นายปรัก สุคน รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.ต่างประเทศกัมพูชา ในฐานะทูตพิเศษอาเซียนเผยในการให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์แชนแนล นิวส์ เอเชีย ของสิงคโปร์ ว่า กำลังวางแผนเดินทางเยือนเมียนมาอย่างเป็นทางการเป็นครั้งที่ 3 ในช่วงสัปดาห์ที่ 2 ของเดือน ก.ย. ก่อนการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติที่มีกำหนดจัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 13 ก.ย. ถึง 27 ก.ย. ที่นครนิวยอร์ก ของสหรัฐฯ หรือไม่เช่นนั้นอาจเป็นช่วงต้นเดือน ต.ค. ก่อนหน้าการประชุมสุดยอดอาเซียนประจำปีในเดือน พ.ย. ซึ่งกัมพูชาเป็นประธานอาเซียนในปีนี้
ทั้งนี้ ทูตพิเศษอาเซียนยังหวังว่าจะมีโอกาสพบนางอองซาน ซูจี อดีตผู้นำทางพฤตินัยของเมียนมาหลังจากการเดินทางเยือนทั้ง 2 ครั้งที่ผ่านมาไม่ได้รับอนุญาต โดยทางการเมียนมาอ้างว่าอยู่ในระหว่างการพิจารณาคดีหลายข้อหาที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตรวมถึงโกงการเลือกตั้ง ซึ่งหากถูกตัดสินว่ามีความผิดตามข้อกล่าวหาอาจมีโทษจำคุกถึง 100 ปี และขณะนี้ถูกนำตัวไปคุมขังเดี่ยวในเรือนจำในกรุงเนปิดอว์ โดยนายปรักระบุว่า ต้องการหารือถึงมุมมองเกี่ยวกับอนาคตของเมียนมาในหลายประเด็น อย่างเช่นเธอมีแนวทางนำพาเมียนมาออกจากวิกฤติอย่างไร ด้วยเชื่อมั่นว่านางซูจียังเป็นหนึ่งในบุคคลสำคัญที่สุดของเมียนมาเพื่อสันติภาพและการปรองดองในอนาคต
อย่างไรก็ตาม นายปรักยังมองว่าการเยือนเมียนมาทั้ง 2 ครั้งมีความคืบหน้าอยู่บ้าง แม้จะยังไม่เป็นไปตามแผนก็ตาม หลังจากได้พบกับพรรคการเมืองและกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ต่างๆและได้พูดคุยปูทางสู่ความเป็นไปได้ในการเจรจาระหว่างกองทัพเมียนมาและกองกำลังที่รัฐบาลทหารระบุว่าเป็นผู้ก่อการร้าย อย่างรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) และกองกำลังพิทักษ์ประชาชน (PDF) แต่เมื่อถูกสื่อถามว่าได้เริ่มพูดคุยกับ NUG แล้วหรือไม่ นายปรักกล่าวเพียงว่าจะเปิดเผยในเวลาที่เหมาะสม ขณะนี้มีเพียงสหรัฐฯ และมาเลเซียที่มีความสัมพันธ์กับ NUG อย่างเปิดเผย
ส่วนประเด็นที่ชาติอาเซียนบางประเทศอย่างสิงคโปร์และมาเลเซียที่ออกมาเรียกร้องให้มีมาตรการเข้มงวดกดดันเมียนมามากขึ้น โดยเฉพาะสิงคโปร์ที่วิจารณ์ว่ายังไม่มีความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรมในการดำเนินการเพื่อบรรลุฉันทามติ 5 ประการ นายปรักแสดงความคิดเห็นว่าบางชาติก็ต่อต้านเมียนมามากเกินไป อาเซียนมีหลักการไม่แทรกแซง หลักการแห่งความเสมอภาค สมาชิกแต่ละประเทศมีความเท่าเทียมกัน เราต้องเคารพอธิปไตยและเราไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกิจการภายในของชาติสมาชิก ขณะที่มองว่าการยุติความรุนแรงในเมียนมาต้องอาศัยการร่วมมือลดความรุนแรงจากทุกฝ่าย ตนจึงหวังเห็นนางอองซาน ซูจีใช้บารมีเกลี้ยกล่อมกลุ่มต่างๆให้หยุดการต่อสู้