“สมศักดิ์” ชง อย. คิดสูตรคำนวณ ”สารไมทราไจนีน” ในผลิตภัณฑ์กระท่อมใหม่ หลังเจอช่องว่างดันจาก 0.2 เป็น 1 มิลลิกรัมสู้ตลาดโลกได้ สั่ง ป.ป.ส. ตั้งกรรมการหางบศึกษา เร่งให้ชาวบ้านมีรายได้ เผย กมธ.3 คณะ เร่งรัดพัฒนาพืชกระท่อมตามกฎหมาย ขณะ ผู้ประกอบการ ตั้งคำถาม กินใบสด อย. ไม่ห่วงปลอดภัยใช่หรือไม่
วันที่ 12 พ.ย. 2565 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยถึงความคืบหน้าการขอขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์จากพืชกระท่อมว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ตนได้เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการประสานงาน เร่งรัด ส่งเสริมและสนับสนุนการขอขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์สมุนไพร ยา อาหาร และเครื่องสำอางที่ผลิตจากพืชกระท่อม โดยมี นายมานะ ศิริพิทยาวัฒน์ รองเลขาธิการ ป.ป.ส. เภสัชกร วราวุธ เสริมสินสิริ ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ผู้ประกอบการพืชกระท่อม เช่น นายจุลาส หรือ ทอม เครือโสภณ ,บริษัทเกษตรศิวิไลซ์ จำกัด ,บริษัทเคดับบลิวเอชบี จำกัด ,วิสาหกิจชุมชน เฮิร์บเวลเนส เข้าร่วมประชุมที่ กระทรวงยุติธรรม
โดยนายสมศักดิ์ กล่าวว่า ตัวแทนผู้ประกอบการ ต้องการทราบมาตรฐานกลาง ในการกำหนดสารไมทราไจนีน ในผลิตภัณฑ์จากพืชกระท่อม เพราะขณะนี้ กำหนดไว้เพียง 0.2 มิลลิกรัมต่อหน่วยเท่านั้น แต่ใบกระท่อม 1 ใบ มีสารไมทราไจนีน ประมาณ 1.2-1.6 มิลลิกรัม ทำให้ผู้ประกอบการ ไม่กล้าลงทุน เพราะจะไม่สามารถออกผลิตภัณฑ์ที่ใช้แล้วเห็นผลได้ ผู้ประกอบการ จึงอยากเข้ามาช่วย อย. ในการรวบรวมข้อมูล เพื่อกำหนดมาตรฐานกลางให้สูงขึ้น และยังอยู่ในระดับความปลอดภัย
นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า เรื่องการกำหนดมาตรฐานกลาง ตนก็ได้นำเสนอให้คณะรัฐมนตรี รับทราบข้อสังเกตของ กมธ. ทั้ง 3 คณะ ทั้ง สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และกมธ. ร่วมกัน ที่เห็นสมควรส่งเสริมให้มีการพัฒนาพืชกระท่อม ให้เป็นพืชที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ ตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.พืชกระท่อม ด้วยการทำเป็นผลิตภัณฑ์จากพืชกระท่อม โดยให้ปรับสัดส่วนมาตรฐานสารสกัดให้มีความเหมาะสม เพื่อเป็นการสนับสนุนเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการ ซึ่งเรื่องนี้ ตนก็ได้หารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขแล้ว โดยก็จะมีการบูรณาการร่วมกันต่อไป
โดย เภสัชกร วราวุธ อธิบายว่า ตัวเลข 0.2 มิลลิกรัม มาจากการทดลองในสัตว์ ให้ใช้สารสกัดจากใบกระท่อม ในแต่ละปริมาณ ซึ่งพบว่า ผลทดลอง 5 มิลลิกรัม ไม่ได้ส่งผลอะไร ทำให้มีความปลอดภัย ดังนั้น ก็นำผลนี้ มาคำนวณตามสูตร ที่จะได้ปริมาณไมทราไจนีน เท่ากับ 0.36 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/วัน แล้วนำมาคำนวณหาร 100 และคูณด้วยค่าเฉลี่ยน้ำหนัก 57.57 จะได้สารไมทราไจนีน 0.2 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งผลนี้ เป็นการทดลองปริมาณน้อยที่สุด ที่สัตว์ไม่เป็นอะไร ส่วนการทดลองปริมาณที่สูงขึ้น คือ 50 มิลลิกรัม พบว่า สัตว์ครึ่งนึงพบการเปลี่ยนแปลงในตับอย่างมีนัยสำคัญ จึงทำให้ ในช่วงแรกมีการกำหนดสารไมทราไจนีน ไว้ที่ 0.2 มิลลิกรัมก่อน และหากมีข้อมูลเพิ่มขึ้น ก็จะสามารถเพิ่มสารได้ทันที โดยยืนยันว่า อย. ไม่ได้ยืนอยู่ฝั่งตรงข้าม ที่จะทำให้เศรษฐกิจไม่เจริญ แต่ศัตรูของเราตอนนี้ คือ มีข้อมูลไม่เพียงพอ จึงต้องเร่งทำข้อมูลขึ้นมาก่อน
ขณะที่ นายจุลาส หรือ ทอม เครือโสภณ กล่าวว่า ขณะนี้พืชกระท่อม ถูกกฎหมาย จึงไม่จำเป็นต้องขออนุญาต อย. ถ้าจะใช้ใบสด แต่ถ้าจะทำเป็นผลิตภัณฑ์ ต้องขออนุญาตก่อน เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค แต่เรื่องนี้ กลายเป็นขัดแย้งกันเอง เพราะใบกระท่อม มีสารไมทราไจนีน 1.2-1.6 มิลลิกรัม แต่ผลิตภัณฑ์ กลับกำหนดแค่ 0.2 มิลลิกรัม ซึ่งจะเกิดข้อสงสัยว่า กินใบกระท่อมสดได้เลย ไม่ห่วงปลอดภัย แต่ผลิตภัณฑ์ห่วงปลอดภัย ใช่หรือไม่ ดังนั้น ขอเสนอให้ อย. ออกกำหนดใหม่ เพื่อให้ผู้ประกอบการเดินได้ เพราะกำหนดไว้ 0.2 มิลลิกรัมต่อหน่วยนั้น ธุรกิจจะไปไม่ได้ เพราะไม่มีใครซื้อ จึงอยากขอให้ดึงเอกชน เข้ามาเป็นคณะทำงานแก้ปัญหาเรื่องนี้ด้วย เพื่อหามาตรฐานที่เหมาะสม
ส่วนผู้แทนผู้ประกอบการพืชกระท่อม เสนอว่า ถ้ายึดตามข้อกำหนด 0.2 มิลลิกรัมต่อหน่วย จะไม่สามารถช่วยเกษตรกรที่เพาะปลูกกระท่อมได้เลย เพราะจากการทดลองสกัดกระท่อม ใบสด 6 กิโลกรัม จะได้กระท่อมแห้ง 1 กิโลกรัม นำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ ได้ถึง 25,000 ขวด ซึ่งใช้ใบกระท่อม เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ก็สามารถทำผลิตภัณฑ์ได้จำนวนมากแล้ว ดังนั้น เกษตรกร จะอยู่ได้อย่างไร จึงอยากให้มองภาพอีกมุมด้วยในการกำหนดมาตรฐานกลาง เพราะถ้ากำหนดค่าสูงขึ้น ก็จะต้องใช้ใบกระท่อม มากขึ้นตามไปด้วย
โดยนายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า ขอเสนอให้ อย. เริ่มคิดสูตรทดลองใหม่ ซึ่งให้ใช้ปริมาณน้อยกว่า 50 มิลลิกรัม ที่เริ่มพบปัญหาในตับ โดยให้ทดลองตั้งแต่ 40 มิลลิกรัมลงมา จนเหลือ 25 มิลลิกรัม ก็น่าจะไม่พบความผิดปกติแล้ว เพราะขนาดปริมาณ 50 มิลลิกรัม ยังพบผิดปกติเพียงข้อเดียวคือ การเปลี่ยนแปลงทางจุลพยาธิวิทยา ดังนั้น การทดลองปริมาณ 25 มิลลิกรัม ก็ไม่น่ามีปัญหา ซึ่งก็จะทำให้เมื่อคำนวณตามสูตรแล้ว สารไมทราไจนีน จะสามารถเพิ่มเป็น 1 มิลลิกรัมต่อหน่วยได้ ก็จะเพียงพอต่อการทำเป็นผลิตภัณฑ์แล้ว ซึ่งตนก็ได้ให้ ป.ป.ส. เป็นหน่วยงานหลัก ในการหางบประมาณ และดึงภาคเอกชน เข้าไปศึกษาสนับสนุนการทำทดลองการใช้สารสกัดใบกระท่อมกับสัตว์แล้ว โดยจะใช้เวลาเพียง 3-6 เดือนเท่านั้น เมื่อได้ผลทดลอง ทาง อย. ก็พร้อมพิจารณาปรับสารไมทราไจนีน ขึ้นให้ทันที เพราะทุกคนเริ่มเห็นว่า สารไมทราไจนีน ไม่ควรต่ำกว่า 1 มิลลิกรัม ซึ่งก็จะเป็นการปลดล็อกให้ผู้ประกอบการ สามารถไปแข่งขันกับตลาดโลกได้