เมื่อวันที่  27 สิงหาคม 2567 ที่จังหวัดหลังน้ำท่วมครั้งใหญ่ที่สุดในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา สภาพหลังน้ำลด ได้ทิ้งความเสียหายไว้อย่างมากมาย ตั้งแต่พื้นที่อำเภอทุ่งช้าง  อ.ท่าวังผา  อ.ภูเพียง อ.เวียงสา และ อ.เมืองน่าน ที่ต้องเร่งเก็บกวาดซากขยะและดินโคลนที่หนาถึงกว่า 20 เซนติเมตร  โดยทางนายนพรัตน์ ถาวงศ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดน่าน ต้องประสานนำรถดูดโคลน และรถบรรทุก เข้าช่วยเหลือชาวบ้าน ขณะนี้ทุกหน่วยทหารในพื้นที่จังหวัดน่าน เร่งจัดกำลังพลเพื่อช่วยชาวบ้าน  ส่วนหลายภาคส่วนเอกชน ยังคงนำถุงยังชีพ อาหารแห้ง น้ำดื่มและของใช้จำเป็น ส่งกระจายให้ถึงมือผู้ประสบภัยในพื้นที่ต่างๆ

โดยเฉพาะโรงเรียนที่ประสบภัยน้ำท่วม ที่ต้องการขอรับบริจาคสิ่งของที่จำเป็นสำหรับการเรียนการสอนที่ถูกน้ำท่วมเสียหายทั้งหมด  ขณะที่ชุมชนน้ำสอด  อ.ทุ่งช้าง และ ชุมชนบ้านห้วยพ่าน อ.เชียงกลาง ยังต้องการความช่วยเหลือ เนื่องจากประปาภูเขาและระบบไฟฟ้าเสียหายยังใช้การไม่ได้  ส่วนผู้ประกอบการร้านค้าในเขตเศษฐกิจเทศบาลเมืองน่าน ได้เร่งเก็บกวาดทำความสะอาด  นำสินค้าที่ถูกน้ำท่วม นำมาขายลดราคาเพื่อลดการขาดทุน

โดยชาวบ้าน และผู้ประสบภัยน้ำท่วม พากันไปเลือกซื้อสินค้า เสื้อผ้า  หลังทางร้านมณีวรรณอาภรณ์ บ้านดอนศรีเสริมกสิกร เขตเทศบาลเมืองน่าน   ซึ่งเป็นร้านค้าขายส่งเสื้อผ้า และถูกน้ำท่วมสูง จนเสื้อผ้าถูกน้ำท่วมเสียหายเกือบทั้งหมด ตัดใจนำเสื้อผ้าสินค้าในร้านที่ถูกน้ำท่วมจำนวนมาก นับแสนกว่าตัว ออกมาล้างน้ำ เลหลังขายราคาถูกต่ำกว่าทุน ในราคาเพียง 10-50 บาท   เพื่อลดความขาดทุน ซึ่งประเมินเสียหายไม่ต่ำกว่า 3 ล้านบาท  ซึ่งก็ได้รับความสนใจจากประชาชน และผู้ประสบภัยน้ำท่วม มาเลือกซื้อ

โดยเจ้าของร้านบอกว่า น้ำท่วมครั้งนี้เสียหายหนักมาก เสื้อผ้าในร้านจำนวนแสนกว่าตัว ถูกน้ำท่วมทั้งหมด เนื่องจากระดับน้ำขึ้นสูงเรื่อยๆ จนเก็บหนีน้ำไม่ไหว  ซึ่งหลังน้ำลดได้คัดสินค้าที่เสียหายหนักจากดินโคลนทิ้ง  ส่วนที่พอได้ หรือเลอะโคลนเพียงเล็กน้อย นำวางขายในราคาต่ำกว่าทุน เพียงตัวละ 10-50 เท่านั้น  ซึ่งต้นทุนบางตัวอย่างกางเกงยีนส์มีราคาต้นทุนสูงถึง 300-500 บาทก็มี และหากประเมินความเสียหายครั้งนี้ไม่น่าต่ำกว่า 3 ล้านบาท

ขณะที่ร้านอื่นๆ ต่างก็เร่งเก็บกวาด นำขยะเครื่องใช้ที่เสียหายจนใช้งานไม่ได้ออกร้าน และคัดแยกสินค้าที่ถูกน้ำท่วมมาทำความสะอาด เพื่อให้ร้านค้าสามารถกลับมาเปิดขายได้ลดความเสียหาย ขาดทุน

ทางด้าน นายชัยณรงค์ วงศ์ใหญ่ ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน  เร่งประชุมสั่งการฟื้นฟู 12 อำเภอ 67 ตำบล 443 หมู่บ้าน จากเหตุการณ์อุทกภัยโดยด่วน   พร้อมเน้นย้ำสิ่งสำคัญคือข้อมูล การให้ความสำคัญกับข้อมูล ต้องมีคนรับผิดชอบข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วน ซึ่งจะนำไปสู่การปฏิบัติ ในช่วงที่น้ำไหลหนักต้องเข้าไปช่วยชาวบ้านออกมาให้ปลอดภัยทันที ต้องมีเรือมีรถยกสูง ต้องประกอบอาหารทำอาหารแจกให้ผู้เดือดร้อนทั้ง 3 มื้อ ชาวบ้านต้องทำความสะอาดและซ่อมแซม ไม่มีเวลาหุงหาอาหาร

โดยสรุปภาพรวมความเสียหาย 12 อำเภอ 67 ตำบล 443 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 22,400 กว่าครัวเรือน 56,000 กว่าราย เสียชีวิต 3 ราย อำเภอทุ่งช้าง 1 ราย ท่าวังผา 2 ราย 1 รายในจำนวนนั้นเป็นพลเมืองดีไปช่วยผู้ประสบภัยและเสียชีวิต   ดำเนินการช่วยเหลือถุงยังชีพ 16,000 กว่าถุง นอกจากนั้นมีภาคเอกชนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นำไปมอบโดยตรง กลุ่มพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 3,000 ชุด มูลนิธิประชานุเคราะห์ สัมพันธ์ชุดสำนักนายก 6,500 ชุด กรมปภ. 3,000 ชุด

อย่างไรก็ตามขณะนี้จังหวัดน่าน ได้กลับมามีฝนตกหนักอีกครั้งในทุกอำเภอ โดยเฉพาะที่อำเภอเชียงกลาง ปริมาณฝนสะสม 12 ชั่วโมง 135.5 มิลลิเมตร  และอำเภอทุ่งช้าง , อ.บ่อเกลือ ,อ.สองแคว อ.เมืองน่าน  มีปริมาณฝนสะสม 12 ชั่วโมง เฉลี่ย 100.0 มิลลิเมตร   ซึ่งอาจเกิดน้ำป่าไหลหลาก และน้ำท่วมฉับพลันซ้ำอีกครั้งได้