บทความทางกฎหมายโดยอัยการวรเทพ สกุลพิชัยรัตน์ เรื่อง “ส่องคดีหมอบุญ”

ปี 2567 เป็นปีที่มีคดีอาชญากรรมทางเศรษฐกิจใหญ่ใหญ่ และสร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศและประชาชนเกิดขึ้นมากมาย อาทิเช่น คดีดิไอคอนกรุ๊ป , คดีฟอร์เร็กซ์ 3 ดี , คดีโกงหุ้น STARK รวมถึง คดีหมอบุญ

เมื่อเร็วเร็วนี้ พนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 5  ได้ยื่นฟ้องคดีอาญา ภรรยาและลูกสาวหมอบุญ กับพวก รวม 13 คน เป็นจำเลยต่อศาลอาญา เป็นคดีหมายเลขดำที่ อ.387/2568 ในความผิดฐาน “ร่วมกันกู้ยืมเงินอันเป็นการฉ้อโกงประชาชนและร่วมกันฉ้อโกงประชาชน”

ส่วน หมอบุญ กับพวกอีก 2 คน หลบหนียังไม่ได้ตัวมาฟ้องพนักงานอัยการคดีพิเศษ 5 จึงมีความเห็นและคำสั่ง “ควรสั่งฟ้อง” ในความผิดฐานเดียวกัน และแจ้งให้ พนักงานสอบสวน กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ จัดการให้ได้ตัวมาฟ้อง ภายในกำหนดอายุความ 15 ปีนับแต่วันกระทำผิด

มาดู คำฟ้องของ พนักงานอัยการคดีพิเศษ 5.

นายแพทย์ บ. ผู้ต้องหาที่หลบหนี ได้อาศัยความน่าเชื่อถือเกี่ยวกับการประกอบอาชีพแพทย์การประกอบธุรกิจ โรงพยาบาลธ. มีกลุ่มธุรกิจให้บริการทางการแพทย์ ธุรกิจการบริการผู้ป่วย และเครื่องมือแพทย์ ธุรกิจโรงพยาบาล ในนามบริษัท ธ.กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ มีโรงพยาบาลในเครือทั้งในกรุงเทพมหานคร และต่างจังหวัดรวมถึงดำเนินกิจการผ่านบริษัทในเครือ กิจการร่วมค้า และโรงพยาบาลที่รับจ้างบริหาร และกิจการอื่นๆอีกจำนวนมาก ได้กระทำการ ระดมเงินทุนจากประชาชน และได้ไปซึ่งเงิน และทรัพย์สินจากประชาชนจำนวนมาก ประมาณ 16,000 ล้านบาทเศษโดยร่วมกับจำเลยที่ 1-13 และพวกที่หลบหนียังไม่ได้ตัวมาฟ้องได้แบ่งหน้าที่กันทำ ดังนี้

กลุ่มพนักงานบริษัทที่บริหารจัดการ ระดมเงินกู้ มีจำเลยที่ 1-4 กับพวกที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง กลุ่มบุคคลในครอบครัวที่ร่วมกัน ทำสัญญากู้ สัญญาค้ำประกัน จำนำหุ้น จำนองที่ดิน ฯลฯ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ ในการระดมเงินกู้ มีจำเลยที่ 5-7 และกลุ่มตัวแทนนายหน้าเพื่อจัดการระดมเงินทุน มีจำเลย 8-13 กับพวกที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง

ระหว่างประมาณต้นเดือน ม.ค.53 เวลากลางวัน ถึงวันที่ 15 ธ.ค.67 ต่อเนื่องกัน จำเลยทั้ง13 และ นายแพทย์ บ. กับพวกที่หลบหนี ร่วมกันหลอกลวงผู้เสียหาย 605 ราย ผ่านช่องทางสื่อมวลชน และสื่อสังคมออนไลน์ นำเสนอแผนการลงทุน โครงการทั้งใน และต่างประเทศเผยแพร่ทางสื่อหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ คอลัมน์ฐานเศรษฐกิจดิจิทัล เรื่อง “หมอ บ. ทุ่ม 1.6 หมื่นล้าน รุกธุรกิจเฮลท์แคร์ไทย-ต่างประเทศ” ทำให้มีผู้เสียหาย หลงเชื่อเข้าร่วมลงทุนหรือให้กู้ยืมเงิน เพื่อนำไปทำธุรกิจ 5 โครงการ คือ

         1. โครงการสร้างศูนย์มะเร็งตั้งอยู่พื้นที่ 9 ไร่ ย่านปิ่นเกล้า งบประมาณ 4 พันล้านบาท

         2. โครงการสร้างศูนย์ดูแลสุขภาพเวลเนส เซนเตอร์ (Wellness Center) เนื้อที่ 5 ไร่เศษ ย่านพระราม 3 ติดแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นอาคาร 52 ชั้น งบประมาณ 4,000-5,000 ล้านบาท

         3. โครงการสร้างโรงพยาบาลที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว จำนวน 3 แห่งๆ ละ ประมาณ 2,000 ล้านบาท

         4. โครงการเข้าร่วมลงทุนกับโรงพยาบาลในประเทศเวียดนาม งบประมาณ 4,000-5,000 ล้านบาท

          5. โครงการสร้าง medical inteligence ทำหน้าที่บริหารด้านไอทีให้กับหน่วยงานต่างๆ เพื่อลดต้นทุน และปรับปรุงคุณภาพให้ดียิ่งขึ้นใช้งบประมาณ 1,600 ล้านบาท

พร้อมเสนอ แผนการระดมเงินทุนในรูปแบบการกู้ยืมเงินจากประชาชนทั่วไปจำนวน 6 แผนการลงทุน ดังนี้

(1.) การให้กู้ยืมเงินโดยไม่มีหลักประกัน (Clean Loan) โดยออกเช็คชำระหนี้ และมีบุคคลอาวัลเช็ค และมีผู้ค้ำประกัน (กู้แบบไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน) กำหนดให้ผลตอบแทน ร้อยละ 8.5-15 %ต่อปี

(2) การให้กู้ยืมเงินโดยอ้างว่า จะนำหุ้น บริษัท ธ. กรุ๊ป  จำกัด (มหาชน) มามอบให้ผู้ให้กู้ โอนหุ้นให้ผู้ให้กู้) ให้ผลตอบแทนประมาณร้อยละ 7-12 % ต่อปี

(3) การให้กู้ยืมเงินโดยอ้างว่า จะนำหุ้น หรือเช็คมาบ.จ. (จำนำหุ้น) หรือตั๋วสัญญาใช้เงิน ให้ผลตอบแทนประมาณร้อยละ 7-12% ต่อปี

(4) การให้กู้ยืมเงิน โดยมีบุคคลหรือนิติบุคคลมาค้ำประกันให้ผลตอบแทนประมาณร้อยละ 8.5-15 % ต่อปี

(5) การให้กู้ยืมเงิน โดยนำใบหุ้นสามัญของบริษัท ธ. กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) มาค้ำประกัน โดยมอบให้ผู้ให้กู้ถือครองไว้ ให้ผลตอบแทนประมาณร้อยละ7-12 % ต่อปี

(6) การร่วมลงทุน หุ้นไอพีโอ (IPO) หุ้นที่กำลังจะเข้าตลาดหลักทรัพย์ โดยอ้างว่าจะมอบหุ้นของบริษัทโรงพยาบาล ธ.จำกัด ให้ผู้ให้กู้ โดยให้ผลตอบแทนประมาณร้อยละ 5-8% ต่อปี

การลงทุนดังกล่าว ผู้ลงทุนหรือประชาชนจะได้รับเงินคืนหรือผลประโยชน์ตอบแทนในอัตราร้อยละ 7-15 ต่อปี สูงกว่า อัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินจะพึ่งจ่ายได้ การโฆษณาชักชวนประชาชนของจำเลยทั้ง 13 ดังกล่าวข้างต้นเป็นความเท็จทั้งสิ้น จำเลยทั้ง 13 กับพวก ไม่ได้นำเงินที่ได้จาการกู้ยืมเงินไปลงทุน เนื่องจากโครงการต่างๆ ยังไม่มีการเริ่มก่อสร้าง เป็นเพียงแผนการลงทุนที่นำมาหลอกลวงประชาชนทั่วไปเท่านั้น จำเลยทั้ง 13 กับพวก มีเจตนาหลอกลวงประชาชน ที่หวังจะได้รับเงินตอบแทนในอัตราสูงให้นำเงินมาให้กู้ยืมเงินหรือลงทุนด้วย ให้อัตราดอกเบี้ยสูงเป็นเครื่องล่อใจ ก่อนนำเงินที่ได้มาจากผู้ร่วมลงทุนรายอื่นๆ จ่ายเป็นผลประโยชน์ให้แก่ผู้ร่วมลงทุนรายก่อนๆ ในลักษณะต่อเนื่องกันเป็น แชร์ลูกโซ่ มีผู้เสียหายที่ได้แจ้งความร้องทุกข์ในคดีนี้ 605 คน รวมความเสียหาย 16,100,602,806 บาท เหตุเกิดที่แขวงและเขตห้วยขวาง , แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ และหลายจังหวัดทั่วราชอาณาจักร เกี่ยวพันกัน

คราวนี้มาดูข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกัน :

ตามปกติ “การกู้ยืมเงิน” กัน สามารถจะกระทำได้ และไม่เป็นความผิดทางอาญาแต่อย่างใด หากแต่เป็นการผูกพันทางแพ่ง

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 653 –  การกู้ยืมเงินกว่า 2,000 บาทขึ้นไป นั้น ถ้ามิได้ มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่

              ในการกู้ยืมเงินมีหลักฐานเป็นหนังสือนั้น ท่านว่าจะนำสืบการใช้เงินได้ต่อเมื่อมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ให้ยืมมาแสดง หรือ เอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมนั้นได้เวนคืนแล้ว หรือได้แทงเพิกถอนลงในเอกสารนั้นแล้ว

มาตรา 654 – ห้ามมิให้ คิดดอกเบี้ย เกินร้อยละ 15 ต่อปี ถ้าในสัญญากำหนดดอกเบี้ยเกินกว่านั้น ก็ให้ลดลงมาเป็นร้อยละ 15 ต่อปี

แต่ การกู้ยืมเงินจากประชาชนตามคำฟ้องในคดีนี้ จะมีลักษณะแตกต่างจาก “การกู้ยืม” ทางแพ่งดังที่ได้กล่าวแล้ว หากแต่มีลักษณะเป็น “การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน” และมีลักษณะ “ฉ้อโกงประชาชน

พระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527

1. อย่างไรจึงจะเรียกว่าเป็น “การกู้ยืมเงิน” ตามพระราชกำหนด ฯ ฉบับนี้

การรับเงิน ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นใด ในลักษณะของการรับฝาก การกู้ การยืม การจำหน่ายบัตรหรือสิ่งอื่นใด การรับเข้าเป็นสมาชิก การรับเข้าร่วมลงทุน การรับเข้าร่วมกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือในลักษณะอื่นใด โดยที่ “ผู้กู้ยืมเงินหรือบุคคลอื่น” เป็นผู้จ่ายผลประโยชน์ตอบแทน หรือ ตกลงว่าจะจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนแก่ “ผู้ให้กู้ยืมเงิน” ไม่ว่าจะเป็นการรับเพื่อตนเองหรือรับในฐานะตัวแทน หรือลูกจ้างของผู้กู้ยืมเงินหรือผู้ให้กู้ยืมเงินหรือในฐานะอื่นใด และไม่ว่าจะเป็นการรับหรือจ่ายเงิน ทรัพย์สิน ผลประโยชน์อื่นใด จะกระทำด้วยวิธีการใดก็ตาม

สิ่งที่เป็นผลประโยชน์ตอบแทน ได้แก่ เงิน ทรัพย์สิน หรือ ผลประโยชน์อื่นใด ที่ผู้กู้ยืมเงิน หรือบุคคลื่นจ่ายหรือจะจ่ายให้แก่ ผู้ให้กู้ยืมเงิน และไม่ว่าจะจ่ายในลักษณะที่เป็น ดอกเบี้ย เงินปันผล หรือลักษณะอื่นใด

2. การกระทำเช่นใด จึงจะเป็นกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน
2.1 มาตรา 4 – ผู้ใด โฆษณา หรือประกาศ หรือกระทำด้วยประการใด ๆ ให้ปรากฏแก่บุคคลตั้งแต่สิบคน ขึ้นไป ในการ “กู้ยืมเงิน” ตนหรือบุคคลใดจะ “จ่ายหรืออาจจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้” ตามพฤติการณ์แห่งการกู้ยืมเงินในอัตราที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุด ที่สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบัน การเงินจะพึงจ่ายได้ซึ่งตนรู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าตนหรือบุคคลนั้นจะนำเงินจากผู้ให้กู้ยืมเงินรายนั้นหรือรายอื่น มาจ่ายหมุนเวียนให้แก่ผู้ให้กู้ยืมเงิน หรือ โดยที่ตนรู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่า ตนหรือบุคคลนั้น ไม่สามารถประกอบ กิจการใด ๆ โดยชอบด้วยกฎหมาย ที่จะให้ผลประโยชน์ตอบแทนพอเพียงที่จะนำมาจ่ายในอัตรา และ ในการ นั้นเป็นเหตุให้ตนหรือบุคคลใดได้กู้ยืมเงินไป ถือว่า ผู้นั้นได้กระทำความผิดฐาน กู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกง
2.2 มาตรา 5- บุคคลกระทำการกู้ยืมเงินหรือจะกู้ยืมเงิน โดย

 

     (ก) มีการโฆษณาหรือประกาศแก่บุคคลทั่วไป หรือโดยการแพร่ข่าวด้วยวิธีอื่นใด หรือ

    (ข) ดำเนินกิจการกู้ยืมเงินเป็นปกติธุระ หรือ

     (ค) จัดให้มีผู้รับเงินในการกู้ยืมเงินในแหล่งต่าง ๆ หรือ

    (ง) จัดให้มี บุคคลตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป ไปชักชวนบุคคลต่าง ๆ เพื่อให้มีการกู้ยืมเงิน หรือ

    (จ) ได้กู้ยืมเงินจาก ผู้ให้กู้ยืมเงินเกินสิบคนซึ่งมี จำนวนเงินกู้ยืมรวมกันตั้งแต่ห้าล้าน บาทขึ้นไป อันมิใช่การกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินและ

บุคคลผู้นั้น ได้จ่าย หรือโฆษณา ประกาศ แพร่ข่าว หรือ ตกลงว่าจะจ่ายผลประโยชน์ตอบแทน ให้แก่ผู้ให้กู้ยืมเงินในอัตราที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่สถานบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้ กู้ยืมของสถาบันการเงิน จะพึงจ่ายได้

บทลงโทษ หากฝ่าฝืน กระทำผิดฐาน “ร่วมกันกู้ยืมเงินอันเป็นการฉ้อโกงประชาชน”  

มาตรา 12 ต้องระวางโทษ จำคุกตั้งแต่  5 ปีถึง  10 ปี และปรับตั้งแต่ 500,000 บาทถึง 1,000,000 บาทและปรับอีกไม่เกินวันละ 10,000 บาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่

นอกจากพระราชกำหนดฯ ฉบับดังกล่าวแล้ว ยังมีประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 341- ผู้ใด โดยทุจริตหลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สิน จากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ ผู้นั้นกระทำความผิดฐาน ฉ้อโกง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน  3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 343 – การฉ้อโกงประชาชน

ถ้าความผิดตามมาตรา 341 ได้กระทำโดย กล่าวเท็จต่อประชาชน หรือ โดยปกปิดข้อเท็จจริงซึ่งควรเปิดเผยต่อประชาชน ผู้กระทำต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

จากคำฟ้อง และข้อกฎหมายดังกล่าว จะพบคำสำคัญจากคำฟ้อง และบทกฎหมาย

1. ระดมทุน
2. แผนการระดมเงินทุนในรูปแบบการกู้ยืมเงินจากประชาชนทั่วไป
3. ผลประโยชน์ตอบแทนในอัตราร้อยละ 7-15 ต่อปี สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินจะพึ่งจ่ายได้
4. การโฆษณาชักชวนประชาชนดังกล่าว เป็นความเท็จทั้งสิ้น
5. ไม่ได้นำเงินที่ได้จาการกู้ยืมเงินไปลงทุน เนื่องจากโครงการต่างๆ ยังไม่มีการเริ่มก่อสร้าง เป็นเพียงแผนการลงทุนที่นำมาหลอกลวงประชาชนทั่วไปเท่านั้น
6. ให้อัตราดอกเบี้ยสูงเป็นเครื่องล่อใจ ก่อนนำเงินที่ได้มาจากผู้ร่วมลงทุนรายอื่นๆ จ่ายเป็นผลประโยชน์ให้แก่ผู้ร่วมลงทุนรายก่อนๆ ในลักษณะต่อเนื่องกันเป็น ***แชร์ลูกโซ่****

 

จุดหมายปลายทางของคดีนี้ ไม่ว่า ศาลจะพิพากษาว่า จำเลยทั้ง 13 คนกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ หรือ ลงโทษจำเลยบางคน หรือ ยกฟ้องจำเลยบางคน หรือ ยกฟ้องจำเลยทั้งหมด ขึ้นอยู่กับ ทางนำสืบพยานของโจทก์ (พนักงานอัยการฯ)  และจำเลย ว่า จะสามารถรับฟังข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายได้เพียงใด รวมถึงคดีหมอบุญ กับพวกอีก 2 คนที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง ด้วย

มาถึงบรรทัดนี้ ผู้อ่านคงได้รับความรู้จากบทความทางกฎหมายเรื่องนี้ไม่มากก็น้อย ทั้งใน เงื่อนแง่ การจะนำเงินไปลงทุนอะไร กับใคร แม้จะมี ลักษณะคล้ายการกู้ยืมเงินกัน และมีการเสนอหลักประกันที่ดูน่าเชื่อถือ และมีการเสนอผลประโยชน์ตอบแทนอย่างดี และในอัตราที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินจะพึ่งจ่ายได้ก็ตาม” แต่ก็หาใช่ จะมีความปลอดภัยไม่ และจะเป็นการลงทุนที่มีผลตอบแทนสูงไม่ อาจจะต้องสูญเสียทรัพย์สินเงินทองจนหมดตัวก็ได้

ผู้เขียนหวังว่า บทความทางกฎหมายนี้จะเป็น เกราะคุ้มกันไม่ให้ท่านตกเป็น “เหยื่อ” จาก ผู้กระทำผิดฐาน  “ร่วมกันกู้ยืมเงินอันเป็นการฉ้อโกงประชาชนและร่วมกันฉ้อโกงประชาชน”

อย่างไรก็ตาม ตามกฎหมายยังคงถือว่า  จำเลยทั้ง 13 คน รวมทั้ง หมอบุญ กับพวกอีก 2 คนที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง เป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่า ศาลจะได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าเป็นผู้กระทำผิด

การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรใช้ความระมัดระวัง

นายวรเทพ  สกุลพิชัยรัตน์

อัยการศาลสูงจังหวัดสมุทรปราการ

(อดีต) รองประธานคณะอนุกรรมาธิการการศึกษาการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน ในคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน ในสภาผู้แทนราษฎร สมัยที่ 25

19 กุมภาพันธ์ 2568