นครราชสีมา – ชาวนาในพื้นที่ลุ่มน้ำลำตะคอง ฝืนปลูกข้าวนาปรังกว่า 6,000 ไร่ ไม่สนคำเตือนชลประทาน แม้เขื่อนลำตะคองเหลือน้ำใช้แค่ 19%

ชาวนาในพื้นที่ลุ่มน้ำลำตะคอง จ.นครราชสีมา ยังคงฝืนทำนาปรังกันอย่างคึกคัก แม้ว่าปัจจุบันสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำลำตะคอง จะมีปริมาณน้ำใช้ได้เพียง 19% โดยทางโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำตะคอง ได้ประกาศขอความร่วมมือให้เกษตรกรที่อยู่ในลุ่มน้ำลำตะคองทั้ง 5 อำเภอ ได้แก่ อ.สีคิ้ว, อ.สูงเนิน, อ.ขามทะเลสอ, อ.เมืองนครราชสีมา และ อ.เฉลิมพระเกียรติ งดทำนาปรังทั้งหมด เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายกับนาปรังที่ปลูก

และเพื่อที่จะกักเก็บน้ำไว้ใช้สำหรับอุปโภคบริโภคเป็นหลักก็ตาม แต่ชาวนาบางส่วนก็ยอมเสี่ยงปลูกข้าวนาปรังกันอย่างคึกคัก อย่างเช่นชาวนาในพื้นที่ ต.บ้านโพธิ์ และ ต.พะเนา อ.เมืองนครราชสีมา ซึ่งเป็นพื้นที่ท้ายน้ำลำตะคอง โดยมีคลองลำบริบูรณ์ คลองสาขาของลำตะคอง ขณะนี้มีน้ำค้างอยู่ในคลองไม่มากนัก แต่พบว่ามีชาวบ้านพากันสูบน้ำทำนาปรังกันหลายร้อยไร่ โดยไม่สนคำเตือนของเจ้าหน้าที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำตะคองแต่อย่างใด

นายประพันธ์ แก้วม่วงพะเนา อายุ 60 ปี ชาวนาบ้านยองแยง หมู่ที่ 8 ต.พะเนา อ.เมืองนครราชสีมา กล่าวว่า ตนเองทราบดีว่าปีนี้อ่างเก็บน้ำต่างๆ ในพื้นที่ จ.นครราชสีมา มีน้ำเหลือน้อยกว่าทุกปี แต่ด้วยความที่เป็นชาวนา และทำนาปรังมาทุกปี ช่วงหน้าแล้งนี้ก็ไม่รู้ว่าจะทำอะไร ถ้าปล่อยนาทิ้งไว้ก็จะรกร้างเสียเปล่า จึงยอมที่จะเสี่ยงลงทุนทำนาปรัง จำนวน 15 ไร่ โดยหวังว่าจะได้ผลผลิตบ้าง เพราะปีที่แล้ว ได้ประมาณ 7 ตัน แต่ปีนี้รู้สึกว่าจะแย่กว่าเดิม เพราะนอกจากน้ำจะน้อยแล้ว ช่วงหว่านข้าวที่ผ่านมาเจอกับสภาพอากาศหนาวเย็นอีก ทำให้ต้นข้าวไม่เติบโต อาจจะได้ผลผลิตน้อยกว่าปีที่แล้ว

ทั้งที่ลงทุนมาก เฉพาะค่าน้ำมันเครื่องสูบน้ำสัปดาห์ละ 2 ครั้ง ก็ใช้เงินอย่างน้อยสัปดาห์ละไม่ต่ำกว่า 300 บาท ยังไม่รวมค่าปุ๋ย ค่ายา และค่าเมล็ดพันธุ์อีก ประเมินค่าใช้จ่ายมากพอสมควร โดยเฉพาะช่วงเดือนเมษายน ที่ข้าวกำลังตั้งต้อง ต้องใช้น้ำมากเป็นพิเศษ ถ้าขาดน้ำช่วงนั้นเมล็ดข้าวจะลีบหมด เสียหายมาก จึงต้องสูบน้ำเข้านาต่อเนื่อง จนถึงช่วงใกล้จะเก็บเกี่ยว ซึ่งอยู่ช่วงระหว่างปลายเดือนเมษายนถึงต้นเดือนพฤษภาคมนี้ ซึ่งยอมรับว่าเสี่ยงมาก แต่ก็ทำใจไว้ก่อนแล้ว ถ้าข้าวเสียหายก็รับสภาพได้

ด้านนายสุคนธ์ เต็มยศยิ่ง ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำตะคอง เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำลำตะคอง ณ วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2568 มีปริมาณน้ำกักเก็บเหลืออยู่ 78.433 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 24.94% ของความจุกักเก็บทั้งหมด 314.49 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ปริมาณน้ำใช้การได้ เหลือเพียง 55.713 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 19.09% เท่านั้น ซึ่งถือว่ามีปริมาณน้ำน้อยมากในปีนี้ ดังนั้นช่วงหน้าแล้งนี้จึงงดการจ่ายน้ำเพื่อการเกษตรทั้งหมด เพื่อเก็บน้ำไว้ใช้สำหรับอุปโภคบริโภคเป็นหลัก แต่ถึงอย่างไรก็ตาม จากการลงพื้นที่สำรวจตามเส้นทางน้ำลำตะคอง ตั้งแต่ อ.สีคิ้ว ลงมาถึงพื้นที่ อ.เมืองนครราชสีมา พบว่ามีเกษตรกรฝืนทำนาปรังมากกว่า 6,000 ไร่

โดยมีการสูงน้ำจากลำตะคองและลำน้ำสาขาของลำตะคอง เพื่อทำนาปรังกันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลกระทบต่อท้องถิ่นบางพื้นที่ ที่จะต้องใช้น้ำจากลำตะคองเพื่อผลิตน้ำประปา เพราะระดับน้ำต่ำกว่าหัวกะโหลกเครื่องสูบน้ำ จนทางอ่างเก็บน้ำลำตะคองต้องส่งน้ำมาเพิ่มให้ เพื่อให้เพียงพอสำหรับทำน้ำประปาอย่างทั่วถึง ขณะเดียวกันก็มีหลายท้องถิ่นซึ่งมีอ่างเก็บน้ำดิบสำหรับทำน้ำประปา แต่ปริมาณน้ำไม่เพียงพอ หากพบว่ามีปริมาณน้ำดิบเหลืออยู่ไม่ถึง 50% ทางอ่างเก็บน้ำลำตะคองก็จะมีการส่งน้ำมาให้เป็นช่วงๆ โดยมีการนัดหมายกับท้องถิ่นไว้ เพื่อที่จะสูบได้ทันตามเวลาที่ส่งน้ำให้ โดยทางโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำตะคอง ได้วางแผนบริหารจัดการน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคไว้ว่าในช่วงหน้าแล้ง จนถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม 2568 จะมีน้ำเพียงพอสำหรับอุปโภคบริโภคอย่างแน่นอน

นายสุคนธ์ฯ กล่าวอีกว่า สำหรับพี่น้องเกษตรกรที่มีนาอยู่ริมน้ำลำตะคองและลำสาขาของลำตะคอง ตนเองอยากฝากว่าปีนี้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำลำตะคองเหลือน้อยมากกว่าทุกปีที่ผ่านมา ดังนั้นจึงไม่มีน้ำเพียงพอสำหรับทำนาปรังอย่างแน่นอน โดยน้ำที่ส่งลงมาช่วงนี้เป็นน้ำสำหรับใช้อุปโภคบริโภคเท่านั้น จึงอยากขอความร่วมมือว่าให้งดทำนาปรังเสีย เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดความเสียหายของขาวนาปรังได้ พร้อมกันนี้ก็ขอให้ท้องถิ่นต่างๆ รวมทั้งผู้นำชุมชน ได้ช่วยประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบ เพื่อให้ประชาชนมีน้ำอุปโภคบริโภคได้อย่างทั่วถึง และผ่านพ้นวิกฤติช่วงหน้าแล้งนี้ไปด้วยกัน

โดย…ประสิทธิ์ ตั้งประเสริฐ // นครราชสีมา