึ่งต่อเนื่องไปถึงสามแยกสุวรรณภูมิ-เมืองสรวง ต.ดอกไม้ อ.สุวรรณภูมิ อีกช่วงหนึ่งตั้งแต่ ต.สระคู อ.สุวรรณภูมิ ถึง ต.ทุ่งหลวง อ.สุวรรณภูมิ และช่วง ต.โพนครก อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์ ถึงสามแยกตาฮะ ต.ทุ่งกุลา อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์ ระยะทาง 22.560 กิโลเมตร งบประมาณ 1,129.9 ล้านบาท เชื่อมต่อทางหลวงหมายเลข 214 ผ่าน อ.ท่าตูม ไปยัง อ.จอมพระ และตัวเมืองสุรินทร์ มุ่งหน้าชายแดนไทย-กัมพูชา
9. ก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 352 สาย อ.ธัญบุรี – อ.วังน้อย ตอน บ.คลองเจ็ด – บ.วังจุฬา จ.ปทุมธานี เป็นการขยายถนนสายธัญบุรี-วังน้อย เป็น 4 ช่องจราจร ต่อจากถนนขนาด 4 ช่องจราจรเดิม เริ่มจากบ้านคลองเจ็ด ต.คลองเจ็ด อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ถึงสะพานข้ามคลองระพีพัฒน์แยกตก ต.ข้าวงาม อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ที่ปัจจุบันยังเป็นถนนขนาด 2 ช่องจราจรสวนทาง ระยะทาง 5.5 กิโลเมตร งบประมาณ 330 ล้านบาท
10. ก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 3395 สาย บ.ช่องกุ่ม – บ.โคคลาน จ.สระแก้ว เป็นการขยายถนน 4 ช่องจราจร เริ่มจากบริเวณสามแยกช่องกุ่ม-แซร์ออ ต.ช่องกุ่ม อ.วัฒนานคร ผ่านสี่แยกช่องกุ่ม (ทางหลวงสายเอเชีย AH121) สิ้นสุดที่สี่แยกโคคลาน ต.โคคลาน อ.ตาพระยา จ.สระแก้ว ไปออกถนนสาย 348 (บุรีรัมย์-ตาพระยา) มุ่งหน้า อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ แบ่งการก่อสร้างออกเป็น 2 ตอน ระยะทางรวม 28 กิโลเมตร งบประมาณรวม 1,120 ล้านบาท
11. ก่อสร้างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 106 สาย บ.แม่ป่าไผ่ – ต.แม่ตืน จ.ลำพูน เป็นการขยายถนนลำพูน-ลี้ เป็น 4 ช่องจราจร เริ่มจากต.ป่าไผ่ อ.ลี้ ถึงสามแยกแม่ตืน อ.ลี้ ระยะทาง 13.9 กิโลเมตร งบประมาณ 650 ล้านบาท
12. ก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 3087 สายราชบุรี – แก้มอ้น จ.ราชบุรี เป็นการขยายถนนเป็น 4 ช่องจราจร ต่อเนื่องจากถนนที่กำลังขยายอยู่เดิม แบ่งเป็น 3 ช่วง ผ่าน อ.เมืองราชบุรี อ.จอมบึง ผ่านแยกทุ่งกระถิน วงเวียนด่านทับตะโก สิ้นสุดที่สามแยกแก้มอ้น ต.แก้มอ้น อ.จอมบึง บรรจบกับทางหลวงหมายเลข 3209 เลี้ยวซ้ายไป จ.กาญจนบุรี เลี้ยวขวาไป อ.ท่ามะกา ระยะทาง 27.6 กิโลเมตร งบประมาณ 900 ล้านบาท
13. ก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 2074 สาย คูเมือง – พุทไธสง จ.บุรีรัมย์ เป็นการขยายถนนบุรีรัมย์-พุทไธสง พื้นที่ ต.บ้านแพ อ.คูเมือง และก่อนถึงสะพานข้ามแม่น้ำมูล ต.ปะเคียบ อ.คูเมือง ถึง ต.บ้านจาน อ.พุทไธสง ระยะทาง 3.975 กิโลเมตร งบประมาณ 229,967,221 บาท เชื่อมระหว่างตัวเมืองบุรีรัมย์ กับ อ.พุทไธสง ไปออกทางหลวงหมายเลข 202 ถนนประทาย-ยโสธร
14. ก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 2275 สาย บ.หนองพวง – บ.เนินคนธา จ.เพชรบูรณ์ เป็นการขยายถนน 4 ช่องจราจร ตั้งแต่สามแยกหนองแดง ต.กันจุ อ.บึงสามพัน ถึง ต.เพชรละคร อ.หนองไผ่ ระยะทาง 11.275 กิโลเมตร งบประมาณ 550 ล้านบาท
15. ก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 2040 สาย มหาสารคาม – อ.วาปีปทุม จ.มหาสารคาม เป็นการขยายถนนมหาสารคาม-วาปีปทุม เป็น 4 ช่องจราจร แบ่งเป็น 4 ช่วง เริ่มจาก ต.แวงน่าง อ.เมืองมหาสารคาม ถึง ต.โคกสีทองหลาง อ.วาปีปทุม เป็นช่วงๆ รวมระยะทาง 15.896 กิโลเมตร งบประมาณ 819,972,841 บาท ตรงไปยัง อ.วาปีปทุม และ อ.พยัคฆภูมิพิสัย ไปออกถนนประทาย-ยโสธร (ทางหลวงหมายเลข 202) และถนนสตึก-พยัคฆภูมิพิสัย (ทางหลวงหมายเลข 219)
16. ก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 4140 สาย อ.ท่าศาลา – อ.นบพิตำ จ.นครศรีธรรมราช เป็นการขยายถนนท่าศาลา-นบพิตำ เป็น 4 ช่องจราจร ตั้งแต่ ต.ไทยบุรี อ.ท่าศาลา ถึงสามแยกนาเหรง อ.นบพิตำ (เส้นทางไป อ.พรหมคีรี) ระยะทาง 17.5 กิโลเมตร งบประมาณ 800 ล้านบาท
17. ก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 1074 สาย บ.คอปล้อง – บ.บึงบ้าน จ.กำแพงเพชร เป็นการขยายถนนเป็น 4 ช่องจราจร ต่อเนื่องจากถนนเดิม ตั้งแต่บ้านคอปล้อง ต.วังชะโอน อ.บึงสามัคคี ถึงบ้านบึงบ้าน ต.บึงสามัคคี อ.บึงสามัคคี ระยะทาง 11.4 กิโลเมตร งบประมาณ 520 ล้านบาท เป็นเส้นทางเชื่อมระหว่างถนนพหลโยธิน อ.สลกบาตร จ.กำแพงเพชร ไปออกทางหลวงหมายเลข 117 (ถนนนครสวรรค์-พิษณุโลก) แยกหนองหัวปลวก ต.ไผ่รอบ อ.โพธิ์ประทับช้าง จ.พิจิตร
18. ก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 3208 สายเขาวัง – เหมืองผาปกค้างคาว จ.ราชบุรี เป็นการขยายถนนเป็น 4 ช่องจราจร ตั้งแต่ ต.ห้วยไผ่ อ.เมืองราชบุรี ถึงแยกชัฎป่าหวาย ต.ท่าเคย อ.สวนผึ้ง เส้นทางสู่แหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมภาคตะวันตก แบ่งการก่อสร้างออกเป็น 2 ตอน ระยะทางรวม 30 กิโลเมตร งบประมาณรวม 1,260 ล้านบาท
19. ก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 2378 สาย อ.จอมพระ – บ.ไทรงาม จ.สุรินทร์ เป็นการขยายถนนจอมพระ-สตึก เป็น 4 ช่องจราจร ตั้งแต่ อ.จอมพระ จ.สุรินทร์ ถึงสามแยกจอมพระ อ.สตึก จ.บุรีรัมย์ เชื่อมระหว่างถนนปัทมานนท์ กับถนนบุรีรัมย์-สตึก แบ่งการก่อสร้างออกเป็น 2 ตอน ระยะทางรวม 40.8 กิโลเมตร งบประมาณรวม 1,810 ล้านบาท
20. ก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 1124 สาย อ.เถิน – อ.วังชิ้น ตอน บ.ปางกุ่ม – อ.วังชิ้น จ.แพร่ เป็นการขยายถนนเถิน-วังชิ้น เป็น 4 ช่องจราจร จาก อ.เถิน จ.ลำปาง ยกเว้นบางช่วงที่เป็นทางขึ้น-ลงภูเขา ถึง ต.สรอย อ.วังชิ้น จ.แพร่ และช่วงหน้าโรงเรียนวังชิ้นวิทยา ต.วังชิ้น อ.วังชิ้น ระยะทางรวม 26.327 กิโลเมตร งบประมาณ 550 ล้านบาท เส้นทางนี้เชื่อมระหว่างถนนพหลโยธิน อ.เถิน กับถนนลอง-วังชิ้น สามารถไปออกทางหลวงหมายเลข 11 (ถนนวชิราวุธดำเนิน) บริเวณสี่แยกแม่แขม จ.แพร่
กิจกรรมก่อสร้างสะพานและทางต่างระดับ (ตัวเลขงบประมาณ เฉพาะปีงบประมาณ 2566)
1. ก่อสร้างทางลอดจุดตัดทางหลวงหมายเลข 2 ตัดถนนช้างเผือก ตัดถนนสิริราชธานี (แยกประโดก) จ.นครราชสีมา งบประมาณ 170 ล้านบาท ลักษณะเป็นทางลอดขนาดฝั่งละ 3 ช่องจราจร ทิศทางระหว่างไปจังหวัดสระบุรี กับไปจังหวัดขอนแก่น ด้านบนเป็นสี่แยกไฟแดง ถนนช้างเผือกไปโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ถนนสิริราชธานี ไปวัดเวฬุวนาราม (โคกไผ่)
2. ก่อสร้างปรับปรุงทางแยกจุดตัดทางหลวงหมายเลข 117 ตัดทางหลวงหมายเลข 122 ตัดทางหลวงหมายเลข 225 (ทางเลี่ยงเมืองนครสวรรค์) จ.นครสวรรค์ 2 ตอน งบประมาณรวม 470 ล้านบาท จากทั้งหมด 4 ตอน เชื่อมระหว่างถนนเลี่ยงเมืองนครสวรรค์ ถนนนครสวรรค์-พิษณุโลก ไปยังถนนนครสวรรค์-ชัยภูมิ ต.ทับกฤช อ.ชุมแสง จ.นครสวรรค์
4. ก่อสร้างทางลอดจุดตัดทางหลวงหมายเลข 2 ตัดทางหลวงหมายเลข 224 (แยกนครราชสีมา) จ.นครราชสีมา งบประมาณ 96 ล้านบาท ลักษณะเป็นอุโมงค์ขนาด 2 ช่องจราจร ทิศทางจากจังหวัดขอนแก่นมุ่งหน้าไปจังหวัดสระบุรี ด้านบนเป็นสามแยกไฟแดง ระหว่างถนนมิตรภาพกับถนนราชสีมา-โชคชัย
5. ก่อสร้างทางแยกต่างระดับจุดตัดทางหลวงหมายเลข 24 ตัดทางหลวงหมายเลข 224 (แยกโชคชัย) จ.นครราชสีมา งบประมาณ 900 ล้านบาท ลักษณะเป็นสะพานข้ามแยกโชคชัย ถนนสีคิ้ว-อุบลราชธานี ฝั่งละ 2 ช่องจราจร และสะพานทิศทางจาก อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ มุ่งหน้าไปยังจังหวัดนครราชสีมา 1 สะพาน
6. ก่อสร้างทางแยกต่างระดับจุดตัดทางหลวงหมายเลข 37 ตัดทางหลวงชนบท พบ.1001 (แยกห้วยตะแปด) จ.เพชรบุรี งบประมาณ 50 ล้านบาท เป็นการก่อสร้างทางแยกต่างระดับห้วยตะแปด ถนนบายพาสชะอำ-ปราณบุรี ตัดกับถนนทางหลวงชนบท พบ.1001 (ถนนพุหวาย) เชื่อมระหว่าง ถนนเพชรเกษม กับบ้านพุหวาย
7. ก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำชี บนทางหลวงหมายเลข 2083 จ.ยโสธร งบประมาณ 36 ล้านบาท เป็นการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำชี ที่ ต.ฟ้าหยาด อ.มหาชนะชัย จ.ยโสธร
8. ก่อสร้างทางแยกต่างระดับจุดตัดทางหลวงหมายเลข 121 ตัดทางหลวงหมายเลข 1317 (แยกสันกลาง) จ.เชียงใหม่ งบประมาณ 200 ล้านบาท ลักษณะเป็นทางลอดถนนวงแหวนรอบนอกเชียงใหม่ รอบที่ 3 กับสะพานบนถนนเชียงใหม่-แม่ออน โดยระดับดินออกแบบให้เป็นวงเวียนแทนสัญญาณไฟจราจร
9. ก่อสร้างทางแยกต่างระดับจุดตัดทางหลวงหมายเลข 37 ตัดทางหลวงชนบท พบ.1010 (แยกช้างแทงกระจาด) จ.เพชรบุรี งบประมาณ 56 ล้านบาท เป็นการก่อสร้างทางแยกต่างระดับช้างแทงกระจาด ถนนบายพาสชะอำ-ปราณบุรี ตัดกับถนนทางหลวงชนบท พบ.1010 (ถนนจอมพล) เชื่อมระหว่างถนนเพชรเกษม กับบ้านช้างแทงกระจาด ออกถนนพุหวาย
10. ปรับปรุงซ่อมแซมสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบนทางหลวงหมายเลข 309 (สะพานปรีดี-ธำรง) จ.พระนครศรีอยุธยา งบประมาณ 26 ล้านบาท เป็นการปรับปรุงสะพานคอนกรีตข้ามแม่น้ำป่าสักเข้าเกาะเมืองอยุธยาแห่งแรก ซึ่งก่อสร้างและเปิดใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2486 หรือมีอายุประมาณ 80 ปี
11. ก่อสร้างปรับปรุงจุดตัดทางแยกบนทางหลวงหมายเลข 3 แยกบางพระ – คลองสุครีบ จ.ชลบุรี งบประมาณ 106 ล้านบาท เป็นการก่อสร้างสะพานข้ามคลองสุครีบ บนถนนสุขุมวิท ต.บางพระ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ให้มีจุดกลับรถใต้สะพาน พร้อมปรับปรุงทางแยกบางพระ เพื่อแก้ปัญหาการจราจร
12. ก่อสร้างทางแยกต่างระดับจุดตัดทางหลวงหมายเลข 224 ตัดทางหลวงหมายเลข 290 (แยกหนองบัวศาลา) จ.นครราชสีมา งบประมาณ 120 ล้านบาท เป็นการก่อสร้างทางแยกต่างระดับ ระหว่างถนนราชสีมา-โชคชัย กับถนนวงแหวนรอบเมืองนครราชสีมา บริเวณ ต.หนองบัวศาลา อ.เมือง จ.นครราชสีมา
กิจกรรมแก้ไขปัญหาจราจรในพื้นที่ กทม. ปริมณฑล และเมืองหลัก
1. พัฒนาคูน้ำริมถนนวิภาวดีรังสิต ระยะ 3 กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่กิโลเมตรที่ 8+700 ถึงกิโลเมตรที่ 25+500 งบประมาณ 950 ล้านบาท เป็นการพัฒนาคูน้ำริมถนนวิภาวดีรังสิต ตั้งแต่แยกดินแดง ถึงแยกอนุสรณ์สถานแห่งชาติ ฝั่งขาออก เป็นช่วงๆ ประกอบด้วยกำแพงดิน ระบบค้ำยัน คอนกรีตดาด ท่อรับน้ำเสียของสำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร ทางเท้า ราวกันตก ปรับปรุงภูมิทัศน์ และระบบไฟฟ้าส่องสว่าง
2. ก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บนทางหลวงหมายเลข 3901 และ 3902 จ.ปทุมธานี งบประมาณ 230 ล้านบาท เป็นการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บนทางคู่ขนานวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร (ด้านตะวันตก) รอยต่อระหว่าง ต.ท้ายเกาะ อ.สามโคก จ.ปทุมธานี กับ ต.โพธิ์แตง อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา ขนานไปกับสะพานเชียงราก ถนนกาญจนาภิเษกเดิม ซึ่งในอนาคตจะเป็นทางบริการ (Service Road) คู่ขนานไปกับถนนกาญจนาภิเษก ที่จะพัฒนาไปเป็นทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9 (ช่วงบางบัวทอง-บางปะอิน) ในอนาคต
3. ก่อสร้างสะพานกลับรถบนทางหลวงหมายเลข 1 บริเวณ บ.ลำไทร (ขาออก) จ.พระนครศรีอยุธยา งบประมาณ 50 ล้านบาท เป็นการก่อสร้างสะพานกลับรถบนถนนพหลโยธิน กิโลเมตรที่ 56 บ้านลำไทร ต.ลำไทร อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา
4. ก่อสร้างสะพานข้ามแยกจุดตัดทางหลวงหมายเลข 3 ตัดทางหลวงหมายเลข 3256 (แยกตำหรุ) จ.สมุทรปราการ งบประมาณ 40 ล้านบาท เป็นการก่อสร้างสะพานข้ามแยกตำหรุ จุดตัดระหว่างถนนสุขุมวิทสายเก่า กับถนนตำหรุ-บางพลี ต.บางปูใหม่ อ.เมืองฯ จ.สมุทรปราการ
กิจกรรมก่อสร้างทางหลวงเชื่อมโยงระหว่างประเทศ
1. ก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 202 สาย บ.หนองผือ – อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี เป็นการขยายถนนเป็น 4 ช่องจราจร ตั้งแต่ ต.หนองผือ อ.เขมราฐ ถึง ต.เขมราฐ อ.เขมราฐ ระยะทาง 20.2 กิโลเมตร งบประมาณ 900 ล้านบาท
2. ก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 101 สาย น่าน – อ.เฉลิมพระเกียรติ ตอน บ.ปอน – อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน เป็นการขยายถนนเป็น 4 ช่องจราจร ต่อเนื่องจากถนนเดิม ตั้งแต่ ต.ปอน อ.ทุ่งช้าง ถึงบริเวณจุดผ่านแดนไทย-ลาว บ้านห้วยโก๋น ต.ห้วยโก๋น อ.เฉลิมพระเกียรติ แบ่งการก่อสร้างออกเป็น 2 ตอน รวมระยะทาง 33.8 กิโลเมตร งบประมาณรวม 1,550 ล้านบาท
กิจกรรมบริหารจัดการลำดับชั้นทางหลวง เพื่อยกระดับประสิทธิภาพและความปลอดภัย
1. ก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 24 สาย แยกปักธงชัย – แยกโชคชัย จ.นครราชสีมา แบ่งการก่อสร้างเป็น 2 ตอน ระยะทางรวม 11.8 กิโลเมตร งบประมาณรวม 1,140 ล้านบาท
2. ก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 4 (ถนนเพชรเกษม) สาย อ.บางสะพาน – บ.น้ำรอด จ.ประจวบคีรีขันธ์ ระยะทาง 21.4 กิโลเมตร งบประมาณ 230 ล้านบาท และ ก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 4 สาย บ.ห้วยยาง – อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ระยะทาง 44.55 กิโลเมตร งบประมาณ 610 ล้านบาท
3. ก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 1 สาย แม่เชียงรายบน – ดอนไชย จ.ลำปาง ระยะทาง 10.3 กิโลเมตร งบประมาณ 280 ล้านบาท
โครงการบูรณะโครงข่ายทางหลวงเชื่อมโยงระหว่างภาค กิจกรรมเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการของทางหลวงสายหลัก
1. ก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 41 (ถนนสายเอเชีย) สาย อ.ไชยา – อ.บ้านนาเดิม (เป็นตอนๆ) จ.สุราษฎร์ธานี ตั้งแต่หลักกิโลเมตรที่ 127 ต.ป่าเว อ.ไชยา ถึงหลักกิโลเมตรที่ 195 ต.บ้านนา อ.บ้านนาเดิม แบ่งการก่อสร้างออกเป็น 3 ตอน ระยะทางรวม 41.5 กิโลเมตร งบประมาณรวม 1,860 ล้านบาท
2. ก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 347 (ถนนปทุมธานี-บางปะหัน) สาย เชียงรากน้อย – บ.เกาะเกิด จ.ปทุมธานี ตั้งแต่กิโลเมตรที่ 11+500 ต.เชียงรากน้อย อ.สามโคก ถึงกิโลเมตรที่ 24 ต.เกาะเกิด อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา ระยะทาง 12.5 กิโลเมตร งบประมาณ 900 ล้านบาท
3. ก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 317 (ถนนจันทบุรี-สระแก้ว) สาย อ.เขาฉกรรจ์ – สระแก้ว จ.สระแก้ว ตั้งแต่กิโลเมตรที่ 130+100 ต.เขาฉกรรจ์ ถึงกิโลเมตรที่ 147+600 สามแยกสระแก้ว ต.สระแก้ว อ.เมืองสระแก้ว แบ่งการก่อสร้างออกเป็น 2 ตอน รวมระยะทาง 17.5 กิโลเมตร งบประมาณรวม 1,800 ล้านบาท