ธนาคารโลก เผย การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตลอดเกือบ 3 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ชาวกัมพูชา 460,000 คน อาศัยอยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่า “เส้นความยากจน”

สำนักข่าวซินหัว รายงานจากกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ว่า ธนาคารโลก ( เวิลด์แบงก์ ) เผยแพร่รายงานชื่อ “การประเมินความยากจนของกัมพูชา มุ่งสู่กัมพูชาที่เป็นหนึ่งเดียวและยืดหยุ่นมากขึ้น” ระบุว่า ชาวกัมพูชาราว 460,000 คน มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน นับตั้งแต่โรคโควิด-19 แพร่ระบาด เมื่อปี 2563

ทั้งนี้ อัตราความยากจนของกัมพูชาลดลงจากร้อยละ 33.8 เป็นร้อยละ 17.8 ในช่วง 10 ปี ระหว่างปี 2552-2562 โดยมีชาวกัมพูชาเกือบ 2 ล้านคนหลุดพ้นจากความยากจน ทว่านับตั้งแต่ปี 2563 อัตราดังกล่าวเพิ่มขึ้น 2.8 จุด ซึ่งบ่งชี้ว่าผู้คนราว 460,000 คนมีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน

นายมาร์ยัม ซาลิม ผู้จัดการธนาคารโลกประจำกัมพูชา กล่าวว่า แม้กัมพูชาจะประสบความสำเร็จในการบรรเทาความยากจนตั้งแต่ปี 2552-2562 แต่หลายครัวเรือนยังคงเปราะบาง และมีเงินออมหรือโครงข่ายความคุ้มครองไม่มากนัก นั่นหมายความว่าโรคโควิด-19 ได้ขัดขวางความก้าวหน้าในการต่อสู้กับความยากจนของกัมพูชา เนื่องจากทำให้การจ้างงานและค่าจ้างลดลง

อย่างไรก็ตามธนาคารโลกเสนอว่า กัมพูชาอาจพิจารณาการดำเนินการทางนโยบายต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวที่ครอบคลุมและยืดหยุ่นมากขึ้นจากโรคระบาดใหญ่และผลกระทบทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็น การให้เงินช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมาย การเสริมสร้างการคุ้มครองทางสังคม ตลอดจนการลงทุนด้านสุขภาพและการศึกษา

อนึ่ง ธนาคารโลกระ บุว่า เส้นความยากจนในกัมพูชา ซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากร 16 ล้านคน อยู่ที่ระดับ 10,951 เรียล หรือราว 94 บาทต่อคนต่อวัน