วธ.เสนอ “ชุดไทย” เข้าสู่กระบวนการพิจารณาของยูเนสโกในปี 2569 ยึดหลักข้อเท็จจริง ความร่วมมือ และการเคารพความหลากหลายทางวัฒนธรรม

เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2568 นายประสพ เรียงเงิน ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม แจ้งว่าองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) แจ้งยืนยันว่ารายการ “ชุดไทย: ความรู้ งานช่างฝีมือ และแนวปฏิบัติการแต่งกายชุดไทยประจำชาติ” (Chud Thai: The Knowledge, Craftsmanship and Practices of the Thai National Costume) จะถูกบรรจุเข้าสู่การพิจารณาในการประชุมคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (Intergovernmental Committee for the Safeguarding of the Intangible Cultural Heritage) สมัยที่ 21 ในปี 2569

การเสนอดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายส่งเสริม Soft Power และการอนุรักษ์มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ ซึ่งกระทรวงวัฒนธรรมได้ดำเนินการต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2552 ปัจจุบันประเทศไทยมีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมขึ้นบัญชีระดับชาติแล้ว จำนวน 396 รายการ โดย “ชุดไทยพระราชนิยม” ได้รับการขึ้นบัญชีในระดับชาติตั้งแต่ปี 2566 และครม.มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2567 ให้เสนอขึ้นทะเบียนในระดับนานาชาติต่อ UNESCO

ประสพ เรียงเงิน ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.)

ปลัด วธ. กล่าวว่า ชุดไทยเป็นเครื่องแต่งกายประจำชาติที่สะท้อนอัตลักษณ์และความวิจิตรของวัฒนธรรมไทยผ่านงานช่างฝีมือจากหลากหลายภูมิภาค ถ่ายทอดผ่านลวดลาย เทคนิคการตัดเย็บ และการใช้ผ้าไทยในรูปแบบต่าง ๆ โดยเฉพาะ “ชุดไทยพระราชนิยม” ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงริเริ่มให้มีการศึกษาค้นคว้าเครื่องแต่งกายสตรีไทยสมัยต่างๆ มาศึกษา ฟื้นฟู และออกแบบเพื่อทรงใช้เป็นฉลองพระองค์ในโอกาสที่โดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพล อดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 พระราชดำเนินเยือนสหรัฐอเมริกาและประเทศยุโรปอย่างเป็นทางการ เมื่อปี 2503 เพื่อสะท้อนภาพลักษณ์ความเป็นไทยสู่สายตานานาชาติ และชาวไทยได้มีการนำชุดไทยดังกล่าวมาใช้อย่างต่อเนื่อง แสดงให้เห็นถึงอัตลักษณ์ของความเป็นไทยและเหมาะสมกับวาระโอกาสต่าง ๆ ทั้งงานพระราชพิธี งานพิธีการต่าง ๆ รวมถึงพิธีแต่งงานของไทยก็ใช้ชุดไทยเช่นกัน ก่อให้เกิดความภาคภูมิใจในวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมาช้านาน แสดงออกถึงคุณค่างานช่างฝีมือของคนไทยในท้องถิ่น และยังเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดการสร้างสรรค์ชุดไทยในปัจจุบันและอนาคต

ปลัด วธ. กล่าวต่อว่า กรณีมีความเคลื่อนไหวในสื่อสังคมออนไลน์เกี่ยวกับรายงานว่า ประเทศกัมพูชาเตรียมเสนอ “ประเพณีแต่งงาน” ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ และมีข้อกล่าวอ้างว่าจะมีการสอดแทรก “ชุดไทย” ในรายการดังกล่าว จนก่อให้เกิดความวิตกในหมู่ประชาชนบางกลุ่ม ในเรื่องนี้ วธ. โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรมได้มีการตรวจสอบแล้ว พบว่า ข้อมูลดังกล่าวไม่ตรงกับข้อเท็จจริง รายการที่ประเทศกัมพูชากำลังจัดเตรียมเสนอคือ “Traditional Khmer Wedding” หรือประเพณีแต่งงานแบบเขมร ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่สะท้อนบริบทท้องถิ่นของกัมพูชาเอง ไม่ได้มีการอ้างอิงถึง “ชุดไทย” หรือการสอดแทรกเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการแต่งกายแบบไทยแต่อย่างใด

ทั้งนี้ การเสนอขึ้นทะเบียนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ต่อยูเนสโก มิได้เป็นการแสดงความเป็นเจ้าของเหนือวัฒนธรรมใด แต่เป็นการแสดงถึงการสืบทอดคุณค่าในชุมชน องค์การยูเนสโกส่งเสริมให้ประเทศต่าง ๆ เสนอรายการวัฒนธรรมของตนอย่างโปร่งใส บนพื้นฐานของความร่วมมือ ความเคารพซึ่งกันและกัน และการอยู่ร่วมกันในความหลากหลาย ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ รายการ “ชุดแต่งกายเคบายา” (Kebaya) ที่มีการเสนอขึ้นทะเบียนร่วมกันโดยประเทศสิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย บรูไน และไทย หรือกรณี “โขน” ของไทยและ “ลครโขล” ของกัมพูชา ที่ต่างฝ่ายต่างเสนอในรูปแบบอิสระตามบริบทของตนในปี พ.ศ. 2561 โดยไม่กระทบต่อกัน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าประเทศที่มีรากวัฒนธรรมใกล้เคียงกันสามารถเสนอแยกกัน หรือเสนอร่วมกันหลายชาติหรือหลายประเทศ (Multinational Nomination) ได้ภายใต้เจตนารมณ์แห่งมิตรภาพ

“อย่างไรก็ดีกระบวนการพิจารณาของยูเนสโก ตรวจสอบเนื้อหาโดยละเอียด โดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของยูเนสโก ที่ยึดหลักความโปร่งใส ความเคารพซึ่งกันและกัน และส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือระหว่างประเทศ ทั้งนี้การที่ประเทศไทยเสนอ “ชุดไทย” ขึ้นทะเบียนมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของยูเนสโก เพื่อให้ชุดไทยได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ และเป็นการสืบสานมรดกทางวัฒนธรรมไทย ให้เป็นที่รู้จักในระดับโลก ด้วยความภาคภูมิใจ ภายใต้หลักของความเข้าใจ ความสร้างสรรค์ และการอยู่ร่วมกันอย่างสง่างามของมนุษยชาติ” นายประสพ กล่าว

ปลัด วธ. เน้นย้ำว่า ประเทศไทยยึดมั่นในการส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งมีความเชื่อมโยงทางประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรมมาอย่างยาวนาน ความเข้าใจที่ถูกต้องจึงเป็นหัวใจสำคัญของความร่วมมือในระดับภูมิภาค และไม่ควรให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องหรือข่าวลือมาบั่นทอนสายสัมพันธ์อันดีดังกล่าว

“ยูเนสโกยืนยันเสมอว่า วัฒนธรรมคือสะพาน ไม่ใช่กำแพง การขึ้นทะเบียนชุดไทย จึงเป็นการแสดงความหวงแหนและภาคภูมิใจในสิ่งที่เป็นของเรา และพร้อมส่งต่อให้เป็นสมบัติร่วมของมนุษยชาติ” ปลัด วธ. กล่าว

ทั้งนี้ วธ.ขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนร่วมกันส่งแรงสนับสนุนให้ “ชุดไทย” และ “มวยไทย” ซึ่งอยู่ในกระบวนการพิจารณาของยูเนสโกในปี2569 และปี 2571 ตามลำดับ ให้ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนในระดับนานาชาติ โดยยึดหลักความภาคภูมิใจในวัฒนธรรมของชาติ ความเข้าใจในบริบทสากล และการส่งเสริมภาพลักษณ์ไทยในเวทีโลกอย่างสร้างสรรค์