“สุวรรณภูมิ”ครบรอบ 18 ปี รองรับแล้วกว่า 5 ล้านเที่ยวบิน ผู้โดยสารจากทั่วโลกมากกว่า 815 ล้านคน ปี 67 ผ่าน 11 เดือน ปี67 ผู้โดยสาร 44.73 ล้านคน เพิ่มขึ้น 33.66 %อาคาร SAT-1 ไร้ปัญหา รับ 28 สายการบินกว่า 1 ล้านคน พ.ย.นี้ เปิดใช้รันเวย์ที่ 3 รับ 94 เที่ยวบินต่อชั่วโมง
นายกิตติพงศ์ กิตติขจร ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยว่า ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) จะครบรอบการดำเนินงาน 18 ปีในวันที่ 28 กันยายน 2567 นี้ ซึ่งนับแต่เปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 2549 ถึงปัจจุบัน ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ถือเป็นอีกหนึ่งท่าอากาศยานแห่งความภูมิใจของคนไทยทำหน้าที่ให้การต้อนรับและให้บริการผู้โดยสารจากทั่วโลกแล้วทั้งสิ้นกว่า 815 ล้านคน รองรับเที่ยวบินรวมทั้งสิ้นกว่า 5 ล้านเที่ยวบิน และปริมาณการขนส่งสินค้าทางอากาศ
รวมกว่า 22 ล้านตัน เป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมที่ร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
ในช่วงเกิดวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคโควิด19 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกับท่าอากาศยานและอุตสาหกรรมการบินทั่วโลก แต่มาตรการจากรัฐบาลเพื่อฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยวทันทีและต่อเนื่องภายหลังการแพร่ระบาดใหญ่สิ้นสุดลง ได้ส่งผลดีต่อผลการดำเนินงานของ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เช่นกัน
โดยผลการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2567 ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2566 – สิงหาคม 2567 (รวม 11 เดือน) มีสายการบินประจำให้บริการจำนวน 128 สายการบิน มีเที่ยวบินที่ทำการบินขึ้น – ลงรวมทั้งสิ้น 318,000 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.37 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีงบประมาณ 2566 มีผู้โดยสารใช้บริการรวมทั้งสิ้น 44.73 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 33.66 และมีปริมาณการขนส่งสินค้ารวมทั้งสิ้น 1.23 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 18
และตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2566ที่ผ่านมา ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ได้เปิดให้บริการอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (Satellite 1: SAT-1) มีผู้โดยสารใช้บริการรวมทั้งสิ้น 1.06 ล้านคน มีเที่ยวบินให้บริการจำนวน 31,400 เที่ยวบิน ปัจจุบันมีสายการบินไปใช้บริการที่อาคาร SAT-1 แล้วจำนวน 28 สายการบิน อาทิ สายการบินไทย สายการบินแอร์แคนาดา สายการบินกาตาร์แอร์เวย์ส สายการบินเวียตเจ็ทแอร์ ฯลฯ
นายกิตติพงศ์ กล่าวว่า ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ยังคงให้ความสำคัญกับการเติมเต็มศักยภาพอย่างไม่หยุดยั้ง เพื่อให้สามารถเป็นแรงขับเคลื่อนหลักในการผลักดันประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางด้านการบินของภูมิภาค (Aviation Hub) ตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งจะประกอบด้วยโครงการลงทุนด้านโครงสร้างขนาดใหญ่ตามแผนแม่บทการพัฒนา ท่าอากาศยาน หรือ Master Plan ตลอดจนการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ภายในท่าอากาศยาน
สำหรับงานโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่นั้น ในเดือนพฤศจิกายนนี้ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ กำหนดเปิดใช้ทางวิ่งเส้นที่ 3 อย่างเป็นทางการ ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพรองรับเที่ยวบินของ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จากปัจจุบัน 68 เที่ยวบินต่อชั่วโมง ให้เป็น 94 เที่ยวบินต่อชั่วโมง โดยในช่วงเดือนกรกฎาคม – สิงหาคม ที่ผ่านมา ทสภ. ได้ดำเนินการทดลองปฏิบัติการทางวิ่งเส้นที่ 3ในภาพรวมประสบความสำเร็จและเป็นไปด้วยความเรียบร้อย นอกจากนี้ อยู่ระหว่างการเตรียมโครงการเพื่อขยายศักยภาพของอาคารผู้โดยสารหลัก (Main Terminal) ได้แก่ การก่อสร้างอาคารส่วนต่อขยายด้านทิศตะวันออก (East Expansion) สามารถรองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 15 ล้านคนต่อปี ด้วยการเพิ่มพื้นที่ประมาณ 80,000 ตารางเมตร โดยความคืบหน้าล่าสุด ได้ออกแบบเสร็จเรียบร้อยแล้วอยู่ระหว่างขั้นตอนเตรียมนำเสนอคณะกรรมการ ทอท. และจะนำเรียนคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในขั้นตอนต่อไป
ด้านสิ่งอำนวยความสะดวกภายในอาคารผู้โดยสาร ได้นำเทคโนโลยีช่วยลดระยะเวลาในด้านการบริการเพื่อแก้ปัญหาความหนาแน่นของผู้โดยสาร อาทิ ระบบ Automated Border Control (เครื่อง ABC) ซึ่งเป็นเครื่องตรวจหนังสือเดินทางอัตโนมัติ สามารถอ่าน E-Passport ได้มากกว่า90 ประเทศทั่วโลก ระบบ Biometric โดย ทสภ. อยู่ระหว่างการทดสอบระบบร่วมกับสายการบินซึ่งเป็นระบบที่ใช้เทคโนโลยี Face Recognition เพื่อระบุตัวตนผู้โดยสาร คาดว่าจะเริ่มให้บริการได้เต็มรูปแบบภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ ในส่วนของระบบเช็กอินด้วยตนเองอัตโนมัติ (Common Use Self Service: CUSS)และระบบรับกระเป๋าสัมภาระอัตโนมัติ (Common Use Bag Drop: CUBD) ปัจจุบันสายการบินและผู้โดยสารเริ่มมีความคุ้นเคยและใช้บริการระบบด้วยตนเองเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากช่วยให้ผู้โดยสารประหยัดเวลา ไม่ต้องรอต่อคิวเช็กอินบัตรโดยสารและโหลดกระเป๋าสัมภาระเหมือนที่ผ่านมา
ทางด้านการบริหารจัดการท่าอากาศยาน เป็น 94 เที่ยวบินต่อชั่วโมงได้มีการนำระบบ A-CDM (Airport Collaborative Decision Making) มาใช้เพื่อให้เกิดการบูรณาการการทำงานร่วมกันกับผู้ให้บริการการจราจรทางอากาศ สายการบิน และผู้ประกอบการภาคพื้น ให้สามารถนำข้อมูลไปบริหารจัดการ สถานะ และเวลาในแต่ละเที่ยวบินให้เป็นไปอย่างแม่นยำ ตรงเวลา เชื่อมต่อและแลกเปลี่ยนข้อมูลร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องแบบ Real timeลดความล่าช้าของเที่ยวบิน ทำให้การบริหารจัดการทรัพยากรเกิดประสิทธิภาพสูงสุด
ในส่วนของการให้บริการขนส่งสินค้าทางอากาศ ทสภ. ได้ร่วมกับ บริษัท บริการภาคพื้น ท่าอากาศยานไทย จำกัด และกรมศุลกากร เปิดตัว ‘ศูนย์บริการศุลกากรเพื่อกระจายสินค้า’ หรือ ‘Multimodal Transportation Center’ เพื่อเป็นศูนย์บริการขนส่งสินค้าผ่านแดนครบวงจรรองรับการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ ทั้ง ทางบกทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ พร้อมดำเนินพิธีการศุลกากรได้เบ็ดเสร็จในที่เดียว สามารถรองรับปริมาณการขนส่งได้กว่า 50,000 ตันต่อปี
นายกิตติพงศ์ กล่าวในตอนท้ายว่า ตลอดระยะเวลา 18 ปีของการดำเนินงาน ไม่เคยหยุดการพัฒนา มุ่งสู่การเป็นหนึ่งใน 20 ท่าอากาศยานที่ดีที่สุดในโลกภายใน 5 ปี พร้อมขับเคลื่อนเศรษฐกิจและอยู่เคียงข้างสังคมไทย ก้าวสู่ปีที่ 19 ด้วยความมุ่งมั่นยกระดับศักยภาพ ผลักดันอุตสาหกรรมการบิน และการท่องเที่ยวของประเทศ ให้บริการด้วยมาตรฐานระดับสากล เป็นความภาคภูมิใจของคนไทยในการต้อนรับผู้มาเยือนจากทั่วทุกมุมโลกได้อย่างเต็มภาคภูมิ