สืบเนื่องจากกรณีที่ปรากฏเป็นข่าว “ เมื่อวันที่ 21 ส.ค. ที่ผ่านมา น.ส.บี (นามสมมุติ) ได้ซื้อรถยนต์ กระบะจากศูนย์โชว์รูมขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง โดยออกรถป้ายแดง ผู้ซื้อรถได้”มัดจำป้ายแดง” ไว้จำนวน 5,000 บาท แต่ต่อมาวันที่ 6 ก.ย. ขณะขับขี่รถยนต์ป้ายแดงคันดังกล่าวอยู่บนทางด่วนบางนาบูรพาวิถี ได้ถูกเจ้าหน้าที่เรียกตรวจและถูกนำส่งพนักงานสอบสวน สภ.บางแก้ว แจ้งข้อกล่าวหา “มีและใช้เอกสารทางราชการปลอม” เนื่องจากเจ้าหน้าที่แจ้งว่าป้ายทะเบียนดังกล่าวเป็น “ ทะเบียนป้ายแดงปลอม” ถูกจับกุมเป็นผู้ต้องหาคดีอาญา ซึ่งมีอัตราโทษจำคุก 5 ปี และแม้ได้รับการประกันตัว แต่กลับมีคดีอาญาติดตัว ทั้งที่ซื้อรถป้ายแดงจากศูนย์ฯ
ตามปกติแล้ว การซื้อรถยนต์ใหม่ หรือออกรถใหม่ป้ายแดง โดยเฉพาะรถยนต์ที่ออกจากศูนย์บริการ หรือโชว์รูมขายรถยนต์ ผู้ขายหรือเซลล์ มักจะนำ “แผ่นป้ายทะเบียนป้ายแดง” ซึ่งเป็นแผ่นป้ายทะเบียนที่ กรมการขนส่งทางบกจะออกให้กับบริษัทตัวแทนจำหน่ายรถที่ได้รับใบอนุญาต เพื่อใช้ติดรถและนำรถไปส่งให้ลูกค้า หรือนำรถไปซ่อมแซมเท่านั้น โดยกรมการขนส่งทางบกจะ อนุโลมให้ใช้ป้ายแดงเป็นการชั่วคราวไม่เกิน 30 วัน นับจากวันรับรถ
แต่อย่างไรก็ตาม การใช้ “รถป้ายแดง” (แม้จะเป็นแผ่นทะเบียนป้ายแดงที่ถูกต้อง) แต่เป็นระยะเวลานาน โดยหลีกเลี่ยงไม่นำรถไปจดทะเบียนและเสียภาษีประจำปีให้ถูกต้อง เจ้าของรถถือว่ามีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ ฐาน “ใช้รถโดยไม่จดทะเบียน ซึ่งมีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท” และแผ่นป้ายทะเบียนป้ายแดงนั้น ไม่ใช่ป้ายทะเบียนส่วนบุคคลที่ผู้หนึ่งผู้ใดจะนำไปจำหน่ายหรือขายต่อหรือผลิตขึ้นใช้เองได้ และหากมีผู้ใดนำแผ่นป้ายทะเบียนป้ายแดงปลอม ( ที่ไม่ใช่แผ่นป้ายทะเบียนที่กรมการขนส่งจัดทำขึ้น) ไปติดรถยนต์ของตน เจ้าของรถก็จะมีความผิดฐาน” ปลอมและใช้เอกสารทางราชการปลอม” ซึ่งมีโทษตามกฎหมายอาญา มาตรา 265 ประกอบมาตรา 268 มีโทษถึงขั้นจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน – 5 ปี และมีโทษปรับตั้งแต่ 10,000 – 100,000 บาท ทั้งนี้ เจ้าของรถสามารถสังเกต” ป้ายแดง” ที่ออกให้โดยกรมการขนส่งทางบกนั้น ตัวแผ่นป้ายจะต้องมีตัวอักษรภาษาไทย “ ขส “ (หรือที่ย่อมาจากคำว่า กรมการขนส่ง นั่นเอง) ซึ่งมีลักษณะนูนที่มุมด้านล่างขวา และมีลายน้ำ ปรากฏในแผ่นป้ายทะเบียนรถป้ายแดงดังกล่าว
ปัญหาคือ คนซื้อรถยนต์ป้ายแดง หรือรถยนต์ใหม่ จะรู้หรือไม่ว่า แผ่นป้ายทะเบียนป้ายแดงที่ศูนย์บริการฯ หรือ โชว์รูมรถยนต์ หรือที่เซลล์นำมาติดให้กับรถยนต์ที่เราซื้อนั้น มันเป็น แผ่นป้ายทะเบียนป้ายแดงจริง หรือเป็นแผ่นป้ายทะเบียนป้ายแดงปลอม ? และหากเป็นแผ่นป้ายทะเบียนป้ายแดงปลอมก็อาจถูกจับกุมดำเนินคดีดังเช่นคดีนี้หรือไม่ ?
หลักกฎหมายในเรื่องนี้มีอยู่ว่า
1.ผู้ซื้อ รู้หรือไม่รู้ว่า แผ่นป้ายทะเบียนป้ายแดงที่ศูนย์บริการหรือโชว์รูมขายรถยนต์หรือเซลล์นำมาติดให้กับ รถยนต์คันที่เราซื้อ (ออกรถใหม่) ว่า เป็นแผ่นป้ายทะเบียนป้ายแดงปลอม
1.1 ถ้า ผู้ซื้อ รู้ว่า แผ่นป้ายทะเบียนป้ายแดงดังกล่าว เป็นแผ่นป้ายทะเบียนป้ายแดงปลอม ไม่ว่าจะเป็นการ รู้ โดยเซลล์ขายรถ หรือศูนย์บริการหรือโชว์รูมรถบอกกับผู้ซื้อแล้ว แต่ ผู้ซื้อ มีฤกษ์ออกรถและต้องการจะนำรถยนต์ออกไปใช้รถก่อน และไม่สามารถรอให้ เซลล์ หรือศุนย์บริการฯ หาแผ่นป้ายทะเบียนป้ายแดงที่แท้จริงมาติดให้กับรถยนต์คันดังกล่าวได้ทัน ทั้งนี้ เพราะแผ่นป้ายทะเบียนป้ายแดงจริงที่ศูนย์บริการหรือโชว์รูมนั้นมีอยู่แต่จำนวนไม่เพียงพอกับปริมาณการขายรถยนต์ที่มากกว่า หรือ เป็นการ รู้โดยผู้ซื้อดูเป็นและดูออกว่า เป็นแผ่นป้ายทะเบียนป้ายแดงปลอม แต่ยังสมัครใจหรือยินยอมจะนำรถยนต์ที่ติดแผ่นป้ายทะเบียนป้ายแดงปลอมออกมาใช้
เมื่อ รู้แต่ยังนำ “ แผ่นป้ายทะเบียนป้ายแดง” ซึ่งเป็นเอกสารราชการปลอม มาใช้ ก็เท่ากับ ผู้ซื้อ มีเจตนา ซึ่ง “ บุคคลใดจักต้องรับผิดทางอาญา” จักต้องกระทำ โดยมีเจตนา เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาทในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาทหรือ เว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยชัดแจ้งให้ต้องรับผิดแม้จะได้กระทำโดยไม่มีเจตนา ( ทั้งนี้เป็นไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59)
เจตนาตามกฎหมาย คือ กระทำโดยรู้สำนึกในการกระทำและในขณะเดียวกัน ผู้กระทำ ประสงค์ต่อผลหรือเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น
ถ้า ผู้ซื้อรู้ว่า แผ่นป้ายทะเบียนป้ายแดงดังกล่าวเป็นแผ่นป้ายทะเบียนป้ายแดงซึ่งเป็น “ เอกสารราชการ” ปลอม แต่ยังนำมาติดกับรถยนต์คันที่ออกใหม่เพื่อนำไปใช้ขับขี่ในทางสาธารณะจนกระทั่งถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเรียกตรวจและจับกุม ก็ถือว่า ผู้ซื้อมีเจตนาที่จะนำแผ่นป้ายทะเบียนป้ายแดงซึ่งเป็นเอกสารราชการปลอมไปใช้ ก็จะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265 ประกอบมาตรา 268 ฐาน “ ใช้เอกสารราชการปลอม “ ซึ่งมีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน – 5 ปี และมีโทษปรับตั้งแต่ 10,000 – 100,000 บาท
1.2 แต่ถ้า ผู้ซื้อไม่รู้ เช่น เซลล์ผู้ขาย หรือศูนย์บริการฯ ไม่บอกว่า “แผ่นป้ายทะเบียนป้ายแดง” ที่นำมาติดให้กับผู้ซื้อนั้น เป็น แผ่นป้ายทะเบียนป้ายแดงปลอม หรือ เซลล์ผู้ขายหรือศุนย์บริการฯ ยืนยันว่า เป็นแผ่นป้ายทะเบียนป้ายแดงจริง หรือยืนยันว่า เป็นแผ่นป้ายทะเบียนป้ายแดงจริงและหากนำไปใช้แล้วถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุม เซลล์หรือศูนย์บริการฯ ยินดีรับผิดชอบหรือ CLEAR ให้ และ ผู้ซื้อ เชื่ออย่างสุจริตใจว่า แผ่นป้ายทะเบียนป้ายแดงดังกล่าวเป็นแผ่นป้ายทะเบียนป้ายแดงจริง กรณีเช่นนี้ ถือได้ว่า ผู้ซื้อ ไม่มีเจตนา ที่จะนำ แผ่นป้ายทะเบียนป้ายแดงซึ่งเป็น เอกสารราชการปลอม ออกใช้ หรือ ขาดเจตนาตามกฎหมาย กรณีผู้ซื้อจึงไม่ต้องรับผิดในกรณีดังกล่าว เนื่องจากไม่รู้ และไม่มีเจตนานำแผ่นป้ายทะเบียนป้ายแดงซึ่งเป็นเอกสารราชการปลอมออกใช้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 ดังที่ได้กล่าวแล้ว
มาดูคำพิพากษาฎีกาที่วินิจฉัยว่า “ กรณีผู้ขายปลอมป้ายแดง ต้องรับผิดฐาน “ ปลอมและใช้เอกสารราชการปลอม ”
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11876/2556 “ ระเบียบเกี่ยวกับการใช้แผ่นป้ายทะเบียนเครื่องหมายพิเศษ (ป้ายแดง) กำหนดให้ผู้ที่สามารถใช้แผ่นป้ายทะเบียนเครื่องหมายพิเศษ (ป้ายแดง) จะต้องเป็น ผู้ประกอบการขายรถ และผ่อนผันให้ใช้แผ่นป้ายทะเบียนเครื่องหมายพิเศษ (ป้ายแดง) เป็นการชั่วคราว โดยสามารถนำมาหมุนเวียนใช้กับรถที่จำหน่ายหรือซ่อม เท่ากับจำนวนแผ่นป้ายทะเบียนเครื่องหมายพิเศษ (ป้ายแดง) ที่กรมการขนส่งทางบกออกให้แก่ผู้ประกอบการแต่ละราย โดยไม่ได้เฉพาะเจาะจงให้ใช้กับรถคันใดคันหนึ่งเท่านั้น เป็นการยืดหยุ่นและให้ประโยชน์แก่ห้างของจำเลยอยู่มากพอสมควร สำหรับกรณีที่แผ่นป้ายทะเบียนเครื่องหมายพิเศษ (ป้ายแดง) ที่กรมการขนส่งทางบกได้ออกให้ชำรุดหรือสูญหายไป ก็สามารถแจ้งต่อกรมการขนส่งทางบกเพื่อออกแผ่นป้ายใหม่โดยใช้เวลาไม่นานและมีขั้นตอนไม่ยุ่งยาก
การที่ จำเลยทำปลอมแผ่นป้ายทะเบียนเครื่องหมายพิเศษ (ป้ายแดง) ของกลางเพื่อใช้กับรถยนต์ที่ห้างของจำเลย จำหน่ายในส่วนที่เกินกว่า แผ่นป้ายทะเบียนเครื่องหมายพิเศษ (ป้ายแดง) ที่ได้รับอนุญาตจากทางราชการ เพื่อหลีกเลี่ยงค่าธรรมเนียมที่จะต้องชำระเพิ่มขึ้นสำหรับแผ่นป้ายทะเบียนเครื่องหมายพิเศษ (ป้ายแดง) ทำให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ และนำไปติดไว้ที่ด้านหน้าและด้านท้ายของรถยนต์ที่จำหน่ายให้ ท. เพื่อให้ผู้ที่พบเห็นหลงเชื่อว่ารถยนต์คันดังกล่าวเป็นรถยนต์ที่มีสิทธิใช้แผ่นป้ายทะเบียนเครื่องหมายพิเศษ (ป้ายแดง) ก – 0083 ปัตตานี โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่กรมการขนส่งทางบก นายทะเบียนยานพาหนะ ท. และ ร้อยตำรวจเอก บ. จำเลยจึงมีความผิดฐาน “ปลอมเอกสารราชการและใช้เอกสารราชการปลอม
“ แผ่นป้ายทะเบียนปลอม แค่นำมาติด แม้จะยังไม่ได้เดินทางเคลื่อนที่ ก็ผิดแล้ว”
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15446/2555
จำเลยที่1 ได้นำ แผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ปลอม ปิดทับแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ที่แท้จริง ที่ด้านหน้าและด้านท้ายของรถเพื่อใช้รถยนต์เดินทางไปที่เมืองพัทยาป้องกันมิให้ผู้ที่พบเห็นทราบหมายเลขทะเบียนรถที่แท้จริงหากเกิดอุบัติเหตุในระหว่างการเดินทาง จึงเป็นการใช้แผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ปลอมอย่างเป็นเอกสารราชการที่แท้จริง เพื่อให้ผู้อื่นหลงเชื่อว่าเป็นรถยนต์ตามแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ที่มีการทำปลอมขึ้นและที่เกิดเหตุซึ่งเจ้าพนักงานตำรวจพบการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 เป็นสถานที่เปิดเผยในทางเดินรถสาธารณะ แม้จำเลยที่ 1 ยังมิได้ใช้รถยนต์เดินทางเคลื่อนที่จากจุดเกิดเหตุที่มีการลงมือกระทำความผิดก็เป็นความผิดสำเร็จฐาน “ใช้เอกสารราชการปลอม จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดตามป.อ. มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265
เพื่อให้เกิดความเข้าใจ คำว่า “เอกสารปลอม” ในทางกฎหมาย มีความหมายว่า
1. เอกสารนั้น ไม่มีอยู่จริง แต่ผู้ปลอม ทำปลอมขึ้นมาใหม่ เสมือนว่าเอกสารดังกล่าวนั้นมีอยู่จริง เช่น ทำการปลอมเลขทะเบียนรถ ซึ่งยังไม่ได้รับอนุมัติให้เปิดใช้
2. เอกสารดังกล่าวนั้น มีอยู่แล้วแต่ไม่ใช่ของผู้ที่ทำการปลอม แล้วผู้ที่ทำการปลอมทำการปลอมเอกสารดังกล่าวนั้นขึ้น โดยไม่มีอำนาจกระทำ เช่น ทำการปลอมเลขทะเบียนซึ่งได้รับการอนุมัติจากกรมขนส่งทางบกแล้วแต่เป็นเลขทะเบียนที่ได้รับอนุญาตของบุคคลอื่น
คราวนี้ มาลองดูคำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวกับ “แผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์” ที่ควรรู้
1.กรณีที่ แผ่นป้ายทะเบียนที่ราชการทำ
1.1- ป้ายทะเบียนรถที่ทางราชการทำ และออกให้แต่นำไปใช้ติดกับ รถคันอื่น โดยมีเจตนาให้หลงเชื่อว่าเป็นรถที่มีป้ายทะเบียนดังกล่าว ไม่ผิด ฐานปลอมหรือใช้เอกสารทางราชการปลอม
แต่อาจเป็นความผิดฐาน” ใช้รถไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียนให้ถูกต้องครบถ้วน” ตามพ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ 2522 มาตรา 11 “ รถที่จดทะเบียนแล้ว ต้องมีและแสดงแผ่นป้ายและเครื่องหมายครบถ้วนถูกต้องตามที่กำหนดในกฎกระทรวง หากฝ่าฝืน มีโทษตาม มาตรา 60 โทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท
( ในกรณีนี้เกิดขึ้นมาก โดยเฉพาะคนที่มีรถยนต์หลายคัน เมื่อได้ แผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ (เลขสวย) มา ก็มักจะแอบเอา แผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ที่ราชการทำ (เลขสวย) ไปติดกับรถยนต์อีกคัน สับเปลี่ยนหมุนเวียน แล้วนำไปใช้ออกวิ่งตามท้องถนน ดังที่เคยปรากฏเป็นข่าวกรณีดาราคนดังมาแล้ว)
1.2 แผ่นป้ายทะเบียนที่ไม่ใช่ทางราชการทำ
– ป้ายทะเบียนรถที่ ไม่ใช่ทางราชการทำและออกให้ ถ้านำไปติดกับรถคันที่เป็นของตนตรงตามทะเบียนนั้น ไม่ผิดฐานปลอมหรือใช้เอกสารราชการปลอม เพราะไม่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ไม่เข้าองค์ประกอบความผิดฐานปลอมเอกสาร ( เช่น รถยนต์ของตนเอง มีหมายเลขทะเบียน 1234 กทม แต่แผ่นป้ายทะเบียน 1234 กทม ที่กรมการขนส่ง จัดทำให้ สูญหาย หรือ ชำรุดเสียหายไป แต่ไปจ้างให้เขาทำป้ายทะเบียน 1234 กทม. แล้วนำไปติดกับรถยนต์ คันหมายเลขทะเบียน 1234 กทม. ของตนที่ได้จดทะเบียนกับกรมการขนส่ง กรณีเช่นนี้ ไม่ผิดฐาน ปลอมและใช้เอกสารราชการปลอม เพราะไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น เพราะ ทะเบียนรถ 1234 กทม.ที่จัดทำขึ้นใหม่เป็นของตนเอง แล้วนำไปติดกับรถยนต์หมายเลขทะเบียน 1234 กทม. คันเดิมของตน
– ป้ายทะเบียนรถที่ไม่ใช่ทางราชการออกให้ ถ้านำไปใช้ติดกับรถคันอื่น ไม่ตรงตามหมายเลขทะเบียนที่แท้จริง เพื่อให้ผู้อื่นหลงเชื่อว่ารถคันนั้น มีหมายเลขทะเบียนเช่นนั้นจริง มีความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารปลอม เช่น ไปจ้างเขาทำ แผ่นป้ายทะเบียน 1234 กทม แล้วนำแผ่นป้ายทะเบียน 1234 กทม.ที่ไปจ้างเขาทำ ไปติดกับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 4567 กทม.เพื่อให้ผู้พบเห็นเชื่อว่า รถยนต์ที่จดทะเบียนไว้ในหมายเลข 4567 กทม ว่าเป็น รถยนต์หมายเลข 1234 กทม. กรณีเช่นนี้ มีความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารปลอม
คนที่ซื้อรถ ก็หวังจะได้รถยนต์คันงาม ได้โปรดีดี ได้ของแถมเยอะเยอะ ได้ส่วนลดเยอะเยอะ
คงไม่มีใครที่อยากได้ของแถมเป็น คดีอาญาติดตัว เพราะนอกจากจะต้องเสียเวลา เสียเงินทอง (เงินประกันตัวและเงินค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดี) และที่สำคัญ ต้องมีประวัติการถูกดำเนินคดีอาญา โดยเฉพาะในความผิดฐาน ปลอมและใช้เอกสารราช
การปลอม แม้ว่า …..หากต่อมา พนักงานอัยการ มีคำสั่งไม่ฟ้อง และคดีดังกล่าวถึงที่สุด
•นายวรเทพ สกุลพิชัยรัตน์ อัยการศาลสูงจังหวัดสมุทรปราการ รองประธานคณะอนุกรรมาธิการการศึกษาการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (คนที่สี่)ในคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร