แนวคิดแบบเสรีนิยมถือเป็นแนวคิดที่สำคัญที่สุดของเศรษฐศาสตร์กระแสหลักก็ว่าได้ ความเสรีที่ว่านี้หมายถึงการให้อิสระแก่บุคคลในการตัดสินใจกระทำการใด ๆ ได้ด้วยวิจารณญาณของตนเองโดยปราศจากการแทรกแซงของรัฐ ทั้งไม่ห้ามหรือต่อต้าน และไม่ส่งเสริมหรือสนับสนุน แนวคิดดังกล่าวผ่านกระบวนการวิเคราะห์จากนักเศรษฐศาสตร์มาหลายร้อยปีและถึงกับมีการพิสูจน์ด้วยเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ เช่น คณิตศาสตร์ จนได้ข้อสรุปว่า ภายใต้เงื่อนไขที่เหมาะสม แนวคิดแบบเสรีนิยมเป็นแนวคิดที่ให้ประโยชน์สูงสุดกับสังคม บทบาทของรัฐที่เหมาะสมจากมุมมองของเศรษฐศาสตร์แบบเสรีนิยมจึงตั้งอยู่บนหลักการไม่แทรกแซงกิจกรรมใด ๆ ของเอกชนซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในชื่อของกลไกตลาด หรือหากรัฐคิดจะทำอะไรบ้างก็ควรจำกัดบทบาทอยู่แต่เพียงการเอื้อให้กลไกตลาดทำงานได้อย่างสมบูรณ์เท่านั้น เช่น การให้ข้อมูลที่สมบูรณ์ครบถ้วนให้เอกชนใช้ประกอบการตัดสินใจของตนเอง
หลักการข้างต้นจะมีข้อยกเว้นอยู่บ้างในบางกรณี เช่น ในกรณีที่บุคคลมีความพอใจที่บิดเบือนในลักษณะเช่นการเห็นกงจักรเป็นดอกบัว หรือในกรณีที่การกระทำของบุคคลหนึ่งไม่ได้เป็นไปในลักษณะแบบใครทำใครได้ แต่สามารถส่งผลกระทบต่อผู้อื่นที่ไม่ได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจดังกล่าวด้วย ดังเช่นการสูบบุหรี่ที่โทษจากการสูบบุหรี่ส่งผลกระทบไม่เพียงแต่กับผู้สูบเท่านั้นแต่รวมถึงผู้ที่อยู่ข้างเคียงด้วย ในกรณีเช่นนี้รัฐย่อมควรเข้าแทรกแซงตามความเหมาะสม
หากพิจารณาหลักแนวคิดเรื่องเสรีนิยมประกอบกับข้อยกเว้นข้างต้นแล้ว อาจจำแนกสินค้าหรือกิจกรรมตามระดับและรูปแบบการแทรกแซงของรัฐได้เป็น 5 ประเภท ได้แก่
1) สิ่งที่รัฐจำเป็นต้องห้ามกระทำโดยเด็ดขาด เช่น การฆาตกรรม การทำร้ายร่างกาย หรือการลักและชิงทรัพย์ ซึ่งมักอยู่ในรูปของการตรากฎหมายห้าม และกำหนดให้ผู้ฝ่าฝืนต้องรับโทษ
2) สิ่งที่รัฐไม่ถึงกับห้าม แต่ไม่สนับสนุน เช่น สุราและบุหรี่ ซึ่งมักอยู่ในรูปของการแทรกแซงโดยผ่านกลไกราคา เช่น ภาษี
3) สิ่งที่รัฐไม่ห้ามและไม่สนับสนุน ซึ่งประกอบด้วยสินค้าหรือกิจกรรมส่วนใหญ่
4) สิ่งที่รัฐส่งเสริม เช่น การศึกษาในระดับอุดมศึกษาที่หลายรัฐบาลในหลายประเทศมีนโยบายสนับสนุนเพื่อลดต้นทุนบางส่วนแก่นักศึกษา หรือการบริโภคนมของเด็กไทยในชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษาที่รัฐบาลสนับสนุนโดยการแจกให้ฟรีกับนักเรียน และ
5) สิ่งที่รัฐจำเป็นต้องบังคับให้กระทำ เช่น การศึกษาภาคบังคับ
คำถามที่ว่ารัฐควรจัดให้ยาเสพติดเป็นกลุ่มสินค้าประเภทใดนั้นเป็นคำถามที่น่าสนใจยิ่ง หากพิจารณาธรรมชาติผู้เสพยาเสพติดที่ว่า ผู้เสพยาเสพติดจำนวนมากมักเริ่มทดลองใช้ยาเสพติดด้วยความหลงผิด การแทรกแซงการตัดสินใจใช้ยาเสพติดของบุคคลโดยไม่ปล่อยให้เป็นตามหลักเสรีนิยมจึงเป็นสิ่งที่พึงกระทำ โดยแทบทุกประเทศในอดีตต่างเลือกจัดให้ยาเสพติดอยู่ในสินค้าในประเภทที่ 1 คือเป็นสิ่งที่รัฐห้ามการใช้และการซื้อขายโดยเด็ดขาด และบัญญัติให้ผู้ฝ่าฝืนต้องรับโทษ อย่างไรก็ตาม งานวิจัยทั้งในเชิงทฤษฎีและในเชิงประจักษ์จำนวนมากกลับชี้ให้เห็นว่า นโยบายการประกาศให้ยาเสพติดผิดกฎหมายดังกล่าวซึ่งแม้จะเป็นไปด้วยเจตนาที่ดี
กลับส่งผลเสียมากกว่าผลดีเป็นอย่างมาก ทั้งในแง่ของผลในเชิงป้องปรามที่ค่อนข้างน้อยเนื่องจากการบัญญัติให้การซื้อขายยาเสพติดเป็นความผิดมักไม่สร้างความเกรงกลัวใด ๆ กับผู้ที่คิดจะฝ่าฝืน โดยเหตุที่การซื้อขายยาเสพติดมักเป็นเรื่องที่ล่วงรู้เฉพาะระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย ผลจากการสร้างตราบาปกับผู้เสพที่ทำให้ผู้เสพจำนวนมากเลิกเสพได้ยากเพราะไม่ประสงค์จะแสดงตัวตนเพื่อเข้ารับการบำบัดอย่างเปิดเผย ผลกระทบเชิงบวกต่อผู้ค้ารายใหญ่ในรูปของกำไรมหาศาลจากราคายาในตลาดมืดของธุรกิจใต้ดินที่สูงกว่าต้นทุนการผลิตหลายเท่า ผลกระทบต่อผู้ค้ารายย่อยที่ถูกจับได้และถูกลงโทษโดยการจำคุกซึ่งมักผันตัวไปเป็นผู้ค้ารายใหญ่ภายหลังการพ้นโทษจากการสร้างเครือข่ายภายในเรือนจำ ตลอดจนความเชื่อมโยงระหว่างผลประโยชน์ในตลาดยาเสพติดและการเอื้อให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชั่นของเจ้าหน้าที่ของรัฐ
ผลเสียของนโยบายซึ่งมากกว่าผลดีเช่นที่ว่านี้เป็นเหตุผลสำคัญของการปรับบทบาทของรัฐต่อการจัดการกับปัญหายาเสพติดให้มีความผ่อนปรนยิ่งขึ้น อาทิ โปรตุเกสที่กำหนดให้การเสพยาเสพติดไม่เป็นความผิดทางอาญาอีกต่อไป และบางรัฐในสหรัฐอเมริกาที่กำหนดให้การซื้อขายยาเสพติดบางประเภท เช่น กัญชา สามารถทำได้โดยเสรี
นโยบายกัญชาเสรีของไทยซึ่งหากพิจารณาเหตุผลของผู้กำหนดนโยบายที่ได้ให้สัมภาษณ์ในหลายโอกาสว่า การถอดกัญชาจากการเป็นยาเสพติดต้องห้ามเป็นไปด้วยเหตุผลที่ว่ากัญชามีประโยชน์มากกว่าโทษ แทนที่จะเป็นด้วยเหตุผลที่ว่าการบัญญัติให้กัญชาเป็นยาเสพติดต้องห้ามมีผลเสียมากกว่าผลดีนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่าเป็นการกระทำที่ถูกซึ่งตั้งบนเหตุผลข้ออ้างที่ผิด ส่งผลให้นโยบายกัญชาเสรีของไทยมีความเป็นเอกลักษณ์ที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ของประเทศใด ๆ กล่าวคือ ในขณะที่ประเทศอื่นเพียงแต่ถอดกัญชาออกจากการเป็นยาเสพติดและให้การตัดสินใจบริโภคกัญชาเป็นไปโดยวิจารณญาณของแต่ละบุคคลโดยเสรี ประเทศไทยกลับจัดประเภทของกัญชาใหม่จากสินค้าในประเภทที่ 1 ที่เคยถูกห้าม เป็นสินค้าในประเภทที่ 4 ที่รัฐสนับสนุนให้บริโภค ดังจะเห็นได้จากนโยบายการแจกกัญชา 1 ล้านต้นให้กับประชาชน ไม่ต่างจากการแจกนมให้กับเด็กนักเรียน นโยบายกัญชาเสรีของประเทศไทยจากมุมมองทางเศรษฐศาสตร์จึงดูจะเป็นนโยบายที่เกินเลยไปมาก ต่างจากนโยบายกระท่อมเสรีที่อยู่ในระดับพอดีที่หลังจากที่รัฐได้ถอดพืชกระท่อมจากการเป็นยาเสพติดต้องห้ามแล้วก็ปล่อยให้การตัดสินใจบริโภคกระท่อมเป็นการเรื่องส่วนบุคคลที่ไม่ได้ต่อต้านหรือสนับสนุนใด ๆ
สำหรับผลกระทบจากนโยบายกัญชาเสรีของประเทศไทยว่าจะเกิดผลดีมากกว่าผลเสียดังที่ผู้สนับสนุนนโยบายกล่าวอ้าง หรือเกิดผลเสียมากกว่าผลดีดังที่หลายภาคส่วนเกิดความกังวลนั้น ผลกระทบบางเรื่องเป็นสิ่งที่สามารถประเมินได้โดยทันทีด้วยความรู้ในเชิงทฤษฎี เช่น โอกาสในการสร้างให้กัญชาเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ที่สร้างรายได้ให้กับประชาชนนั้น เป็นไปได้น้อยมากในเชิงเศรษฐศาสตร์ จากกลไกตลาดที่อุปทานของกัญชาที่เพิ่มขึ้นในระยะยาวจะกดให้ราคาต่ำลง ซึ่งย่อมส่งผลให้กำไรจากการปลูกและขายกัญชาไม่ได้สูงเท่าที่ประมาณการไว้ อย่างไรก็ตาม ผลกระทบบางเรื่อง เช่น จำนวนผู้เสพหรืออันตรายจากการเสพกัญชาที่หลายฝ่ายกังวลว่าอาจเพิ่มขึ้นมากนั้น เป็นเรื่องที่ต้องอาศัยการวิจัยในเชิงประจักษ์อย่างรอบคอบซึ่งไม่อาจสรุปได้จากการเปรียบเทียบข้อมูลบางเรื่องก่อนและหลังนโยบายกัญชาเสรีอย่างผิวเผิน
อาทิ จากเหตุการณ์ไม่นานมานี้ที่เยาวชนผู้หนึ่งต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลเป็นการเร่งด่วนจากการเสพกัญชาเกินขนาด ซึ่งหลายฝ่ายสรุปว่าเป็นผลกระทบเชิงลบจากนโยบายกัญชาเสรีนั้น หากการตัดสินใจเสพกัญชาของเยาวชนดังกล่าวยังจะคงมีขึ้นไม่ว่าจะมีนโยบายกัญชาเสรีหรือไม่ก็ตาม ในลักษณะที่ว่าหากกัญชาถูกกฎหมายก็จะเสพ และหากกัญชาผิดกฎหมายก็จะแอบเสพ เหตุการณ์ในลักษณะนี้ย่อมไม่อาจนับเป็นหลักฐานในเชิงประจักษ์ที่ชี้ให้เห็นผลกระทบเชิงลบจากนโยบายกัญชาเสรีได้ นอกจากนี้ จำนวนผู้ป่วยจากการเสพกัญชาเกินขนาดที่เพิ่มขึ้นในสถานพยาบาลยังอาจสะท้อนให้เห็นผลดีจากนโยบายกัญชาเสรีที่เปิดโอกาสให้ผู้ป่วยกล้าเข้ารับการรักษาพยาบาลโดยเปิดเผยอย่างไม่ต้องเกรงกลัวความผิด ต่างจากในอดีตที่การเสพกัญชาเป็นการกระทำที่ถือเป็นความผิดทางอาญาที่ผู้ป่วยจำนวนมากอาจเลือกจัดการปัญหาด้วยตนเอง การประเมินผลกระทบจากนโยบายกัญชาเสรีในประเทศไทยให้ได้ข้อสรุปที่มีความน่าเชื่อถือจึงเป็นเรื่องทางวิชาการที่ละเอียดอ่อน ที่จำต้องศึกษาด้วยตัวแบบต่าง ๆ ที่จัดทำอย่างเป็นระบบ ภายหลังจากที่นโยบายกัญชาเสรีได้มีการดำเนินการมาเป็นระยะเวลาพอสมควร
ผมเขียนต้นฉบับนี้เสร็จภายหลังจากที่ได้รับทราบข่าวอันเป็นที่น่าเสียดายว่าหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์จะปิดตัวลงในวันรุ่งขึ้นคือในวันที่ 30 มิถุนายน 2565 ในบทส่งท้ายของบทความสุดท้ายนี้ ผมใคร่ถือโอกาสแสดงความขอบคุณพนักงานของโพสต์ทูเดย์ทุกท่านที่ได้ให้พื้นที่กับผมแสดงความเห็นผ่านบทความในเชิงวิชาการตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมา โดยแม้บทความทั้งหมดจะอยู่ภายใต้คอลัมน์ทันเศรษฐกิจ แต่ก็ไม่ได้จำกัดกรอบว่าจะต้องเป็นบทความที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจโดยทั่วไปเท่านั้น หากได้ให้เสรีภาพอย่างกว้างขวางในการเขียนบทความทางเศรษฐศาสตร์ที่ตรงกับความสนใจและความชำนาญของผู้เขียนแต่ละท่าน ซึ่งผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเป็นประโยชน์กับท่านผู้อ่านทุกท่านตามสมควร
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทองใหญ่ อัยยะวรากูล ศูนย์ศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) www.econ.nida.ac.th; tongyai.i@nida.ac.th