กระทรวงวัฒนธรรม เผยภายหลังงานลอยกระทงทั่วประเทศ มียอดนักท่องเที่ยวรวม 6.6 ล้านคน พบการใช้จ่ายช่วงเทศกาลลอยกระทงสูงขึ้น มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 8,299 ล้านบาท สนองนโยบายการผลักดัน Soft power เทศกาลไทยสู่ World Event เป็นหมุดหมายสำคัญของนักท่องเที่ยวทั่วโลกชัดขึ้น
เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2567 นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผย ว่า ภายหลังรัฐบาลโดยกระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ได้รณรงค์จัดงานส่งเสริมประเพณีลอยกระทง ประจำปี 2567 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และต่างจังหวัดทั่วประเทศ ภายใต้แนวคิด“ลอยกระทง วิถีไทย ปลอดภัย ใส่ใจสิ่งแวดล้อม” โดยมีหมูเด้งเป็นพรีเซนเตอร์เชิญชวนชาวไทยละชาวต่างชาติไปเที่ยวงานลอยกระทง เพื่อผลักดัน Soft power เทศกาลลอยกระทงของไทย ให้เป็น World Event หมุดหมายสำคัญของนักท่องเที่ยวทั่วโลก โดยขอให้สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดและสภาวัฒนธรรมจังหวัดทั่วประเทศ ร่วมกับภาคีเครือข่ายรณรงค์ ส่งเสริมการจัดงานและรายงานผลการจัดงานส่งเสริมประเพณีลอยกระทงทั้งในเขตกรุงเทพมหานคร 5 จังหวัด อัตลักษณ์ (เชียงใหม่ สุโขทัย ตาก ร้อยเอ็ด สมุทรสงคราม) และ 8 เมืองน่าเที่ยว (ลำปาง ขอนแก่น นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ พระนครศรีอยุธยา กาญจนบุรี ภูเก็ต) รวมทั้ง ทุกจังหวัดทั่วประเทศ พบว่า ภาพรวมทั้งประเทศมีจำนวนนักท่องเที่ยวช่วงเทศกาลลอยกระทงปีนี้ ประมาณ 6.6 ล้านคน เพิ่มขึ้น 4.1 ล้านคน จากปี 2566 ที่มีจำนวน 2.5 ล้านคน สร้างมูลค่าการใช้จ่ายสูงถึง 8,299 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,299 ล้านบาท หรือ 38 % จากปี 2566 ที่มีรายได้ 6,000 ล้านบาท
นางสาวสุดาวรรณ เปิดเผยอีกว่า งานลอยกระทงกว่าที่จัด ณ วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร กรุงเทพมหานคร มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาร่วมงานจำนวนมากกว่า 58,500 คน ทำให้ทุกพื้นที่ของวัดอรุณวรารามราชวรมหาวิหาร เต็มไปด้วยนักท่องเที่ยว เกิดการจับจ่ายใช้สอยในพื้นที่เป็นจำนวนมาก และยังพบว่า ปีนี้ผู้มาลอยกระทงมีความตระหนักและให้ความสำคัญกับการลอยกระทงที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ใช้กระทงที่เป็นวัสดุธรรมชาติหรือสามารถนำกลับมาใช้ใหม่เพิ่มมากขึ้น โดยจากรายงานของสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร ได้จัดเก็บกระทงจำนวนทั้งสิ้น 514,590 ใบ เป็นกระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ 506,320 ใบ (คิดเป็น 98.39 %) และกระทงที่ทำจากโฟม 8,270 ใบ (คิดเป็น 1.61 %) เมื่อเทียบกับปี 2566 ซึ่งจัดเก็บได้ 639,828 ใบ พบว่าจำนวนกระทงลดลง 125,238 ใบ หรือลดลงประมาณ 19.57 % และยังพบว่าประชาชนลอยกระทงดิจิทัลหรือลอยออนไลน์ผ่านทางเว็บไซต์ในบรรยากาศเสมือนจริงของสวนสาธารณะของกรุงเทพมหานคร ทั้ง 34 แห่ง และริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไอคอนสยาม มีประชาชนร่วมลอยกระทง จำนวน 36,832 ใบ ส่วนการลอยกระทงดิจิทัลในพื้นที่ 4 จุด มีจำนวน 10,885 ใบ
สำหรับการจัดงานในพื้นที่ 5 จังหวัดอัตลักษณ์ ได้แก่ งานประเพณีลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ จ.สุโขทัย ,
งานประเพณีลอยกระทงสายไหลประทีป 1,000 ดวง จ.ตาก , งานประเพณีเดือนยี่เป็ง จ.เชียงใหม่ , ประเพณีลอยกระทงกาบกล้วยเมืองแม่กลอง จ.สมุทรสงคราม และประเพณีสมมาน้ำ คืนเพ็ง เส็งประทีป จ.ร้อยเอ็ด พบว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยว เดินทางเข้าพื้นที่จัดงานทั้ง 5 จังหวัดอัตลักษณ์ กว่า 1 ล้านคน มีมูลค่าการใช้จ่ายรวมกว่า 2,823 ล้านบาท โดยงานลอยกระทงของจังหวัดเชียงใหม่ มีจำนวนนักท่องเที่ยวและมีรายได้สูงเป็นอันดับ 1 มูลค่ากว่า 2,600 ล้านบาท เนื่องจากเป็นพื้นพื้นที่ยอดนิยมของคนไทย และเริ่มมีสภาพอากาศที่เย็นลง ผนวกกับรูปแบบการจัดงานที่มีอัตลักษณ์และสวยงาม เป็นประเพณีวัฒนธรรมที่สืบทอดมาอย่างยาวนาน
“ความสำเร็จของการรณรงค์ปีนี้ เกิดขึ้นจากความร่วมมือของทุกหน่วยงานที่ร่วมบูรรณาการตามมาตรการต่าง ๆ รวมถึงการช่วยกันเผยแพร่องค์ความรู้และข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับแนวปฏิบัติที่เหมาะสมในประเพณีลอยกระทงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ต้องขอบคุณหน่วยงานทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติ
ที่เดินทางไปท่องเที่ยวช่วงเทศกาลลอยกระทง และให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตามมาตรการต่าง ๆ ที่กำหนดไว้ในปีนี้ด้วย ทั้งนี้เชื่อว่า ปีต่อ ๆ ไป คาดว่า เทศกาลลอยกระทงของไทย จะพัฒนาไปสู่ World Event เป็นหมุดหมายสำคัญของนักท่องเที่ยวทั่วโลกได้อย่างแน่นอน” นางสาวสุดาวรรณ กล่าว