นาย ซาฟีอี เจ๊ะเลาะ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาสพร้อมคณะกรรมการ ได้ร่วมต้อนรับ พลโท ไพศาล หนูสังข์ แม่ทัพภาคที่4/ ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค4 ที่ได้มาเยี่ยมและพบปะหารือครั้งแรกหลังได้รับตำแหน่งใหม่ ถึงการเตรียมพร้อมขับเคลื่อนงาน การสร้างสภาวะสิ่งแวดล้อมและทำความเข้าใจกับคนในพื้นที่ เพื่อทำให้เกิดสันติสุขชายแดนใต้ เน้นกำลังพลและเข้าถึงประชาชน เพื่อการปฏิบัติงานได้อย่างสันติภาพ

พลโท ไพศาล  หนูสังข์ แม่ทัพภาคที่ 4 / ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ได้ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนว่า “จะขับเคลื่อนงานทุกหน่วยตามโครงสร้างให้เข้มแข็งและปฏิบัติงานตามขอบเขตอย่างเต็มประสิทธิภาพ เรื่องที่สำคัญคือเรื่องของการสร้างความเข้าใจในพื้นที่ให้แก่องค์กรที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศเพื่อให้ได้รับทราบถึงความเป็นจริงในพื้นที่ เมื่อองค์กรต่าง ๆ เหล่านั้นเข้าใจแล้วก็จะได้ช่วยกันสนับสนุนการแก้ไขปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญคือในปี 2570 คาดว่าการปฏิบัติราชการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้จะกลับเข้าสู่กลไกปกติของภาครัฐ กำลังหลักต่าง ๆ ที่มาปฏิบัติหน้าที่มีแนวคิดที่จะเสริมสร้างให้เข้มแข็งโดยร่วมกับกรมการปกครองและส่วนของจังหวัด ในส่วนของการป้องกันเหตุการณ์รุนแรงที่ผ่านมา แม้จะมีการลดกำลังลงแต่ในส่วนที่มีอยู่นั้นยังคงปฏิบัติงานอย่างเข้มแข็งทั้งส่วนของทหาร ตำรวจ

และฝ่ายปกครอง รวมถึงอาสาสมัครประจำพื้นที่ต่าง ๆ ต้องมีการบูรณาการร่วมกัน และในวันนี้หลังจากได้รับมอบหน้าที่ก็มีการประชุมแถลงแผนในทันทีเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพ เน้นย้ำในส่วนกำลังที่มีอยู่ต้องมีความทุ่มเทในการปฏิบัติงานมากขึ้นทุกส่วน นอกจากเจ้าหน้าที่ที่มาปฏิบัติหน้าที่ในการรักษาความปลอดภัยแล้วนั้น ส่วนที่สำคัญคืออาสาสมัครประจำพื้นที่และภาคประชาสังคมที่ต้องช่วยกันเป็นหูเป็นตาให้กับทางราชการเพื่อแจ้งข่าวสารต่าง ๆ ให้เจ้าหน้าที่หรือหน่วยในพื้นที่ได้หามาตรการการป้องกันการก่อเหตุ ที่จะนำมาสู่สันติสุขชายแดนใต้อย่างยั่งยืน”
โดยมีนโยบายการเสริมสร้างสันติสุขของ ผอ.รมน.ภาค 4 ประจำปี 2568 รวม 5 งานสำคัญ คือ

1. งานการควบคุมพื้นที่และการบังคับใช้กฎหมาย
ปรับรูปแบบใช้การปฏิบัติเชิงรุก เข้าถึงพี่น้องประชาชน เพื่อเข้าไปช่วยเหลือและคุ้มครองทั้งพี่น้องไทยพุทธและมุสลิม รวมทั้งการติดตามบังคับใช้กฎหมายต้องยึดมั่นตามหลักสิทธิมนุษยชนในส่วนของการจัดระเบียบพื้นที่ตามแนวชายแดน ไทย – มาเลเซียจะต้องบูรณาการทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นการป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายทุกรูปแบบ

2. งานการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด
บูรณาการทุกหน่วยงานในการขับเคลื่อนทั้งงานการป้องกันและปราบปรามอีกทั้งขับเคลื่อนโครงการบำบัดฟื้นฟูโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน (CBTx) ให้เกิดการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม

3. งานการส่งเสริมการอยู่ร่วมกันภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรมที่เข้มแข็ง
เน้นดำเนินการแบบเป็นไปตามธรรมชาติ และส่งเสริมการฟื้นฟูวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามที่มาตั้งแต่
ในอดีต ขับเคลื่อนให้ชุมชน 2 วิถี เรียนรู้ และยอมรับการอยู่ร่วมกันภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรมอย่างปกติสุข

4.  งานการสร้างความเข้าใจ
มุ่งเน้นการขับเคลื่อนงานการเมือง ให้เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจและความเชื่อมั่นจากประชาชน เพื่อให้เกิดสันติสุขอย่างแท้จริงและยั่งยืน

5. งานบูรณาการด้านความมั่นคงและด้านการพัฒนา
มุ่งเน้นการบูรณาการแผนงาน / โครงการและงบประมาณร่วมกันทุกภาคส่วนให้เกิดการสนับสนุน / เกื้อกูลต่องานด้านความมั่นคงและการพัฒนา ตามแนวทางนโยบายของรัฐบาล
นโยบายเฉพาะด้านกำลังพล

1. ให้ยึดถือปฏิบัติตาม “ยุทธศาสตร์คนดี” กำลังพลต้องไม่มีการสร้างเงื่อนไข และปฏิบัติภารกิจ
ด้วยความมุ่งมั่นทุ่มเท

2. ห้ามกำลังพลเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด สิ่งผิดกฎหมายและการกระทำที่ผิดศีลธรรมโดยเด็ดขาด
ด้านการข่าว

1. บริหารจัดการระบบงานข่าวกรองสนับสนุนงานด้านการพัฒนา

2. บูรณาการระบบข่าวกรองทุกระบบ เพื่อให้การรวบรวมข่าวสาร มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

3. เสริมสร้างพัฒนาข่ายงานข่าวภาคประชาชนให้เข้มแข็ง

4. เพิ่มพูนความรู้ด้านเทคโนโลยีให้แก่กำลังพล เพื่อให้สามารถใช้งานได้อย่างประสิทธิภาพ
ด้านยุทธการ

1. บูรณาการกำลังร่วม 3 ฝ่าย และอาสาสมัครประจำพื้นที่ ในการรักษาความปลอดภัยชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ

2. เสริมสร้างความร่วมมือกับฝ่ายปกครอง เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนจังหวัดชายแดนภาคใต้ (อส.จชต.)

3. ให้หน่วยในโครงสร้าง กอ.รมน.ภาค 4 สน. ยึดถือปฏิบัติตามภารกิจ และขอบเขตงาน ให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม

4. บังคับใช้กฎหมายตามกรอบของอำนาจและหน้าที่อย่างเข้มงวด โดยต้องไม่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยเด็ดขาด

5. เสริมสร้างความรู้ด้านกฎหมายอย่างถูกต้องให้กับกำลังพล เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน
ด้านมวลชนและกิจการพิเศษ

1. ใช้การประชาสัมพันธ์เชิงรุก ในการชี้แจงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น เพื่อให้ทุกภาคส่วนมีความเข้าใจที่ตรงกัน

2. ส่งเสริมภาคประชาสังคม ให้ร่วมกันปฏิเสธและต่อต้านการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ

3. ส่งเสริมการจัดกิจกรรม และเวทีแลกเปลี่ยน เพื่อสร้างความเข้าใจและยอมรับซึ่งกันและกัน

4. อบรมเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการกิจการพลเรือน (จนท.ชป.กร.) และชุดเสริมสร้างความเข้าใจ (ชสจ.) เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

5. ขับเคลื่อนฮูกุมปากัต (ธรรมนูญหมู่บ้าน ๙ ดี) และสภาสันติสุขตำบลลงสู่พื้นที่อย่างทั่วถึง

โดย…แวดาโอ๊ะ หะไร จ.นราธิวาส