ประชาชนจีนอาลัย “เจียง เจ๋อหมิน” ผู้ก้าวขึ้นปกครองประเทศหลังเหตุการณ์เทียนอันเหมิน นำพาจีนผงาดขึ้นเป็นมหาอำนาจโลก ด้วยทฤษฎี “สามตัวแทน” เปิดกว้างพรรคคอมนิวนิสต์ตอบสนองความเรียกร้องต้องการของประชาชน
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ทางการจีนประกาศว่าอดีตประธานาธิบดีเจียง เจ๋อหมิน วัย 96 ปี ได้ถึงแก่อสัญกรรม ด้วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว และอวัยวะล้มเหลวหลายระบบ ที่นครเซี่ยงไฮ้ทางตะวันออกของจีน เมื่อเวลา 12.13 น. ของวันที่ 30 พ.ย.2565 ตามเวลาท้องถิ่น โดยพรรคคอมมิวนิสต์จีน ได้ออกแถลงการณ์แสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อความสูญเสียสหายผู้เป็นที่รักของปวงชน ผู้นำที่โดดเด่น และผู้มีเกียรติภูมิสูงส่งและเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย
นายเจียง เจ๋อหมิน เป็นแกนหลักของคณะผู้นำร่วมส่วนกลาง รุ่นที่ 3 ของพรรคคอมมิวนิสต์ และยังเป็นผู้ก่อตั้งหลักของทฤษฎีสามตัวแทน (Theory of Three Represents) ซึ่งเป็นแนวทางการเคลื่อนไหวปฏิวัติ และการสร้างสรรค์สังคมนิยมของจีน
อดีตผู้นำเจียง เจ๋อหมิน ถือกำเนิดเมื่อวันที่ 17 ส.ค. 2469 ที่เมืองหยางโจว มณฑลเจียงซู เขาสมรสเมื่อปี 2492 กับนางหวัง เย่ผิง หลานสาวของแม่บุญธรรมของเขาซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ที่เมืองหยาวโจวเช่นกัน ทั้งคู่มีบุตรชายด้วยกัน 2 คน หนึ่งในนั้นคือนายเจียง เมียงเฮง ผู้ก่อตั้งบริษัทเกรซ เซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง
ในช่วงที่ศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัย เขาเคยเข้าร่วมขบวนการต่อต้านญี่ปุ่น ซึ่งเขาได้พัฒนาแนวคิดและมุมมองจนเป็นนักมาร์กซิสม์ และแนวทางการดำเนินชีวิตที่มีความเชื่อในการทำงานเพื่อการปลดปล่อยของประเทศชาติและความอยู่ดีมีสุขของประชาชน โดยในวัยหนุ่มเขามีความสนใจด้านศิลปะและวรรณกรรม เขาเป็นคนที่มีนิสัยชอบเรียนรู้ และแสวงหาความจริงรู้แจ้ง มีแนวคิดในด้านการปฏิวัติและเปลี่ยนแปลง เขาจนสามารถพูดภาษาต่างประเทศได้หลายภาษา รวมไปถึงอังกฤษ และรัสเซีย
เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในผู้นำจีนจำนวนไม่มากที่สามารถพูดสื่อสารภาษาอังกฤษได้อย่างคล่องแคล่ว และคนที่มีบุคลิกที่มีสีสันมากกว่าบรรดาผู้นำจีนในอดีต นอกจากนี้เขายังเป็นที่จดจำจากการฮัมเพลงของ “เอลวิส เพรสลีย์” ราชาเพลงร็อกแอนด์โรล ระหว่างการประชุมเวทีผู้นำโลก
หลังจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเจียวตง เมื่อปี 2490 นายเจียงเข้าทำงานที่โรงงานในท้องถิ่น และเข้าร่วมในการปฏิรูปงานด้านการสื่อสารในกลุ่มคนงานและเยาวชน เขาก้าวสู่ตำแหน่งผู้บริหารโรงงานหลายแห่งในเซี่ยงไฮ้ ก่อนไปทำงานที่โรงงานสตาลิน ออโตโมบิลเวิร์ก ในกรุงมอสโก ของรัสเซียเมื่อปี 2498
ในปีต่อมาเขาเดินทางกลับประเทศจีน และรับตำแหน่งผู้บริหารโรงงานอีกหลายแห่ง รวมไปถึงดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันอู่ฮั่น ฮีพาวเวอร์ แมชีนเนอรี ที่ซึ่งต่อมาเขาได้รับตำแหน่งเลขาธิการพรรคและจัดงานเกี่ยวกับอุปกรณ์ผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ต่อมาในช่วงหลังการปฏิวัติวัฒนธรรมในช่วงปี 2513 และในปี 2530 เขาได้รับเลือกเป็นสมาชิกคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์ ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคและนายกเทศมนตรีเซี่ยงไฮ้
เจียง เจ๋อหมิน ขึ้นสู่อำนาจ แทนประธานาธิบดีเติ้ง เสี่ยวผิง เมื่อปี 2532 ท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากนานาประเทศต่อการที่กองทัพจีนใช้กำลังปราบปรามผู้ประท้วงในจัตุรัสเทียนอันเหมินภายใต้รัฐบาลประธานาธิบดีเติ้ง เสี่ยวผิง ในเวลานั้นยังเป็นช่วงที่จีนเพิ่งเปิดประเทศและปฏิรูปเศรษฐกิจให้ทันสมัย
การขึ้นสู่อำนาจของเจียง เจ๋อหมิน จึงกลายเป็นความหวังว่าเขาจะช่วยสร้างความสามัคคีและบรรเทาความตึงเครียดระหว่างกลุ่มชาตินิยมสุดโต่ง และฝ่ายที่มีแนวคิดเสรีนิยม
นายเจียง เจ๋อหมิน ยังเป็นผู้นำจีนในช่วงที่เจ้าอาณานิคมอังกฤษ ส่งมอบฮ่องกงคืนให้แก่จีนแผ่นดินใหญ่ในปี 2540 และนำพาจีนเข้าสู่การเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลกในปี 2544 ซึ่งทำให้เศรษฐกิจจีนเข้าสู่สากล จนกระทั่งจีนชนะสิทธิและได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันมหกรรมกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวในปี 2551
ในช่วงปี 2542 เขาเคยถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักต่อการปราบปรามลัทธิฝ่าหลุนกง ซึ่งพรรคคอมมิวนิสต์มองว่าลัทธินี้เป็นภัยต่อความมั่นคงของพรรค ขณะที่หลังจากวางมือทางการเมือง นายเจียง เจ๋อหมินแทบไม่ค่อยปรากฏตัวต่อสาธารณชนเลย
เคอร์รี่ บราวน์ ศาสตราจารย์ด้านจีนศึกษา แห่งมหาวิทยาลัยคิงคอลเลจ ในกรุงลอนดอน กล่าวว่า เจียง เจ๋อหมิน เป็นผู้นำพาจีนเยียวยาตัวเองหลังเหตุการณ์เทียนอันเหมิน และก้าวสู่เวทีระดับโลก เขาเป็นบุคคลสมัยใหม่ที่มีความสำคัญอย่างแท้จริงและจะเป็นที่จดจำในฐานะบุคคลมีคุณงามความดีต่อประเทศชาติ
ขณะเดียวกัน รานา มิตเตอร์ ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์และการเมืองจีนสมัยใหม่ กล่าวว่า ข่าวการเสียชีวิตของเจียง เจ๋อหมิน มีขึ้นในช่วงที่ชาวจีนออกมาประท้วงต่อต้านมาตรการโควิดที่เข้มงวด และขับไล่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ลงจากตำแหน่ง เขามองว่า การลงจากตำแหน่งของเจียง เจ๋อหมินเมื่อปี 2545 และจากไปของอดีตผู้นำจีนรายนี้ ยังเป็นการสิ้นสุดยุคสมัยทางการเมืองจีนที่รัฐบาลมองว่าภาครัฐสามารถร่วมมือร่วมใจกับประชาชนทุกฝ่ายได้.