13 พฤศจิกายน 2565 กลุ่มปกป้องสถาบันรามคำแหง ออกแถลงการณ์ ระบุว่า จากการประชุมสภามหาวิทยาลัยมหาวิทยาลัยรามคำแหง เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2565 ได้มีมติถอดถอนอธิการบดี ผศ.ดร.สืบพงษ์ ปราบใหญ่ เป็นครั้งที่ 2 นั้น ทางกลุ่มฯ ได้รับทราบและล่าสุดมีกระแสข่าวว่าจะมีกลุ่มม็อบ ในวันจันทร์ที่ 14 พ.ย. 2565 ตรงกับวันที่จะมีการประชุมสภามหาวิทยาลัยฯ หลังจาก มีการถอดถอนได้ 6 วัน เพื่อจะออกมาสนับสนุนกรรมการสภามหาวิทยาลัยทั้ง 10 คน
กลุ่มปกป้องสถาบันรามคำแหง ระบุอีกว่า จากกรณีที่สภาฯ มีมติถอดถอนอธิการบดี 10 เสียง ไม่ถอดถอน 9 เสียง และงดออกเสียง 2 เสียง โดยไม่มีวาระการถอดถอนมาก่อน หากมองกันให้แจ่มชัด คือ การลงมติครั้งนี้เป็นการต่อสู้กัน 2 ฝั่ง คือฝั่งคณะกรรมการสภามหาวิทยาลัย 10 คน กับอธิการบดี 1 คน ประกอบด้วย
ฝั่งอธิการบดี 1 คน คือ ผศ.ดร.สืบพงษ์ ปราบใหญ่ อาจารย์ประจำคณะศึกษาศาสตร์ และฝั่งคณะกรรมการสภามหาวิทยาลัย 10 คน ประกอบด้วย
1. ศ.พิเศษ ปัญญา สุทธิบดี ผู้ทรงคุณวุฒิ อดีตรองประธานศาลฎีกา อาจารย์พิเศษ สอนด้านกฎหมาย เป็น 1 ใน 16 คนที่ยกมือถอดถอน อธิการบดีในรอบที่ 1
2. ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิ อาชีพนักธุรกิจ จบปริญญาตรี-โท ที่คณะรัฐศาสตร์ ม.รามคำแหง ได้ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ม.รามคำแหง ในสมัย ผศ.วุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์ เป็นอธิการบดี เป็น 1 ใน 16 คนที่ยกมือถอดถอน อธิการบดีในรอบที่ 1
3. นายวิทวัส บุญญสถิตย์ ผู้ทรงคุณวุฒิ อาชีพนักธุรกิจ อดีต สนช. จบปริญญาตรี-โท ที่คณะรัฐศาสตร์ ม.รามคำแหง เป็น 1 ใน 16 คนที่ยกมือถอดถอน อธิการบดีในรอบที่ 1
4.นายสมศักดิ์ ลีสวัสดิ์ตระกูล ผู้ทรงคุณวุฒิ อาชีพนักธุรกิจ อดีต สนช. จบปริญญาตรี-โท ที่คณะเศรษฐศาสตร์และคณะบริหารธุรกิจ ม.รามคำแหง เป็น 1 ใน 16 คนที่ยกมือถอดถอน อธิการบดีในรอบที่ 1
5. นายสุทธิเกียรติ จิราธิวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิ อาชีพนักธุรกิจ เจ้าของห้างสรรพสินค้ากลุ่มเซ็นทรัล จบปริญญาตรี-โท ที่คณะรัฐศาสตร์ ม.รามคำแหง ได้ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ม.รามคำแหง ในสมัย ผศ.วุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์ เป็นอธิการบดี เป็น 1 ใน 16 คนที่ยกมือถอดถอน อธิการบดีในรอบที่ 1
6. ผศ.วุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์ ประธานกรรมการส่งเสริมกิจการมหาวิทยาลัย อดีตคณบดี คณะรัฐศาสตร์ อดีต สนช. และอดีตอธิการบดี ม.รามคำแหง เป็น 1 ใน 16 คนที่ยกมือถอดถอน อธิการบดีในรอบที่ 1
7. ผศ.ดร.บุญชาล ทองประยูร ผู้อำนวยการสถาบันนานาชาติ เป็นผู้บริหารในยุคสมัยของอดีตอธิการบดี ผศ.วุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์ และเคยรักษาการในตำแหน่งอธิการบดี ม.รามคำแหง เป็น 1 ใน 16 คนที่ยกมือถอดถอนอธิการบดีในรอบที่ 1 แต่รอบที่ 2 นี้กลับมารักษาการอธิการบดีอีกครั้ง จะถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการลงมติหรือไม่
8. ผศ.แพรวพรรณ หลายปัญญา อาจารย์ประจำ คณะนิติศาสตร์ ลูกสะใภ้ ศ.พิเศษ ปัญญา สุทธิบดี เป็น 1 ใน 16 คนที่ยกมือถอดถอน อธิการบดีในรอบที่ 1
9. อาจารย์ ดร.นีลนารา วงษ์เกิด อาจารย์ประจำ คณะบริหารธุรกิจ เป็น 1 ใน 16 คนที่ยกมือถอดถอน อธิการบดีในรอบที่ 1
10. รศ.ดร.ดำรงศักดิ์ จันโททัย อาจารย์ประจำ คณะรัฐศาสตร์ เป็น 1 ใน 16 คนที่ยกมือถอดถอน อธิการบดีในรอบที่ 1
ซึ่งทั้ง 10 คนนี้ เป็นคู่กรณีกับอธิการบดี ผศ.ดร. สืบพงษ์ ปราบใหญ่ ในคดีความที่ศาลปกครอง และเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2565 ทั้ง 10 คน ได้รับหมายศาลอาญาทุจริตกลาง นัดไต่สวนมูลฟ้องแล้ว ในกรณีการถอดถอนอธิการบดีในรอบที่ 1 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเข้าข่ายผิดมาตรา 157 ประมวลกฎหมายอาญาอีกด้วย
โดยในครั้งนี้ สภาฯ มีมติถอดถอนอธิการบดี มาจาก 3 ประเด็นหลัก ๆ คือ ประเด็นแรก คือ เรื่องรับโอนที่ดิน 2 แปลง ซึ่ง ป.ป.ช. เองก็จบเรื่องไปเรียบร้อย แต่สภาฯ นำมาเป็นประเด็นด้วย ประเด็นที่สอง คือ เรื่องวุฒิการศึกษา ซึ่งอยู่ในกระบวนการที่มหาวิทยาลัยยื่นเรื่องให้ อว. ที่เป็นหน่วยงานต้นสังกัดตรวจสอบ ซึ่งเบื้องต้นทาง อว. แจ้งมาว่าอยู่ระหว่างดำเนินการตรวจสอบการรับรองคุณวุฒิดังกล่าว ประเด็นที่สาม คือ เรื่องการยื่นถวายฎีกาของอธิการบดี แต่สภาฯ นำมาเป็นข้ออ้าง ว่าเป็นการถวายฎีกาเท็จ
ในประเด็นที่สามนี้ เป็นประเด็นที่ทางกลุ่มให้ความสนใจและน่าเป็นห่วง คือ ในการเอาประเด็นการถวายฏีกา มาเป็นข้ออ้างในการถอดถอน ถือว่ามีความสุ่มเสี่ยงกับการก้าวล่วงพระราชอำนาจ ส่วนประเด็นอื่น ทางกลุ่มเห็นว่าเป็นประเด็นที่อ่อนมาก และไม่น่าจะนำมาอ้างในการถอดถอนได้ในทางกฎหมาย เพราะการถอดถอนอธิการบดีจากอำนาจสภาฯ น่าจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความผิดพลาดทางด้านการบริหารงานหรือนโยบายมากกว่า ถึงจะดำเนินการถอดถอนได้