นครราชสีมา-ควบคุมโรคที่ 9 โคราช เผย 4 จังหวัดอีสานล่าง “นครชัยบุรินทร์” ปี 67 พบป่วยไข้หูดับมากถึง 197 ราย ตาย 22 ราย สถานการณ์อยู่ในระดับเสี่ยงสูง โคราช ป่วยและตายมากสุด ย้ำ ปชช. กินสุก ร้อน สะอาด
นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา เปิดเผยสถานการณ์โรคไข้หูดับใน 4 จังหวัดอีสานตอนล่าง ในเขตสุขภาพที่ 9 ว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ถึง 2 มกราคม 2568 เขตสุขภาพที่ 9 พบผู้ป่วยโรคไข้หูดับ มากถึง 197 ราย และมีผู้เสียชีวิตถึง 22 ราย เมื่อแยกเป็นรายจังหวัด พบว่า จังหวัดนครราชสีมา มีผู้ป่วยมากสุด จำนวน 120 ราย และเสียชีวิตมากสุด จำนวน 10 ราย รองลงมาคือ จังหวัดชัยภูมิ มีผู้ป่วย 37 ราย เสียชีวิต 7 ราย , จังหวัดสุรินทร์ มีผู้ป่วย 24 ราย เสียชีวิต 3 ราย และจังหวัดบุรีรัมย์ มีผู้ป่วย 16 ราย เสียชีวิต 2 ราย ตามลำดับ โดยกลุ่มอายุที่ป่วยสูงสุดคือ กลุ่มอายุ 65 ปีขึ้นไป รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 55-64 ปี และกลุ่มอายุ 45-54 ปี ตามลำดับ
จากการประเมินความเสี่ยงอย่างรวดเร็วในเขตสุขภาพที่ 9 พบว่า ยอดผู้ป่วยและเสียชีวิตจากโรคไข้หูดับในปี 2567 เพิ่มสูงขึ้นมากกว่าปี 2566 และมีความเสี่ยงอยู่ในระดับที่สูง ซึ่งข้อมูลรายงานจากโปรแกรมตรวจสอบข่าวการระบาดปี 2561–2565 พบจังหวัดนครราชสีมามีผู้เสียชีวิตอย่างต่อเนื่อง ส่วนอีก 3 จังหวัด คือ จ.บุรีรัมย์ จ.สุรินทร์ และ จ.ชัยภูมิ ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต แต่เมื่อเข้าปี 2566 กลับพบว่า จำนวนผู้ป่วยสูงกว่าค่ามัธยฐาน 5 ปีย้อนหลัง โดย 4 จังหวัดในเขตสุขภาพที่ 9 มีรายงานผู้เสียชีวิต 10 ราย ซึ่งเป็นจำนวนสูงที่สุดในรอบ 5 ปีย้อนหลัง
ในขณะที่ปี 2567 ที่ผ่านมา จำนวนผู้ป่วยกลับเพิ่มสูงขึ้นกว่า ปี 2566 และผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่จ.นครราชสีมา ดังนั้น จะต้องเร่งดำเนินการจัดการความเสี่ยงอย่างเข้มข้นใน จ.นครราชสีมา และเฝ้าระวังการเกิดโรคไข้หูดับใน 3 จังหวัดที่เหลือ โดยจำเป็นต้องทำงานแบบบูรณาการกับหลายหน่วยงาน เข้ามามีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาตามแนวคิด “สุขภาพหนึ่งเดียว” จึงจะสามารถยุติปัญหาได้อย่างแท้จริง
ส่วนพี่น้องประชาชนต้องยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” ไม่กินหมูดิบ ให้กินหมูที่ปรุงสุกเท่านั้น และความเชื่อที่ว่า บีบมะนาวหรือดื่มสุรา ร่วมกับการกินหมูดิบหรือหมูสุกๆดิบๆ จะทำให้หมูสุก ก็เป็นความเชื่อที่ผิด นอกจากนี้ควรเลือกซื้อเนื้อหมูจากแหล่งที่มีมาตรฐานเชื่อถือได้ สำหรับอาหารปิ้งย่างควรใช้อุปกรณ์คีบเนื้อหมูสุกและเนื้อหมูดิบแยกจากกัน ไม่ควรใช้ตะเกียบคีบหมูดิบแล้วนำมารับประทาน เพราะหากติดเชื้อโรคไข้หูดับ อาจทำให้สูญเสียการได้ยิน หรือที่เรียกว่า “หูดับ” จนถึงขั้นหูหนวกถาวร และหากอาการรุนแรงอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้
ส่วนพ่อครัว แม่ครัว หรือผู้ปรุงอาหารที่มีบาดแผล แล้วไปสัมผัสเนื้อหมูหรือเลือดหมูดิบๆ ที่มีเชื้อ ก็มีความเสี่ยงติดเชื้อโรคไข้หูดับได้เช่นกัน จึงขอให้เพิ่มความระมัดระวังและสวมอุปกรณ์ป้องกันทุกครั้งที่สัมผัสหมู รวมทั้ง ผู้เลี้ยงหมู ผู้ที่ทำงานในโรงฆ่าสัตว์ ชำแหละเนื้อหมู สัตวบาล สัตวแพทย์ ซึ่งเสี่ยงสัมผัสหมูติดโรคได้ง่าย ควรสวมรองเท้าบู๊ทยาง สวมถุงมือ และสวมเสื้อที่รัดกุมระหว่างทำงาน หากมีบาดแผลต้องปิดแผลให้มิดชิด และล้างมือหลังสัมผัสหมูทุกครั้ง เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย .
โดย…ประสิทธิ์ ตั้งประเสริฐ / นครราชสีมา