นครราชสีมา – แม่ค้าโคราช บ่นฝนตก ทำใบผักช้ำ รากเน่า ผักปรับราคาสูงขึ้น ยอมกำไรน้อย แบ่งขายราคาเดิม แต่ปริมาณลดลง ช่วยลูกค้า
เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2567 ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่สำรวจราคาผักที่ตลาดสดหัวรถไฟ เขตเทศบาลนครนครราชสีมา ซึ่งพบว่า ผักหลายชนิดที่แม่ค้านำมาขายในแต่ละแผง ส่วนใหญ่จะเป็นผักที่รับซื้อมาตลาดค้าส่งผัก-ผลไม้ในตัวเมืองนครราชสีมาอีกต่อหนึ่ง มีแค่ไม่กี่ชนิดที่ปลูกเอง ขายเอง ในขณะที่ช่วงหน้าฝน ราคาผักบางชนิดมีการปรับตัวสูงขึ้น อย่างเช่น หอม ผักชี เป็นพืชอายุสั้น 30-45 วัน ก็สามารถเก็บขายได้ และตลาด-ผู้บริโภคมีความต้องการของสูง เมื่อสอบถาม นายเพชร (ขอสงวนนามสกุล) อายุ 65 ปี พ่อค้า “ร้านป้าม้วนขายผักสด” ชาวตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา บอกว่า ผักที่รับซื้อมาในช่วงหน้าฝนนี้ จะมีปรับราคาขึ้นบ้างบางชนิด นอกนั้นก็ราคาคงเดิม แต่ก็ยังแพงกว่าเมื่อก่อนมาก ช่วงนี้เศรษฐกิจก็ไม่ค่อยดี ลูกค้าจึงซื้อในปริมาณที่ลดลง ถ้าผักนิดไหนรับซื้อมาแพง ก็จะซื้อมาแค่นิดหน่อยเท่านั้น จะไม่ซื้อเยอะ เพราะกลัวขายไม่หมด
ซึ่งผักที่ปรับราคาสูงขึ้น อย่างเช่น หอม ผักชี ยี่หรา ตนเคยทำแปลงผักมาก่อน จะรู้ปัญหาของเพื่อนเกษตรกรเป็นอย่างดี ว่า ในช่วงหน้าฝน ดินในแปลงผักจะชุ่มน้ำเกินไป ทำให้รากไม่ยึดเกาะและเสี่ยงรากเน่าสูง อีกทั้งใบผักเหล่านี้เมื่อถูกฝน ใบจะช้ำเป็นสีเหลือง ทำให้เก็บส่งขายไม่ได้ ผลผลิตจึงมีน้อย ราคาจึงปรับสูงขึ้นตามกลไกตลาด ซึ่งต้นหอม ผักชี เป็นพืชที่ปลูกง่าย เก็บผลผลิตได้ไว เมื่อก่อนจะขายราคาถูก แค่กิโลกรัมละ 30-50 บาทเท่านั้น แต่ปัจจุบันนี้ราคาพุ่งสูงขึ้นถึงกิโลกรัมละ 120-140 บาทเลยทีเดียว เศรษฐกิจแบบนี้ ซื้อมาแพง จะขายแพงก็ไม่ได้ ต้องขายในราคาเดิม หรือปรับราคาขึ้นแค่ 2-3 บาทเท่านั้น และมีอีกวิธีคือขายราคาเดิม แต่จะมัดขายเป็นกำที่เล็กลง ลูกค้าก็เข้าใจ ถือว่าช่วยๆ กันไป แต่ยืนยันคุณภาพได้ว่า ผักที่ขายจะสดใหม่ทุกวัน เพราะรับซื้อจากเกษตรกรโดยตรงที่ขนผักมาส่งขายในตลาดค้าส่ง
ด้านนางหมี่ ตั้วสูงเนิน แม่ค้า “ร้านยายหมี่ ผักปลอดสารพิษ” ชาวตำบลกุดจิก อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา ที่มาเปิดแผงขายผักในตลาดแห่งนี้ บอกว่า ผักที่นำมาขายจะมีทั้งซื้อมาจากตลาดค้าส่ง และปลูกเอง ซึ่งผักที่ปลูกจะเป็นผักอายุสั้น ดูแลง่าย ใช้พื้นที่ไม่มาก เช่น กระเพรา สะระแหน่ ส่วนผักชนิดอื่นๆ ตนรับซื้อมาอีกทีอย่างละไม่มากนัก เพื่อให้มีผักหลายชนิดไว้ให้ลูกค้าได้เลือกซื้อ ซึ่งผักที่ขายแพงก็จะเป็นต้นหอม ผักชี ช่วงหน้าฝนทุกๆ ปีจะราคาแพงขึ้น แต่ปีนี้ปรับราคาสูงขึ้นรวดเร็ว แค่เดือนเดียว ปรับราคาจากราคากิโลกรัมละ 70-80 บาท ปรับขึ้นเป็นกิโลกรัมละ 130 บาท ตนจึงซื้อมาขายบ้าง แต่ไม่ทุกวัน จะมัดเป็นกำขาย ราคากำละ 10 บาทเท่านั้น ราคายังเท่าเดิม แต่จะได้ปริมาณที่ลดลง เพื่อให้มีกำไรเหลือบ้าง ประคองกันไป
โดย…ประสิทธิ์ ตั้งประเสริฐ//นครราชสีมา