องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. โดยสำนักงานพื้นที่พิเศษ 6 ร่วมกับเครือข่ายเยาวชนในพื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่าน กองทุนพัฒนาศักยภาพเครือข่ายเยาวชนจังหวัดน่าน และหน่วยงานภาคีเครือข่าย ได้พัฒนาพื้นที่สร้างสรรค์ (Creative Space) 6 แห่ง และย่านสร้างสรรค์หัวเวียงใต้ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ และกระตุ้นเศรษฐกิจ พร้อมเตรียมแผนพัฒนาต่อเนื่องเพื่อให้ชุมชนเกิดความยั่งยืน

นายณัฐกิตต์ กุมพะยาน เจ้าหน้าที่พัฒนาพื้นที่พิเศษ ฝ่ายปฏิบัติการ สำนักงานพื้นที่พิเศษ 6 อพท. เปิดเผยถึงผลการดำเนินกิจกรรมพัฒนาพื้นที่สร้างสรรค์ (Creative Space) จำนวน 9 ครั้ง ตั้งแต่ต้นเดือนธันวาคม 2564 ถึง เดือนเมษายน 2565 ในพื้นที่บริเวณกำแพงเมือง-คูเมืองเก่าน่าน , โฮงเจ้าฟองคำ ,บ้านศิลปะฮิมน่าน และลานกิจกรรมเฮือนฮังต่อ ในบรรยากาศย้อนความเก่า เล่าเรื่องเมืองน่านผ่านลายซิ่นผ้าทอ และสัมผัสวิถีชีวิตคนเมืองน่านในอดีต ผ่านตัวเรือนโฮงเจ้าฟองคำ ที่มีอายุเก่าแก่กว่า 200 ปี การเปิดให้มีพื้นที่เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างภาคีเครือข่ายและปราชญ์ ที่ทำงานด้านศิลปหัตถกรรมเชิงพุทธศิลป์ เพื่ออนุรักษ์ความดั้งเดิมและการพัฒนาต่อยอดร่วมสมัย การนำศิลปวัฒนธรรมชาติพันธุ์และท้องถิ่นเมืองน่าน ซึ่งมีความหลากหลาย เป็นสีสันที่รวมเป็นหนึ่งเดียวในความเป็นน่าน

ซึ่งมีทั้งงานนิทรรศการ เวิร์คชอป การแสดง การออกร้าน จำหน่ายสินค้า โดยเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน ผู้ประกอบการที่ทำงานด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน งานแฮนด์เมดเพื่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์และต่อยอด กิจกรรมการประกวด Craft and Folk songs ซึ่งเป็นการต่อยอดงานดนตรี อาหาร ขนม เชิงสร้างสรรค์ ได้รับการตอบรับจากนักท่องเที่ยวเป็นอย่างดี มียอดรายได้จากการออกร้านจำหน่ายสินค้าผลิตภัณฑ์ งานหัตถกรรมท้องถิ่นจังหวัดน่าน และกาดหมั้วครัวละอ่อนรวม 1,662,870 บาท ทั้งนี้ยังเกิดเครือข่าย “กลุ่มน่านโฮ๊ะคราฟต์” และทำเนียบผู้ประกอบการงานหัตถกรรม ร้านค้า งานเวิร์คชอป มากกว่า 50 ราย ที่พร้อมจะเป็นเครือข่ายร่วมในพื้นที่สร้างสรรค์ในอนาคต

นอกจากนี้กิจกรรมล่าสุดยังได้ร่วมกับชุมชนหัวเวียงใต้ ซึ่งเป็นชุมชนในเขตพื้นที่เมืองเก่าน่าน และ เครือข่ายเยาวชน กองทุนพัฒนาศักยภาพเครือข่ายเยาวชนจังหวัดน่าน ภาคีเครือข่ายความร่วมมืออื่นๆ จัดกิจกรรมเปิดพื้นที่ย่านสร้างสรรค์ “ชุมชนหัวเวียงใต้” ผ่านกาดกองน้อย เมื่อวันที่ 17-18 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการฟื้นพื้นที่ย่านการค้าของคนในชุมชนหัวเวียงใต้และคนเมืองน่าน ให้กลับมามีชีวิตชีวา และเป็นบรรยากาศความเป็นเมืองน่าน รอต้อนรับนักท่องเที่ยวหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด19 คลี่คลายลง ซึ่งจะส่งผลดีต่อการค้าขายในย่านชุมชน ซึ่งเป็นตรอกซอยเล็กๆ แต่มีเรื่องเล่าเรื่องราว งานศิลปะ อาหารท้องถิ่น ซ่อนอยู่ในชุมชนไว้อย่างน่าสนใจ รอผู้คนและนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมเยือน

นายธรรมนูญ ภาคธูป ผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษ 5 ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่ง ผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษ 6 กล่าวว่า การท่องเที่ยว เป็นอีกเครื่องมือ ในการอนุรักษ์ วัฒนธรรม ภูมิปัญญา ของจังหวัดน่าน โดยผ่านกิจกรรม พื้นที่สร้างสรรค์ (Creative Space) ซึ่งเป็นการนำสิ่งที่มีอยู่มาต่อยอดในเชิงสร้างสรรค์ เพื่อให้เกิดรายได้ ไปพร้อมกับการบูรณาการองค์ความรู้ชุมชน ช่างฝีมือ ศิลปิน และนักออกแบบรุ่นใหม่ ทีใช้ความคิดสร้างสรรค์และการออกแบบเป็นเครื่องมือสำคัญ สร้างความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ที่ยังคงอนุรักษ์ รักษาความเป็นดั้งเดิมเอาไว้ ก่อให้เกิดคุณค่า และมูลค่า ซึ่งกิจกรรมในพื้นที่สร้างสรรค์ (Creative Space) จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะพัฒนาจังหวัดน่าน เพื่อให้เข้าไปสู่มาตรฐานในระดับสากล ในเรื่องของการเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก สาขาหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน ที่จะขอยื่นใบสมัครในปี 2566 ซึ่งจะทำให้คนทั่วโลกได้รู้จักจังหวัดน่าน ได้ดียิ่งขึ้น และอยากเข้ามาเยี่ยมเยียน มาเรียนรู้วิถีชีวิตของน่านอย่างลึกซึ้ง ทำให้การมาใช้ชีวิตอยู่ในจังหวัดน่านเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อการสร้างรายได้เพิ่มในจังหวัดน่าน

โดยในปีงบประมาณ 2566 สำนักงานพื้นที่พิเศษ 6 อพท. มีแผนสนับสนุนกิจกรรมพื้นที่สร้างสรรค์ และ ย่านสร้างสรรค์ อย่างต่อเนื่อง ต่อยอดจากความสำเร็จในการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายเยาวชนเพื่อสร้างพื้นที่สร้างสรรค์ (Creative Space) สนับสนุนการเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ ของ ยูเนสโก โดยจะพัฒนาพื้นที่สร้างสรรค์ที่มีศักยภาพร่วมกับภาคเอกชนและชุมชน เช่น ลานต่อสุข พื้นที่ข่วงเมืองน่าน พื้นที่บริเวณกำแพงเมือง-คูเมืองเก่าน่าน และกาดกองน้อยย่านชุมชนหัวเวียงใต้ เป็นต้น ในการผลักดันให้เกิดพื้นที่ในการดำเนินกิจกรรมอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน และสร้างพื้นที่บ่มเพาะความคิดสร้างสรรค์ พื้นที่แลกเปลี่ยนไอเดียความคิดสร้างสรรค์ในการต่อยอดยกระดับผลิตภัณฑ์งานหัตถกรรม และส่งเสริมให้ศิลปิน ผู้ประกอบการงานหัตถกรรมในพื้นที่จังหวัดน่าน ให้มีพื้นที่ในการจัดแสดงผลงาน และนำเสนอขายสินค้าหัตถกรรมท้องถิ่นในพื้นที่สร้างสรรค์ พร้อมสนับสนุนกลุ่มปราชญ์ และศิลปินในพื้นที่จังหวัดน่านในการจัดการพื้นที่สร้างสรรค์ขยายผลไปยังนอกเขตเมืองเก่าน่าน ผลักดันเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการรุ่นใหม่ให้สามารถต่อยอดยกระดับผลิตภัณฑ์งานหัตถกรรมท้องถิ่นจังหวัดสู่ตลาดอย่างยั่งยืนต่อไป