เมื่อวันที่ 18 ต.ค.65 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วัที่ 18 ต.ค. 2565 โดยมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีมติอนุมติ 2 โครงการของกรมทางหลวงชนบท (ทช.) วงเงินรวม 6,695 ล้านบาท ประกอบด้วย 1.โครงการก่อสร้างสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา ต.เกาะใหญ่ อ.กระแสสินธุ์ จ.สงขลา–ต.จองถนน อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง
ทั้งนี้ โครงการก่อสร้างสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 4,841 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าก่อสร้าง 4,700 ล้านบาท (เงินกู้ 3,290 ล้านบาท เงินสมทบ 1,410 ล้านบาท และค่าควบคุมงาน 141 ล้านบาท (เงินสมทบ 100%) ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี (2566-2568) คาดว่า จะเริ่มกระบวนการประกวดราคา ธ.ค. 2565-ส.ค. 2566 ก่อนเริ่มก่อสร้างใน ก.ย. 2566
2. โครงการก่อสร้างสะพานเชื่อมเกาะลันตา ต.เกาะกลาง–ต.เกาะลันตาน้อยอ.เกาะลันตา จ.กระบี่ งบประมาณทั้งสิ้น 1,854 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าก่อสร้าง 1,800 ล้านบาท (เงินกู้ 1,260 ล้านบาท เงินสมทบ 549 ล้านบาท และค่าควบคุมงาน 54 ล้านบาท (เงินสมทบ 100%) ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี (2566-2568) คาดว่า จะเริ่มกระบวนการประกวดราคา ธ.ค. 2565-ส.ค. 2566 ก่อนเริ่มก่อสร้างใน ก.ย. 2566
รายงานข่าวจาก ทช. ระบุว่า สำหรับโครงการก่อสร้างสะพานข้ามทะเลสาบสงขลาสะพานมีขนาด 2 ช่องจราจร (สามารถขยายเป็น 4 ช่องจราจรได้ในอนาคต) และมีรูปแบบสะพานที่เหมาะสม คือ สะพานคานขึง (Extradosed Bridge) และสะพานคานคอนกรีตรูปกล่องความหนาคงที่ (Box Segmental Bridge) รวมระยะทางทั้งสิ้น 7 กิโลเมตร (กม.) นอกจากนี้ บริเวณราวสะพานได้ออกแบบให้มีความสวยงาม โดยนำรูปแบบทางจิตรกรรมมโนราห์ของท้องถิ่นมาประยุกต์อีกด้วย
สำหรับโครงการก่อสร้างสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา ต.เกาะใหญ่ อ.กระแสสินธุ์ จ.สงขลา–ต.จองถนน อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ จะช่วยเชื่อมโยงโครงข่ายการคมนาคมขนส่งให้เกิดความสมบูรณ์ เพิ่มศักยภาพในการเดินทางเชื่อมระหว่าง จ.พัทลุง กับ จ.สงขลา ลดระยะทางประมาณ 80 กิโลเมตร หรือลดระยะเวลาในการเดินทางราว 2 ชั่วโมง
ขณะที่ โครงการก่อสร้างสะพานเชื่อมเกาะลันตา จะก่อสร้างสะพานเป็นรูปแบบสะพานคานขึง (Extradosed Bridge) และสะพานคานยื่น (Balanced Cantilever Bridge) ความยาวสะพาน 1,825 เมตร ขนาด 2 ช่องจราจร ช่องละ 3.75 เมตร ไหล่ทางข้างละ 2.5 เมตร พร้อมถนนต่อเชื่อมทั้งสองฝั่ง รวมระยะทาง 415 เมตร รวมระยะทางตลอดโครงการ 2,240 เมตร
ทั้งนี้ เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะช่วยลดระยะเวลาในการเดินทางโดยเฉพาะในช่วงวันหยุดหรือเทศกาลจากเดิมต้องใช้เวลา 2 ชั่วโมง เหลือเพียง 2 นาที สามารถเคลื่อนย้ายผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลในจังหวัดกระบี่ได้อย่างรวดเร็วหากมีเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉินและเป็นเส้นทางสำหรับอพยพประชาชนในกรณีเกิดภัยพิบัติ
รายงานข่าวจาก ทช. ระบุต่ออีกว่า ทั้ง 2 โครงการจะเป็นแลนด์มาร์ค (Landmark) ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งในอนาคตช่วยส่งเสริมศักยภาพด้านการท่องเที่ยวและอำนวยความสะดวกในการคมนาคมขนส่งได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ