สนข.ทุ่ม 5.5 พันล้านบาท เดินหน้าพัฒนาจุดเชื่อมต่อ “ล้อ-ราง-เรือ” ชงคมนาคม ต้นปี 66 เผยแผนระยะยาวถึงปี 75 ตั้งเป้า 40 จุด

นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ท่าเรือพระนั่งเกล้า พร้อมระบุถึงความคืบหน้าโครงการศึกษาจัดทำแผนพัฒนาการเดินทางทางน้ำในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และการเชื่อมต่อการเดินทางรูปแบบอื่น (W-MAP) ว่า ขณะนี้ สนข.อยู่ระหว่างการหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งศึกษาและสำรวจเส้นทางการเดินเรือ เพื่อเพิ่มเส้นทางการเดินทางทางน้ำ แก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดทางถนน

นายปัญญา กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ยังมีการวางแผนปรับปรุงท่าเรือที่เชื่อมต่อการขนส่งสาธารณะล้อ-ราง-เรือให้มีประสิทธิภาพที่ให้บริการในปัจจุบัน 8 จุด โดยเฉพาะท่าเรือในแม่น้ำเจ้าพระยา 4 จุด ประกอบด้วย ท่าเรือพระนั่งเกล้า ท่าเรือบางโพ ท่าเรือราชินี และท่าเรือสาทร คาดว่าจะเสนอแผนดังกล่าวให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาเห็นชอบภายในต้นปี 2566 หรือ มี.ค. 2566 ก่อนที่จะส่งให้หน่วยงานอื่นๆ นำแผนไปดำเนินการต่อไป

นายปัญญา กล่าวอีกว่า ตามที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ให้นโยบายการเชื่อมต่อระบบขนส่งสาธารณะอย่างมีประสิทธิภาพนั้น จากนโยบายดังกล่าว ขณะนี้ สนข. ได้บูรณาร่วมกับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) เพื่อจัดตั้งจุดจอดรถ บขส. เพื่อรับ-ส่ง ผู้โดยสาร โดยเฉพาะเส้นทางกรุงเทพฯ-สุพรรณบุรีที่วิ่งผ่านสถานีรถไฟฟ้า MRT พระนั่งเกล้า และท่าเรือพระนั่งเกล้า เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางทางเรือ และรถไฟฟ้าเข้าเมืองไปยังกรุงเทพฯ และอำนวยความสะดวกการเดินทางให้กับประชาชน คาดว่าจะเปิดให้รถ บขส.จอดรับ-ส่งได้ในช่วงต้นปี 2566

ส่วนความคืบหน้าการพัฒนาจุดเชื่อมต่อการเดินทาง ล้อ-ราง-เรือ นายปัญญา กล่าวว่า เส้นทางการเดินทางทางน้ำในปัจจุบัน มีจำนวน 4 เส้นทาง ระยะทาง 65.4 กิโลเมตร (กม.)​ จำนวน 103 ท่าเรือ เชื่อมต่อการเดินทางรูปแบบอื่น จำนวน 8 จุด​ แบ่งเป็น คลองแสนแสบ ได้แก่ 1.ท่าเรือรามหนึ่ง เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต​ เรล ลิงก์ สถานีรามคำแหง 2.ท่าเรืออโศก เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าใต้ดิน (เอ็มอาร์ที)​ สายสีน้ำเงิน สถานีเพชรบุรี และแอร์พอร์ต​ เรล ลิงก์ สถานีมักกะสัน 3.ท่าเรือสะพานหัวช้าง เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้า (บีทีเอส)​ สายสีเขียวอ่อน สถานีราชเทวี และสายสีเขียวเข้ม สถานีสนามกีฬาแห่งชาติ

ขณะที่ คลองผดุงกรุงเกษม ได้แก่ 4.ท่าเรือสถานีรถไฟหัวลำโพง เชื่อมต่อกับเอ็มอาร์ที สถานีหัวลำโพง ส่วนแม่น้ำเจ้าพระยา ได้แก่ 5.ท่าเรือสะพานพระนั่งเกล้า เชื่อมกับเอ็มอาร์ทีสายสีม่วง สถานีสะพานพระนั่งเกล้า 6.ท่าเรือบางโพ เชื่อมต่อกลับเอ็มอาร์ทีสายสีน้ำเงิน สถานีบางโพ 7.ท่าเรือราชินี เชื่อมกับเอ็มอาร์ทีสายสีน้ำเงิน สถานีสนามไชย และ8.ท่าเรือสาทร เชื่อมกับบีทีเอสสายสีเขียวเข้ม สถานีสะพานตากสิน

นายปัญญา กล่าวอีกว่า ทั้ง 8 จุดดังกล่าว เป็นหนึ่งในแผนการพัฒนาการเดินทางทางน้ำ (W-Map) ระยะสั้น (ระยะที่ 1) หรือระหว่างปี 2565-2570 ที่ตั้งเป้าพัฒนาทั้งหมด จำนวน 26 จุด รวมจุดเชื่อมต่อทั้งหมดเป็น 34 จุด งบประมาณในการพัฒนาอยู่ที่ 3.4 พันล้านบาท และแผนพัฒนาฯ ระยะยาว หรือระหว่างปี 2571-2575 จะเพิ่มการพัฒนาอีก 6 จุด รวมเป็น 40 จุด โดยคาดว่าจะใช้งบประมาณในการพัฒนาจำนวน 2.1 พันล้านบาท รวมทั้ง 2 ระยะ เป็นวงเงินประมาณ 5.5 พันล้านบาท ทั้งนี้ จะมีการดึงข้อมูลจากกล้อง CCTV และระบบ GPS เพื่อมาวิเคราะห์โครงข่ายคมนาคม แก้ไขการจราจรติดขัดในพื้นที่กรุงเทพฯ

นายปัญญา กล่าวต่อว่า สำหรับแผนพัฒนาการเดินทางทางน้ำ พ.ศ. 2565-2575 เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ คาดว่าเส้นทางทางน้ำจะเพิ่มขึ้น 131.2 กม. ท่าเรือเพิ่มขึ้น 97 ท่าเรือ แบ่งเป็น ระยะสั้น พ.ศ. 2565-2570 ระยะทางรวมประมาณ 74.3 กม. S1 เส้นทางเดินเรือในคลองแสนแสบส่วนต่อขยายช่วงวัดศรีบุญเรืองถึงถนนสุวินทวงศ์ ระยะทาง 12 กม. จำนวน 16 ท่าเรือ S2 เส้นทางเดินเรือในคลองบางลำพู ช่วงสะพานผ่านฟ้าลีลาศถึงป้อมพระสุเมรุ ระยะทาง 1.5 กม. จำนวน 3 ท่าเรือ

นายปัญญา กล่าวอีกว่า ด้าน S3 เส้นทางเดินเรือในคลองลาดพร้าว ช่วงสายไหมถึงพระโขนง ระยะทาง 25.7 กม. จำนวน 23 ท่าเรือ S4 เส้นทางเดินเรือในคลองขุดมหาสวัสดิ์ ช่วงประตูน้ำมหาสวัสดิ์ถึงวัดชัยหฤกษมาลา ระยะทาง 28 กม. จำนวน 13 ท่าเรือ และ S5 เส้นทางเดินเรือในคลองบางกอกน้อย ช่วงวัดชะลอถึงศิริราช ระยะทาง 7.1 กม. จำนวน 11 ท่าเรือ

นายปัญญา กล่าวต่อว่า ส่วนระยะยาว พ.ศ. 2571-2575 ระยะทางรวมประมาณ 56.9 กม. L1 เส้นทางเดินเรือในแม่น้ำเจ้าพระยาส่วนต่อขยายช่วงปากเกร็ดถึงที่ว่าการอำเภอเมืองจังหวัดปทุมธานี ระยะทาง 15 กม. จำนวน 3 ท่าเรือ L2 เส้นทางเดินเรือในคลองเปรมประชากร ช่วงวัดรังสิตถึงบางซื่อ ระยะทาง 20.5 กม. จำนวน 20 ท่าเรือ L3 เส้นทางเดินเรือในคลองประเวศบุรีรมย์ส่วนต่อขยาย ช่วงตลาดเอี่ยมสมบัติถึงวัดสังฆราชา ระยะทาง 21.4 กม. จำนวน 8 ท่าเรือ ซึ่งเมื่อพัฒนาแล้วเสร็จจะส่งผลให้มีการใช้บริการเพิ่มขึ้น 36.57% จากจำนวน 61,129 คนต่อวัน ในปี 2565 และคาดการณ์ว่าในช่วง 5 ปีแรกเพิ่ม 8.06% และ 10 ปี เพิ่มเป็น 36.57%​