
ทำดีต้องชื่นชม! “พระอาจารย์ป๋อง” วัดสมานมิตรโคราช พระนักพัฒนา ใช้พื้นที่หลังวัด 7 ไร่ ทำไร่นาสวนผสม สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ให้ชาวบ้าน มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น
พระครูโกศลวิทยาคม หรือพระอาจารย์ป๋อง พระนักพัฒนาแห่งยุค ใช้พื้นที่กว่า 7 ไร่ บริเวณหลังวัดสมานมิตร ต.หนองงูเหลือม อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.นครราชสีมา พัฒนาเป็นไร่นาสวนผสม สร้างแหล่งอาหาร สร้างงาน และสร้างชีวิตใหม่ให้ชุมชนโดยรอบ กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ธรรมะควบคู่กับวิถีเกษตร จากพื้นที่รกร้าง เปลี่ยนเป็นพื้นที่ต้นแบบของการพึ่งพาตนเองตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ศูนย์กลางแห่งความหวังของคนทั้งตำบล
พระครูโกศลวิทยาคม เจ้าอาวาสวัดสมานมิตร เล่าถึงแนวคิดของโครงการนี้ ว่า ด้วยแรงศรัทธาและจิตวิญญาณแห่งความเมตตา ตนมีความตั้งใจจะนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาปรับใช้ เพื่อให้ชาวบ้านและชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ในเรื่องอาหารและการดำรงชีวิต ตนต้องการให้คนในชุมชนมีอยู่ มีกิน อยู่แบบพอเพียง มีผัก มีข้าว มีน้ำ มีทุกสิ่งอย่างที่จำเป็น โดยไม่ต้องไปหาซื้อจากข้างนอก และหากมีเหลือก็สามารถขายได้ เป็นรายได้เสริมให้กับครอบครัว จึงปรับเปลี่ยนพัฒนาพื้นที่หลังวัด โดยเริ่มต้นเพียง 3 ไร่ แต่ปัจจุบันขยายออกไป จนเป็นไร่นาสวนผสม ประมาณ 6-7 ไร่ ครอบคลุมทั้งแปลงนา สวนผัก สวนผลไม้ และคอกสัตว์
มีทั้งการปลูกฝรั่ง มะกรูด มะนาว ผักสวนครัว และเลี้ยงโค กระบือ เป็ด ไก่ ห่าน รวมถึง หมู มีชาวบ้านช่วยกันดูแล ผลผลิตที่ได้มีไว้บริโภคเอง เหลือจึงนำไปจำหน่าย หรือบริจาคให้ผู้ยากไร้ ผู้ป่วยติดเตียงในตำบล นอกจากนี้ ตนยังมองไกลถึงการพัฒนาวัดให้กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชนและสถานที่ปฏิบัติธรรมในรูปแบบ “พุทธเกษตร” ที่เชื่อมโยงทั้งการเกษตรและธรรมะเข้าด้วยกัน ทำให้ชาวบ้านได้ทั้งอาชีพ ได้ทั้งศีลธรรม และมีสุขภาวะที่ดีทั้งร่างกายและจิตใจ
ด้านนางสวงค์ บ่อพิมาย อายุ 56 ปี ชาวบ้านในพื้นที่ที่มาช่วยทำไร่นาสวนผสมที่วัดสมานมิตร กล่าวว่า โครงการไร่นาสวนผสมที่วัดสมานมิตร เริ่มต้นจากแนวคิดของพระครูโกศลวิทยาคมที่อยากให้ชาวบ้านมีรายได้ จึงเปิดพื้นที่ให้ปลูกพืชผัก เลี้ยงสัตว์ และใช้เป็นแหล่งสร้างอาชีพ โดยเฉพาะกับกลุ่มผู้ยากไร้และผู้สูงอายุที่ไม่สามารถเดินทางไปทำงานไกลๆ ได้ ตนและครอบครัวก็มาช่วยกันดูแลสัตว์ เช่น วัว ควาย หมู เป็ดและห่านที่มีอยู่จำนวนมาก
รวมทั้ง ทำสวนและงานอื่นๆ ในพื้นที่วัด ซึ่งการทำงานที่นี่มีการแบ่งหน้าที่ชัดเจน ทำให้แต่ละคนมีรายได้เลี้ยงครอบครัว โดยเฉพาะคนแก่ไม่ต้องย้ายถิ่นฐานไปไหน ได้อยู่ใกล้ลูกหลาน มีความสุขขึ้น จากเดิมที่ต้องรอฤดูทำนาอย่างเดียว ตอนนี้คุณภาพชีวิตของคนในชุมชนดีขึ้น มีคนรู้จักวัดมากขึ้น นักท่องเที่ยวก็เข้ามาเยี่ยมชมบ่อยขึ้น ตนรู้สึกภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการดี ๆ ที่มีพระเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงนี้
จากพื้นที่วัดเล็ก ๆ ที่เคยเงียบเหงา กลับกลายเป็นแหล่งเรียนรู้และแรงบันดาลใจให้กับผู้คนมากมาย โครงการไร่นาสวนผสมของวัดสมานมิตร ภายใต้การนำของพระครูโกศลวิทยาคม เป็นแบบอย่างของการนำหลักศาสนาและแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงมาผสมผสานได้อย่างลงตัว เปลี่ยนวัดให้เป็นศูนย์กลางของการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน ไม่ใช่เพียงแค่การเผยแผ่ธรรมะ แต่ยังเป็นการเติมเต็มชีวิตของชาวบ้านให้สมบูรณ์ทั้งกาย ใจ และสังคมอย่างแท้จริง