ปลาหมอคางดำ เป็นหนึ่งประเด็นที่อยู่ในความสนใจตลอดเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา แม้ว่าช่วงนี้ก็ยังคงมีบางสื่อที่เกาะติดกระแสต่อเนื่อง แต่ก็มีประเด็นทางการเมือง น้ำท่วมและภัยพิบัติรูปแบบต่างๆ มาเบี่ยงเบนความสนใจของสังคมไป ซ้ำร้ายยังวาดภาพให้ปลาหมอคางดำ ดูน่ากลัวจากการเรียกขานว่า “ปลาปีศาจ” บ้าง “ปลาวายร้าย” บ้าง แม้ปลาชนิดนี้จะบริโภคได้เหมือนปลาทั่วๆไป มีคุณค่าทางอาหาร สามารถนำไปสร้างมูลค่าเพิ่มได้หลากหลาย แต่คนกลับเพ่งเล็งข้อด้อยเพียงข้อเดียวของปลาเพียงเพราะเป็นปลาต่างถิ่นและมีนามสกุลห้อยท้ายว่า “เอเลียนสปีชีส์ : Alien Species” กินดะ ลูกดก อดทน

ที่สำคัญปลาหมอคางดำ เป็นปลาที่มีเจ้าภาพนำเข้าเป็นตัวเป็นตนโดยบริษัทเกษตรอุตสาหกรรมอาหารชั้นนำ และเป็นเพียงผู้เดียวที่ทำทุกอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ต่างจากเอเลียนสปีชีส์อื่นๆ ที่ระบาดในเมืองไทยจนถึงขณะนี้ เช่น ปลาหมอมายัน ปลาหมอบัตเตอร์ ที่ไม่มีผู้นำเข้า จับมือใครดมไม่ได้ จึงไม่สามารถเรียกร้องความรับผิดชอบจากผู้ใดได้ บริษัทเดียวที่นำเข้าถูกต้องก็ต้องหาหลักฐานมาพิสูจน์ตัวเอง เพราะสังคมไม่สนใจรอหลักฐานหรือการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์

ล่าสุด อธิบดีกรมประมง นายบัญชา สุขแก้ว กล่าวว่า กรมฯ ได้ทำหนังสือถึงรัฐบาลกานา ขอให้ช่วยส่งตัวอย่าง DNA ของปลาหมอคางดำ ซึ่งเป็นต้นทางของปลาที่บริษัทเอกชนนำเข้ามา เพื่อตรวจสอบเปรียบเทียบกับพันธุกรรมกับปลาหมอคางดำที่กรมฯ จัดเก็บไว้ในธนาคารยีนส์ (Gene Bank) เพื่อหาข้อยุติเรื่องต้นตอการนำเข้าด้วยการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ และอธิบดีฯ ยังย้ำอีกว่า ไทยควรเดินไปข้างหน้าเพื่อแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำตามแนวทางของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 7 มาตรการโดยเฉพาะการเร่งจับปลาออกจากแหล่งน้ำธรรมชาติและกำจัดให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ หรือ นำไปปรุงเป็นอาหาร หรือ เพิ่มมูลค่าด้วยการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ เช่น ปลาป่น น้ำหมักชีวภาพ และเมนูอาหาร เพื่อใช้ประโยชน์จากปลาให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

ขณะที่ สัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์น้ำและนักวิชาการประมง มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า การพิสูจน์เปรียบเทียบทางพันธุกรรมระหว่างปลาหมอคางดำจากประเทศกานาและปลาที่พบในประเทศไทยขณะนี้ เป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยตอบข้อสงสัยเรื่องต้นตอของปลา โดยนำมาเปรียบเทียบกับผลการศึกษาทางพันธุรกรรมและวิเคราะห์เส้นทางการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำในประเทศไทย 2 ช่วง คือ ปี 2563 และ ปี 2565 ใช้กลุ่มตัวอย่างปลาหมอคางดำจากจังหวัด สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี และระยอง ที่พบว่ามีข้อมูลระยะห่างทางพันธุศาสตร์ และการจัดลำดับความสัมพันธ์เชิงวิวัฒนาการ ชี้ให้เห็นว่าประชากรปลาหมอคางดำที่แพร่ระบาดในประเทศไทยมีแหล่งที่มาร่วมกัน

เพื่อความชัดเจน เมื่อตรวจสอบ DNA ของปลาหมอคางดำแล้ว ก็จำเป็นต้องตรวจสอบบริษัทส่งออกปลาทั้ง 11 บริษัทด้วย ว่าแท้จริงแล้วปลาที่ส่งออกไปเป็นการลงระบบผิดพลาดตามที่กล่าวอ้างจริงหรือไม่ หรือเป็นการลักลอบส่งออกปลาหมอคางดำในกลุ่มปลาสวยงามจริง เพราะการตรวจสอบที่ผ่านมาเป็นการตรวจสอบด้วยวาจา ซึ่งการพิสูจน์ความจริงต้องนำภาพถ่ายปลาที่ส่งออกมาเปรียบเทียบ แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการนำภาพถ่ายมาพิสูจน์ความจริง และเป็นการกล่าวอ้างเพียงอย่างเดียวว่าเป็นการส่งออกปลาหมอมาลาวีและปลาหลังเขียว ที่สำคัญเป็นการลงระบบผิดพลาดนานกว่า 4 ปี ได้อย่างไร

มากไปกว่านั้น การนำเข้า-ส่งออก ที่เป็นมาตรฐานสากลยึดหลักการชื่อวิทยาศาสตร์และชื่อสามัญของปลาเป็นสำคัญ ซึ่งชื่อที่ปรากฎในการส่งออกระบุชื่อปลาหมอสีคางดำ (Blackchin tilapia) และมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า (Sarotherodon melanotheron) ซึ่งทั้ง 11 บริษัทระบุตรงกันมาโดยตลอด และเหตุใดจึงลงเอกสารในระบบผิดพลาดเป็นปลาชนิดนี้ แทนที่จะเป็นปลาชนิดอื่น ที่นำเข้าและส่งออกได้ และเป็นเรื่องที่ต้องตั้งข้อสังเกตว่าประเทศปลายทางตรวจรับสินค้าผ่านศุลกากรและด่านกักกันสัตว์น้ำได้อย่าง นี่อาจสามารถตั้งสมมติฐานได้ว่าเป็นขบวนการทำผิดกฎหมายทั้งต้นทางส่งออกและปลายทางนำเข้า

ระหว่างที่คนไทยควรรอผล DNA จากกานา เพื่อนำมาตรวจสอบเปรียบเทียบ ก็ควรหันไปช่วยกันจับปลาหมอคางดำ จับมาแล้วก็นำไปบริโภคได้ไม่ว่าตัวเล็กหรือตัวใหญ่ล้วนใช้ประโยชน์ได้หมด และไม่ควรปล่อยปลาขนาดเล็กกลับลงไปในแหล่งน้ำ ส่วนกรณีที่พบการระบาดควรแจ้งประมงจังหวัด เพื่อเข้าดำเนินการกำจัดปลาออกจากแหล่งน้ำอย่างรวดเร็ว และดำเนินการต่อตามขั้นตอนกำจัดปลาในระยะต้นและระยะกลางอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อควบคุมปลาให้อยู่ในพื้นที่จำกัดและลดการแพร่ระบาดในระยะยาวอย่างยั่งยืน./

โดย…ชาญศึก ผดุงความดี นักวิชาการอิสระ