นักวิชาการ มข.ระบุ พรรคประชาชนต้องวางแผนใหม่เพราะพลาดเป้าเก้าอี่ อบจ.ไปเยอะ ชู “ทักษิณ”พ่อมดการเมืองที่อิทธิฤทธิ์ยังคงมีอยู่

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 4 ก.พ. 2568 ที่คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หรือ มข. รศ.ดร.พรอัมรินทร์ พรหมเกิด อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษวิทยา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มข. เปิดเผยว่า จากผลการเลือกตั้ง อบจ.ที่ผ่านมา ทุกพรรคการเมืองต้องเริ่มมองแล้วว่าต้องสร้างฐานการเมืองท้องถิ่นให้แข็งแรงเพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งการเมืองระดับประเทศ  ดูได้จากการที่ พรรคเพื่อไทยส่งลงเลือกตั้ง นายก อบจ. 16 จังหวัด ได้มา 10 เขต ผลงานนี้โดยส่วนตัวคิดว่าทำได้ดีในระดับหนึ่ง

“มนต์ขลังของคุณทักษิณที่ทุกคนพูดว่าเสื่อมแล้ว แต่การเลือกตั้งครั้งนี้แสดงให้เห็นแล้วว่ายังมี อิทธิฤทธิ์อยู่พอสมควร ในช่วงขณะนี้ แต่ต้องมองระยะยาวว่าถ้าเพื่อไทยไม่มีคุณทักษิณแล้วจะมีใครเป็นตัวแทนได้หรือไม่ คือปัญหาและไม่มีคนรุ่นใหม่ที่จะมีบทบาทโดดเด่นเหมือนคุณทักษิณ การเลือกตั้งครั้งนี้ทำได้ดีโดยเฉพาะไม่เสียเมืองหลวงเชียงใหม่ถือเป็นหมุดหมายสำคัญถ้าเสียที่เชียงใหม่จะทำให้มีปัญหา ถึงแม้จะเสีย เชียงราย ลำพูนไปแต่เมืองใหญ่ๆยังคงได้อยู่”

รศ.ดร.พรอัมรินทร์ กล่าวต่ออีกว่า สำหรับพรรคประชาชนนั้นการเลือกตั้งนายก อบจ. ครั้งนี้พลาดเป้าหมายมากพอสมควรเพราะว่าในจังหวัดที่มี สส. เต็มจังหวัด ทั้งในภาคกลาง ภาคตะวันออก รวมถึงภาคใต้ที่ภูเก็ตและที่คาดหมายคือ สุราษฎร์ธานี  ก็ไม่ได้ตามเป้าแต่ที่ลำพูนคือหนึ่งในเป้าหมายแต่ได้เพียง 1 ที่นั่ง ภาพรวมพลาดเป้าไปเยอะ แต่บริบทของการเมืองท้องถิ่นกับการเมืองระดับชาติมีบริบทแตกต่างกันอย่างน้อย 2 ประการ ประการแรกการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นเขตเลือกตั้งเป็นเขตทั้งจังหวัดจะมีปัญหาสำหรับพรรคการเมืองแนวใหม่ซึ่งต้องการเสนอคนใหม่เข้ามา

“ส่วนใหญ่นายก อบจ. แชมป์เก่าจะเป็นฝ่ายชนะที่ชนะได้เพราะว่า มีผลงาน มีงบประมาณ มีเครือข่ายการจัดตั้ง มีหัวคะแนน มี ส.อบจ. ในเครือข่ายซึ่งเป็นการสานประโยชน์ซึ่งกันและกันและที่สำคัญมีระบบอุปถัมภ์ กานเลือกตั้ง อบจ. ที่ผ่านมา ทุกพรรคการเมืองมองเห็นข้อมูลเป็นรูปธรรมว่าเป็นข้อมูลเหล่านี้มันจะเป็นประโยชน์กับพรรคการเมืองของตัวเองในแง่ของการสรุปบทเรียนว่าที่ตัวเองแพ้ในพื้นที่ทั้งที่มี สส. แต่กลับพ่ายแพ้ อบจ. เกิดจากอะไร การคัดเลือกตัวผู้สมัครก็มีความสำคัญและสังเกตดูครั้งนี้มีการเลือกตั้งนายก อบจ. หลายจังหวัดมีผู้ใช้สิทธิแต่เลือกโนโหวด

รศ.ดร.พรอัมรินทร์ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ดูได้จาก จ. นครราชสีมาคะแนนโนโหวต 100,000 กว่าคะแนน เชียงใหม่ 50,000 กว่าคะแนน และจังหวัดอื่นๆก็ คะแนนโนโหวตออกมา 40,000-50,000 คะแนน ซึ่งคนที่ไปใช้สิทธิแต่ ไม่ลงเลือกใคร ดังนั้นการเมืองต่อจากนี้ไปพรรคการเมืองแต่ละพรรคจะต้องเลือกผู้สมัครที่โดนใจชาวบ้านที่มีความรู้ความสามารถจริงๆ